“ผมอยากได้โถงใหญ่ๆ แบบนี้แหละ เพราะทำให้บ้านดูพิเศษกว่าบ้านในเมืองทั่วไป พอเปิดโถงโล่งก็ต้องทำบันไดหลบไว้ซ้ายและขวา ก็ดีเลยได้แยกห้องนอนออกเป็นสองด้าน ด้านขวาเป็นห้องนอนส่วนตัวของผมและแขกผู้ใหญ่ที่มาพัก ส่วนด้านซ้ายเป็นห้องนอนของพวกวัยรุ่นหน่อย แต่ละห้องแต่งให้มีรายละเอียดแตกต่างกันทำให้คนมาพักก็สนุกที่จะเลือกห้องตามความชอบ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ห้องนอน แต่หลายคนชอบที่จะไปนอนรวมกันที่ห้องใต้หลังคาซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ผมเติมเข้าไปทีหลัง เพราะมีพื้นที่ใต้หลังคาเหลือเยอะมาก ทำให้ต้องสร้างห้องน้ำเพิ่มอีก ส่วนนี้ไม่ได้ตกแต่งอะไรมากแต่พอคนมานอนรวมกันมันได้ความสนุกเหมือนชีวิตสมัยเด็กๆ ดีนะ”
เพื่อให้บรรยากาศรวมของ บ้านอิฐ ไปในทิศทางเดียวกัน คุณหมอจึงได้เลือกสรรและจัดวางเฟอร์นิเจอร์ใช้งานตามห้องต่างๆ ในบ้านด้วยตัวเองทั้งหมด รวมถึงคิดไอเดียการทำวัสดุตกแต่งให้ดูเก่าและมีร่องรอยแบบธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผนังอิฐและผนังไม้สนสีหม่น พื้นปูนเปลือยสีด่างและมีร่องรอยแตกร้าว หรือกรอบประตูหน้าต่างเหล็กสีสนิม แม้แต่บันไดไม้หมอนก็ยังผ่านการทำสีให้ดูเก่าเช่นกัน
“ผมคิดเรื่ององค์ประกอบเล็กๆ ทั้งหมดนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างอารมณ์ให้บ้านดูโบราณเหมือนบ้านเก่าในยุโรปหรืออเมริกา ก็เลยต้องทดลองทำเทคนิคหลายอย่างกับวัสดุตกแต่ง จากที่อ่านในหนังสือผสมกับลองผิดลองถูกเอง อย่างการใช้สีย้อมกรดทำพื้นปูนเปลือย จะต้องให้มีสีด่างเป็นหย่อมๆ ดูเก่า แต่ช่างไม่กล้าทำเพราะกลัวพื้นเสีย ผมบอกไม่ต้องกลัว ผมเลยลงมือทำเอง หรือเวลาช่างทำงาน ผมก็บอกไม่ต้องปูผ้าใบนะ เดินเข้าเดินออกวางของได้สบาย เพราะผมต้องการร่องรอยบนพื้นแบบนั้นแหละ” (หัวเราะ)
วัสดุตกแต่งนั้นเป็นงานที่ทำให้ดูเก่า แต่เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดในบ้านนี้ล้วนเป็นของเก่าของโบราณที่คุณหมอซื้อสะสมมา ทั้งจากตลาดขายของเก่า อีเบย์ และหอบหิ้วมาเองจากต่างประเทศ บางชิ้นเห็นแล้วนึกภาพออกเลยว่าจะวางตรงไหนในบ้าน แต่บางชิ้นก็รอเวลาเพื่อหยิบจับมาผสมผสาน คุณหมอบอกว่าความยากอยู่ตรงที่จะผสมอย่างไรไม่ให้ดูหวานวินเทจเกินไป ไม่หรูหราคลาสสิกมากไป และไม่อินดัสเทรียลจนดิบเกินไป เพราะอยากผสมทั้งหมดให้กลมกล่อมที่สุด
“ผมรู้สึกสนุกมากที่ได้แต่งบ้าน สนุกตั้งแต่ตอนขับรถหาทำเลสวยๆ สนุกหาเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง และยังสนุกตอนเอาทุกอย่างมาจัดวางผสมผสานกัน อาจเป็นเพราะผมไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ก็เป็นได้” คุณหมอบอกอย่างนั้น แถมทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอีกว่ากำลังแต่งบ้านพักผ่อนหลังใหม่อีกหลัง จะเป็นบ้านสไตล์ไหน จังหวัดอะไร รอติดตามกันต่อไป
เจ้าของ-ตกแต่ง : นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ
สถาปนิก: เวิร์คแมนชิพ โดยคุณเดวิท แบงค์ และคุณจิราภรณ์ ชื่นศิริกุล
มัณฑนากร: คุณกฤษฎา แสงอรุณไพศาล
เรื่อง: “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ