บ้านปูนผสมไม้ หลังนี้เป็นของครอบครัวใหญ่ที่สมาชิกมีอายุตั้งแต่ 8 ขวบถึง 84 ปี จึงเกิดเป็นการผสมผสานให้บ้านโมเดิร์นหลังนี้มีกลิ่นอายความเป็นไทยแทรกอยู่ในทุกมุมของบ้าน
บ้านปูนผสมไม้ หลังนี้ยังมีเรื่องราวมากมายที่ถ่ายทอดผ่านข้าวของเครื่องใช้จากรุ่นสู่รุ่น โดยเจ้าของบ้านก็คือ คุณป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกหญิงแห่ง Case Studio ผู้ทำงานเพื่อชุมชนมาอย่างยาวนาน
คุณป่องบอกเล่าความเป็นมาของการสร้าง บ้านโมเดิร์นกลิ่นอายไทย นี้ว่า ทางครอบครัวได้ตกลงขายที่ดินของบ้านเก่าซึ่งอยู่อีกฟากของถนนไป โครงการสร้างหลังใหม่ขึ้นทดแทนจึงได้เริ่มขึ้นด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยอาศัยการเรียนรู้จากพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยทุกคนในบ้านหลังเก่ามาเป็นปัจจัยหลักในการออกแบบ ได้แก่ คุณแม่ของคุณป่องซึ่งอายุ 84 ปี และลูกอีก 3 คน ไล่มาตั้งแต่ตัวคุณป่องเอง คุณเอ็ด น้องชายคุณป่องกับภรรยาและลูกอีก 2 คน คนเล็กสุดอายุ 8 ขวบ และคุณอุ้ย น้องสาวซึ่งเป็นครูสอนดนตรี
“จากเดิมที่แต่ละคนจะมีบ้านเป็นหลังๆ คนละหลัง แยกกันไปในเนื้อที่กว่า 4 ไร่ แต่สุดท้ายพอหลายปีเข้า วิถีชีวิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าทุกคนกลับมารวมกันอยู่ที่บ้านแม่ มาอยู่บ้านแม่ มากินข้าวบ้านแม่ บ้านหลังอื่นๆใช้กันแค่ห้องเดียว แต่บ้านแม่กลับมีที่ไม่พอ”
คุณป่องอธิบายถึงที่มาของการปรับเปลี่ยนบ้านใหม่ที่กลายเป็นผลลัพธ์ที่ต่างจากบ้านหลังเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยในพื้นที่เดิมนั้นยังประกอบด้วย บ้านไม้โบราณที่สร้างโดยคุณตาของคุณป่องเองร่วมกับช่างจีนที่ว่าจ้างมา นอกจากนี้ยังมีออฟฟิศสถาปัตย์ของ Case Studio กับออฟฟิศรับเหมา Ed The Builder และบริษัททัวร์ของน้องชาย โรงเรียนสอนดนตรีของน้องสาว รวมทั้งต้องมีพื้นที่ห้องพักแขกของเพื่อนๆ ด้วย
“จริงๆ แล้วมีเพื่อนมาค้างที่บ้านตั้งแต่ ป.2” คุณป่องอธิบายลักษณะพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของครอบครัวนี้ “พอไปเรียนต่อ ก็ยังมีเพื่อนที่เมืองนอกตามมาค้างที่บ้านอีก เรียกว่าถ้ามีสมุดเซ็นชื่อแบบโรงแรม จะเห็นเลยว่าเคยมีเพื่อนจากทุกทวีปมาค้างที่บ้านหมดแล้ว และก็มีปาร์ตี้เยอะมาก (หัวเราะ) เลยเป็นอีกโจทย์ที่ต้องทำพื้นที่รองรับเพื่อนๆ ด้วย ทั้งเพื่อนที่มาอยู่ชั่วคราวและเพื่อนที่จะมาอยู่ถาวร ซึ่งแบบหลังก็จะแยกเป็นอาคารไว้ 2 ยูนิต เป็นเพื่อนญี่ปุ่นกับคนเช่าบ้านในบางส่วนของบ้านหลังเก่าที่อยู่กันมานานมากจนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว ฝากฝังกันได้ แม่ก็เลยบอกให้สร้างตรงนี้ด้วยนะ” ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์หลายข้อที่ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ให้ลงตัวในพื้นที่ 1 ไร่ที่มีลักษณะเป็นแนวยาว
เนื่องจากบ้านไม้โบราณอายุเกือยร้อยปีทรุดโทรมลงมาก ตัวเสาเดิมผุกร่อน และภายในดูทึม ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตสมัยใหม่แล้ว จึงกำหนดให้เป็นประธานของบ้าน และเป็นหอพระซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปอย่างเดียว เพื่อให้สมาชิกในบ้านยังรู้สึกอุ่นใจที่ได้เห็นบ้านไม้หลังนี้ มีการตีความพื้นที่ใต้ถุนสูงของเรือนไทยใหม่ เพื่อให้สอดรับกับการใช้ชีวิตและรูปแบบอาคารสไตล์โมเดิร์นที่สร้างขึ้นใหม่ โดยการยกเรือนไทยไปไว้บนชั้นสองของอาคารกลาง ส่วนชั้นล่างของอาคารกลางนี้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับสังสรรค์รวม ซึ่งมีทั้งโซฟารับแขก มุมดูโทรทัศน์ แพนทรี่ แกรนด์เปียโน และมุมนั่งของคุณยาย ด้านหนึ่งเปิดเป็นบานกระจกหันหน้าสู่สระว่ายน้ำตามแนวยาว อีกด้านซึ่งตรงกับที่จอดรถจะมีช่องหน้าต่างขนาดเล็ก และยาวเจาะเอาไว้ในตำแหน่งที่คุณแม่สามารถนั่งมองเห็นผู้คนที่เข้า-ออกบ้านได้ด้วย
ด้วยลักษณะที่ดินที่แคบยาวตามแนวเหนือใต้ ทำให้ต้องแบ่งอาคารออกเป็น 7 ส่วน โดยบางส่วนเปิดเป็นช่องโล่ง ทำหน้าที่เสมือนชานเชื่อมต่อ อาคารที่แบ่งซอยนี้ยังวางตำแหน่งให้ยักเยื้องกัน เพื่อดักลมให้เกิดการไหลเวียนตามช่องเปิดที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งชาน ช่องหน้าต่าง และช่องประตู แต่เนื่องจากพื้นที่รอบบ้านบางด้านไม่ได้มีวิวที่สวยงามนัก ผนังอาคารบางส่วนจึงเป็นผนังที่ค่อนข้างจะทึบ พื้นที่สีเขียวที่สร้างขึ้นใหม่จะเป็นสวนขนาดเล็กแทรกตัวอยู่ตามมุมที่เหลือบกันของอาคาร
ในด้านตะวันตกที่ติดกับทุ่งโล่ง ส่วนนี้เป็นที่ดินของญาติซึ่งยังไม่มีแผนงานจะก่อสร้างอะไร จึงกำหนดให้เป็นสระว่ายน้ำ ขนานไปกับระเบียงส่วนกลางที่ใช้เป็นระยะร่นเพื่อลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคารกลาง พื้นไม้ทั้งหมดเป็นไม้เก่าที่รื้อมาจากบ้านหลังเดิม เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างตู้ไม้สัก โต๊ะ เก้าอี้ หลายชุดก็ซ่อมแซ่มจากของเดิมทั้งสิ้น บางชิ้นยังเป็นงานไม้ที่คุณตาประกอบขึ้นเองอีกด้วย
ส่วนด้านในถัดจากโซนที่พักอาศัยของครอบครัวจะเป็นออฟฟิศ แบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่างๆ ดังนี้ ชั้นหนึ่งมีการเชื่อมกันด้วยชานขนาดใหญ่ที่เหมาะกับการใช้เป็นพื้นที่สังสรรค์กึ่งเอ๊าต์ดอร์ ติดกับออฟฟิศของ Case Studio ถัดเข้าไปอีกด้านเป็นห้องสอนเปียโน และห้องซ้อมดนตรีที่เปิดออกสู่สระว่ายน้ำ ซึ่งออกแบบให้เป็นเวทีไปในตัว เวลาที่มองเข้าไปจากริมสระ ชั้นสองเป็นบันไดแยกที่ไม่เกี่ยวกับส่วนพักอาศัย เป็นออฟฟิศบริษัททัวร์และบริษัทรับเหมา บางส่วนเป็นห้องพักแขกสำหรับอยู่อาศัยแบบชั่วคราว ด้านลึกสุดเป็นอาคารอีก 2 หลังที่มีรูปทรงใกล้เคียงกัน แต่ไม่ได้มีชานเชื่อมต่อกัน เป็นบ้านของผู้เช่าบ้านเดิมที่ย้ายมา และบ้านของเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่มีแผนจะมาอยู่เมืองไทยในระยะยาว
อีกองค์ประกอบที่โดดเด่นของกลุ่มอาคารนี้ก็คือ ระแนงไม้ที่เป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกใช้ในการเชื่อมความเก่ากับความใหม่เข้าไว้ด้วยกัน โดยระแนงไม้ที่ล้อมรอบบ้านไม้นั้นมีหน้าที่อยู่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ ปกป้องแดดและลมที่จะกระทบเข้าสู่บ้านไม้ อีกหน้าที่คือเป็นส่วนบังตาให้เกิดความกลมกลืนไปกับตัวสถาปัตยกรรมอื่นๆ โดยรอบที่มีความเป็นโมเดิร์น ตอบสนองกับความเป็นอยู่ของครอบครัวในตอนนี้
ในส่วนการจัดสรรพื้นที่ภายใน พบว่าห้องนอนส่วนใหญ่ของทุกคนมีขนาดไม่ใหญ่นัก โดยมีเหตุผลหลักก็คือต้องการให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิตกันในพื้นที่ส่วนกลางมากกว่าอยู่แต่ภายในห้องนอน อาทิ มีพื้นที่สำหรับให้เด็กๆ ทำการบ้านอยู่นอกห้องนอน บางห้องจะมีลานระเบียงโล่งขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นกันได้จากส่วนต่างๆ ของบ้าน ที่พิเศษอีกอย่างคือ ห้องคุณแม่ที่รองรับการใช้งานของผู้สูงอายุไว้อย่างครบถ้วน
“แม่ไม่ชอบนั่งรถเข็น ในห้องต้องมีเฟอร์นิเจอร์เก่าวางอยู่ในระยะให้ท่านเกาะ ห้องก็จะรกๆ หน่อยนะ” (หัวเราะ) คุณป่องอธิบายถึงห้องผู้สูงอายุ ซึ่งต้องปรับให้เหมาะกับผู้ที่ใช้งานจริง อาทิ การมีห้องโล่งเกินไปก็ไม่เหมาะกับคุณแม่ของคุณป่อง เพราะถ้าล้มแล้วจะไม่มีอะไรคว้าเพื่อพยุงตัว แต่ก็ต้องพอดีกับคอกพยุงตัวด้วย อ่างล้างหน้าก็มีการปรับระยะให้เตี้ยลง เพื่อให้เหมาะกับการนั่งทำธุระ โดยก๊อกน้ำเป็นแบบอัตโนมัติและไม่มีน้ำร้อน ฝักบัวเป็นระบบน้ำอุ่นที่ตั้งอุณหภูมิไว้พอเหมาะ พร้อมทำราวจับไว้เกือบตลอดแนวห้องด้านหนึ่งเพื่อช่วยในการเดิน ในห้องน้ำไม่มีขั้นบันได แต่แยกพื้นที่ส่วนเปียกและแห้งที่ปูพื้นกระเบื้องกับไม้เก่า ด้วยการทำให้พื้นลาดเอียงพอที่น้ำจะไหลลงได้สะดวก นอกจากนี้ในประตูทางเข้า-ออกของบ้านและส่วนสังสรรค์บริเวณสระว่ายน้ำก็ยังทำทางลาดเอียงไว้ใช้งานอีกด้วย
จากปัจจัยทั้งเรื่องผู้อยู่อาศัย3 รุ่นของครอบครัวหรุ่นรักวิทย์ เรื่องแขกที่มักมาเยี่ยนเยือน แขกที่มาพักอาศัยประจำ ออฟฟิศและโรงเรียนสอนดนตรี รวมไปถึงความผูกพันของบ้านไม้และเครื่องเรือนเดิมที่ตกทอดกันมา จึงนับได้ว่าบ้านใหญ่หลังนี้ไม่ได้กว้างขวางแต่เพียงแค่เนื้อที่เท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวความสุข ความเป็นมามากมายของทุกๆ คนในบ้านที่คุณป่องได้สัมผัสมาตลอดชีวิต กลั่นกรองมาเป็นบ้านที่เปิดประตูต้อนรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งนี้ด้วยประสบการณ์ของทุกๆ คนอย่างแท้จริง
เจ้าของ: คุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์ บ้านปูนผสมไม้
สถาปนิก: Case Studio โดยคุณปฐมา หรุ่นรักวิทย์
รับเหมาก่อสร้าง: Ed The Builder
เรื่อง: “สมัชชา วิราพร”
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, นันทิยา บุษบงค์
สไตล์: นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์