อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

เปิดประตู อาคาร อีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ที่น้อยคนจะรู้ว่าภายในมีอะไร

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)
อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

สถาปัตยกรรม กับ งานศิลปะ เหมือนกันตรงที่ ยิ่งนานวันยิ่งสะท้อนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนรอยทางเดินที่ให้คนรุ่นหลังได้มองย้อนกลับไป เรียนรู้ถึงความเป็นมา เรื่องราว และ ประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นก่อนได้พบประสบเจอ

เฉกเช่นเดียวกับ อาคาร อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสถาปัตยกรรมจากยุคฟื้นฟูเรอเนซองส์ (Renaissance revival architecture) ที่ยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบสำคัญ อาทิ มุข หน้าต่างโค้งกลม (Round Arch) ซุ้มประตูและหน้าต่างโค้ง อันเป็นหลักฐานบ่งบอกช่วงเวลาในการก่อสร้างอย่างครบถ้วน ถึงแม้กาลจะล่วงเลยมานานมากกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม นับตั้งแต่ อันนิบาเล ริก็อตติ (Annibale Rigotti) สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนได้ฝากฝังผลงานนี้เอาไว้บนผืนแผ่นดินไทย ในช่วงประมาณปี ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) โดยห้วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่สถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์ ซึ่งเคยรุ่งเรืองอย่างมากในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 เริ่มถูกปลุกให้ตื่นและฟื้นฟูกลับมานิยมอย่างแพร่หลายอีกครานั่นเอง

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อาคาร อีสต์ เอเชียติก เป็นอดีตอาคารสำนักงานของ The East Asiatic Company (Thailand) บริษัทด้านการค้าและการส่งออกระหว่างประเทศในระดับแนวหน้าที่ก่อตั้งขึ้นโดยกัปตัน ฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซ่น (Captain H N Andersen) นักเดินเรือชาวเดนมาร์กที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย (หรือ สยามในเวลานั้น) ตั้งแต่ยังหนุ่ม และ ได้เป็นกัปตันเรือหลวงทูลกระหม่อม ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะลาออกมาบริหารโรงแรมโอเรียนเต็ลซึ่งเป็นโรงแรมสุดหรูแห่งแรกของประเทศ และ สร้างอาคาร อีสต์ เอเชียติก ขึ้นในเวลาต่อมา

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อาคาร อีสต์ เอเชียติก เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่สะท้อนความเบ่งบานสุดขีดของบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าโดยใช้เรือเป็นพาหะนะในช่วงเวลานั้น และ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นปี พ.ศ.2527 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยมีการปรับปรุงและซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2544

ตัวอาคาร ตั้งอยู่ระหว่างโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ เยื้องกับโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ หากสอบถามผู้คนในละแวกนี้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนและคณาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์น่าจะรู้จักดี เพราะประตูเข้า-ออกของโรงเรียนต้องลอดผ่านรอยต่อระหว่างอาคารสองหลังทุกเช้าเย็นเป็นประจำ หรือหากใครสังเกตเวลามีโอกาสนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาแล่นผ่านย่านบางรัก อาจมักคุ้นหรือตั้งคำถามกับอาคารเก่าแก่สีขาวโพลนหลังนี้ว่าแท้จริงแล้วคืออาคารอะไรกันแน่ โรงแรม สำนักงาน หรือเป็นเพียงตึกร้างเก่าๆที่ถูกปล่อยทิ้งว่างไว้ หรือ อย่างไร?

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

เพื่อให้คลายความสงสัย ทีมงาน baanlaesuan.com ได้ลงพื้นที่ เปิดประตูเข้าไปในอาคารที่แทบไม่เคยจะมีใครได้รับทราบถึงเรื่องราวมนต์ขลังของประวัติศาสตร์ที่อบอวลอยู่ภายในอาคารนี้

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลอาคาร เราทราบมาว่า อาคาร อีสต์ เอเชียติก นั้นไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าไปใช้พื้นที่โดยพละการ นอกเหนือจากการปล่อยเช่าเพื่อการถ่ายทำโฆษณาหรืองานจัดเลี้ยงเป็นบางครั้งคราวเท่านั้น แต่ในเดือนตุลาคม 2561 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นฤกษ์งามยามดีครั้งแรก ที่สาธารณชนจะได้เข้ามาชมความงดงามที่อยู่ภายในอาคารนี้ เนื่องจากว่า อาคารอีสต์ เอเชียติก เป็น 1 ใน 20 สถานที่จัดงานของเทศกาล ศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีความงดงามซ่อนอยู่ภายใน กับ ความสุนทรียะ จากผลงานศิลปะของศิลปินระดับโลกจะรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างประสบการณ์การชมงานศิลป์สุดพิเศษ อย่างที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่นใด

ล่าสุดที่ทีมงานเราลงพื้นที่ พบว่ากระบวนการตระเตรียมพื้นที่ภายในอาคาร อีสต์ เอเชียติก รวมถึงอาคาร OS Building ที่เชื่อมต่ออยู่ด้านหลัง และพื้นที่ข้างเคียงรอบนอก มีความคืบหน้าไปมาก ทั้งการกำหนดจุดติดตั้งผลงานและสร้างผนังเบาขึ้นมาเพื่อกำหนดขอบเขตเป็นแกลเลอรี่แสดงงานของเหล่าศิลปิน

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

ตึกอีสต์ เอเชียติก (East Asiatic) หรือ  The East Asiatic Company (Thailand) สถานที่จัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

ทว่าสิ่งที่ดึงดูดความสนใจทีมงานเราเป็นพิเศษนั้น คือความงดงามที่ไม่เที่ยงแท้ ไม่สมบูรณ์แบบ อันเป็นเสน่ห์ที่อาคารสร้างใหม่ไม่สามารถเทียบเคียงได้ ภายในอาคารอีสต์ เอเชียติก มีการปรับปรุงใหม่ด้วยซุ้มประตูโค้งจากผนังเบาตลอดแนวผนังชั้น 2 โดยยังคงเปลือยโครงสร้างของคานไม้พาดยาวบนหัวเสาที่รัดด้วยน๊อตและสกรู กอปรกับปล่อยให้เห็นร่องรอยของคราบไครตะไคร่น้ำที่เปรอะเปื้อนผิวผนัง คละเคล้าเศษซากของไม้อัดไม้ท่อนที่กองเกลื่อนกลาด อันเป็นความล่มสลายหลังจากการต่อเติมเพื่อแบ่งขอบเขตพื้นที่ให้อดีตสำนักงานที่ถูกทิ้งร้าง สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมที่ศิลปินทุกท่านต่างลงความเห็นว่าไม่อยากให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร พวกเขาอยากจะมาแสดงผลงานศิลปะในสถานที่แห่งนี้… อย่างที่มันเป็น

รอยแตกของผนังปูน เนื้ออิฐที่เผยสีสันและตัวตน ต้นไม้ต้นเล็กต้นน้อยเติบโตตามแนวผนังอาคารทั้งภายนอกและภายในบางส่วนที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา ล้วนก่อกำเนิดขึ้นเองตามกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เนื่องจากการเสื่อมสภาพตามอายุขัยของวัสดุก่อสร้างอย่างอิฐมอญ ซึ่งมีส่วนผสมของดินเหนียว แกลบ หรือขี้เถ้า อันเป็นแหล่งสะสมสารอาหารหลักของพืชอย่าง NPK หรือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพรแทสเซียม (K) ผสมรวมกับความชื้นและแสงแดดที่หล่อเลี้ยงพอเหมาะ ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ต้นไม้บางชนิดสามารถเติบโตและยึดเกราะได้โดยไม่ต้องอาศัยดิน

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

ความงดงามที่ไม่เที่ยงแท้ดังกล่าว ชวนให้เรานึกถึงแนวคิด วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) ริ้วรอยตำหนิอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ความงดงามที่สะท้อนปรัชญาทางพุทธศาสนาแบบเซน (Zen) ที่ยิ่งตอกย้ำให้เรามองเห็นว่าสถาปัตยกรรมยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่า ยิ่งเหมาะสำหรับศิลปะที่ต้องการความงดงามที่ไม่สมบูรณ์แบบ เป็นที่น่าตื่นเต้นว่าศิลปินในเทศกาล บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ แต่ละคนจะมีวิธีสื่อสารหรือนำเสนอการแสดงอย่างไร ให้สอดรับกันอย่างไรกับบริบทของอาคารที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์เช่นนี้

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

” แค่ชั้นวางของธรรมดา
แขวนอยู่ที่มุมห้อง
ทำจากไม้ไผ่ธรรมดา
ทั้งหมดที่เราต้องการในโลกนี้
คือสิ่งที่ธรรมดาเหล่านี้ “
 เซน โนะ ริคิว ปรมาจารย์การชงชาของญี่ปุ่น สมัยศตวรรษที่ 16

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

อีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

ท้ายนี้เราขอฝาก ตัวอย่างไลน์อัพศิลปินทั้งไทยและเทศที่จะมาแสดงผลงานที่อาคาร อีสต์ เอเชียติก รวมถึงอาคาร OS Building ในเทศกาลครั้งนี้ อาทิ อี บุล (Lee Bul) ศิลปินหญิงชาวเกาหลีที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกด้านศิลปะการแสดง งานประติมากรรม และศิลปะจัดวาง, เอ็มกรีน แอนด์ แดรกเซท (Elmgreen & Dragset) คู่หูศิลปินร่วมสมัยชาวเดนมาร์กและนอร์เวย์ที่ไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะโดยตรง แต่เป็นเจ้าของผลงานศิลปะจัดวาง ‘Van Gogh’s Ear’ อันโด่งดัง เต้ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินหนุ่มรุ่นใหม่ผู้เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวอยู่ตลอด แล้วนำกลับมาสร้างสรรค์ผลงานในหลากหลายแขนงทั้งประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และสิ่งทอ ซึ่งเผยมาแล้วว่าจะมาแสดงผลงานห้องแล็ปแห่งอนาคตพร้อมหมู่มวลประติมากรรมสัตว์ที่หากินตามลุ่มแม่น้ำ และ แพรว กวิตา วัฒนะชยังกูร อีกหนึ่งศิลปินหญิงน่าจับตามอง ผู้ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นตัวแทนของวัตถุแสดงผ่านรูปแบบวิดีโอ อาร์ต ซึ่งจะมาแสดงสดครั้งแรกที่นี่ด้วยเช่นกัน

เมื่อศิลปะเข้ามาเคาะประตูอาคารอีสต์ เอเชียติก ให้เปิดแง้มสู่สาธารณะในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 จะมีผลลัพธ์เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อถึงงานวันจริง เราเองก็คงไม่พลาดมาชมและเก็บภาพกลับมาเล่าให้อ่านอย่างแน่นอน

6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

อีสต์ เอเชียติก East Asiatic บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 Bangkok Art Biennale 2018


เรื่อง นวภัทร
ภาพ ศุภกร ศรีสกุล