เป็นเรื่องง่ายที่ใครสักคนจะรื้อของเก่า สถานที่เก่า แล้วแทนที่ด้วยของใหม่ สถานที่ใหม่ แต่เพราะ คุณพิม – พิม วรรณประภา และ คุณโอ – ธนัตถ์ สิงหสุวิช รู้ดีว่าร่องรอยทางประวัติศาสตร์และความทรงจําน้ันไม่สามารถทดแทน หรือซื้อหาใหม่ได้เหมือนสิ่งของ เธอจึงเลือกคืนชีวิตให้กับบ้านหลังเก่าอายุกว่า 70 ปีของคุณหลวงวิชัยนิตินาถ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง คุณปู่ของคุณพิมขึ้นอีกครั้ง โดยพยายามคงสภาพเดิมให้มากที่สุด
“หลังคุณปู่เสีย บ้านก็ถูกทิ้งร้างมานานหลายสิบปี เราจึงอยากคืนชีวิตให้ท่ีนี่ ดีกว่าเห็นบ้านโทรมลงไปเรื่อย ๆ การรื้อทําลายบ้านเก่าแล้วสร้างใหม่อาจเป็นอะไรที่ง่าย แต่คุณค่าและความทรงจําที่สะสมมาเป็นระยะเวลานานจะหายไป ก็เลยเลือกท่ีจะรักษาไว้ แม้การรีโนเวตโดยเก็บของเก่าไว้ จะมีข้อจํากัดและทํางานยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างที่ค่อนข้างเก่า เสาไม้บางต้นที่ผุพังไปตามเวลา แต่เราอยากคงสภาพเดิมไว้โดยเปลี่ยนเสาใหม่ให้เป็นเสาไม้เหมือนเดิม และนําไม้เนื้อแข็งมาทดแทนเสาบางจุดที่ไม่สามารถรับน้ำหนักโครงสร้างได้ตลอดจนงานระบบที่ต้องจัดการใหม่ทั้งหมด”
แต่เดิมที่ดินริมคลองผืนนี้ประกอบด้วยอาคารทั้งสิ้น 3 หลัง หลังแรกเป็นบ้านของคุณปู่ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะครึ่งอิฐครึ่งไม้ ถัดไปทางด้านหลังเป็นเรือนพักคนงาน โรงครัว และโรงรถ สุดท้ายคือเรือนไม้ริมคลองสําหรับญาติพี่น้องที่มาพักผ่อน ก่อนเริ่มการรีโนเวตคุณพิม เลือกรื้อเรือนไม้ทั้ง 2 หลังออก เพื่อนําไม้ที่ยังสภาพดีมาดีไซน์เป็นผนังใหม่แทนผนังเก่าที่รื้อออกไปเพราะผุพังจากปลวกและความชื้น เหลือไว้เพียงโครงสร้างหลัก
คุณพิมเล่าว่า การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของครอบครัวสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมพื้นที่รับแขกกับส่วนนั่งเล่นให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงเพิ่มดับเบิ้ลสเปซโดยรื้อห้องพระบริเวณชั้น 2 ออก นอกจากน้ีจากท่ีเคยรับประทาน อาหารนอกเรือนชานก็ออกแบบห้องรับประทานอาหารเข้ามา ไว้ในตัวบ้าน ควบคู่ไปกับการต่อเติมและเพิ่มพื้นที่ระเบียง บริเวณช้ันล่างเพื่อเปิดรับธรรมชาติรอบบ้าน ชวนให้ออกมานั่งเล่นชมสวนตามมุมต่างๆ เช่น ชานขนาดกะทัดรัดบริเวณทางเข้าตัวบ้าน ชานโปร่งโล่งที่ต่อเนื่องจากห้องนั่งเล่นและชานในร่มสําหรับใช้งานได้อเนกประสงค์ ไม่ว่าจะรับประทานอาหาร จัดปาร์ตี้บาร์บีคิว หรือนอนเอกเขนกก็ยังได้ ส่วนช้ัน 2 ท่ีเป็นส่วนของห้องนอน นอกจากรื้อห้องพระออก เธอยังได้ทําห้องน้ําเพิ่มเพื่อความสะดวกสบาย
ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้เล็กๆ น้อยๆ ในบ้านเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยังคงเป็นของเก่าของคุณปู่คุณย่า เพียงแต่นำมาลอกสีออก เผยให้เห็นพื้นผิวที่แท้จริงของเนื้อไม้สัก เข้ากับบรรยากาศเก่าๆ ของบ้าน โดยมีคุณโอรับหน้าที่ดูแลเรื่องดีไซน์และพูดคุยกับช่างไม้โดยตรง ผสมผสานไปกับของวินเทจจากฟลีมาร์เก็ตของเก่าในนิวยอร์กที่ทั้งคู่สะสมไว้เมื่อครั้งอาศัยอยู่ท่ีนั่นได้อย่างลงตัว
“เราเป็นคนชอบของเก่าอยู่แล้ว อย่างสมัยอยู่ที่นิวยอร์กก็จะชอบไปตามฟลีมาร์เก็ตของมือสอง พอทําบ้านหลังนี้เราก็เลือกบางส่วนมาใช้ด้วย เฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่ที่เห็นเป็นของเดิมของบ้าน แต่นําไปให้ช่างไม้แถวจรัญฯช่วยซ่อมและทําใหม่ โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิม เพียงแต่อาจต่อให้ยาวข้ึนหรือสั้นลงตามการใช้งานในปัจจุบัน ของเก่าหลายชิ้นในบ้านเป็นเฟอร์นิเจอร์ยุค 60 สีจัดจ้าน แต่พอลอกสีออกมากลับพบว่าข้างในเป็นไม้สักเนื้อเนียนสวยแบบที่เราไม่เคยรู้มาก่อน จึงอยากรักษาความงามตรงนี้ไว้ และคุมโทนเฟอร์นิเจอร์ให้ไปในทางเดียวกัน” คุณโอกล่าว
เป็นเวลากว่า 5 ปีที่คุณพิมและคุณโอช่วยกันคืนชีวิตชีวาให้บ้านเก่าของคุณปู่จนสำเร็จอีกครั้ง ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์หรือทุกพักร้อน บ้านจึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของลูกๆ วัยกำลังน่ารักของทั้งคู่ที่ปีนเก็บมะม่วงในสวน
“ทุกครั้งเมื่อมาที่นี่เรารู้สึกว่าชีวิตมันช้าลง เหมือนเราตัดขาดจากความวุ่นวาย ได้สังเกตสิ่งรอบตัวมากขึ้น แต่ด้วยสเปซที่ค่อนข้างเปิดรับธรรมชาติ จึงมีข้อดีข้อเสียตามสภาพ แต่เมื่อเราเลือกใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติก็ต้องยอมรับในส่ิงที่ธรรมชาติมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจก แมลง หรือนก ก็ต้องอยู่กับเขาให้ได้ (หัวเราะ)” คุณพิมเล่า
ก่อนคุณโอกล่าวทิ้งท้าย “วันแรกที่บ้านหลังนี้เสร็จแล้ว เราได้พาคุณพ่อมาเยี่ยมบ้านหลังนี้ มันคือความทรงจําที่ดีมากสําหรับผม เพราะเขาได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น เรายังถ่ายรูปวันนั้นเก็บไว้อยู่เลย คุณพ่อยิ้มแย้มมาก ความสุขเหล่านี้แหละที่ช่วยเติมเต็มให้คนรุ่นเรารู้สึกภูมิใจ และมีความสุขตามไปด้วย”
// ด้วยสเปซที่ค่อนข้างเปิดรับธรรมชาติ จึงมีข้อดีข้อเสียตามสภาพ
แต่เมื่อเราเลือกใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ //
—-
เจ้าของ-ออกแบบ: คุณพิม วรรณประภา และคุณธนัตถ์ สิงหสุวิช
เรื่อง : polarpoid
ภาพ : นันทิยา, จิระศักดิ์
สไตล์ : ประไพวดี
___________________________________________________