หวง หย่ง ผิง ศิลปินในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

หวง หย่ง ผิง ปรมาจารย์ แห่ง ความขบถ ย้อนแย้ง และ การพลัดถิ่น ใน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

หวง หย่ง ผิง ศิลปินในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018
หวง หย่ง ผิง ศิลปินในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

หวง หย่ง ผิง สุดยอด ปรมาจารย์ ศิลปินหัวก้าวหน้าของจีนผู้ก่อตั้งกลุ่ม “เซียะเหมิน ดาดา”  (Xiamen Dada) ซึ่งเกิดจากการผสมผสานแนวคิดศิลปะแบบบดาดา (Dadaism) ของโลกตะวันตก เข้ากับแนวคิด นิกายเซน ของโลกตะวันออก โดย หวง หย่ง ผิง จัดได้ว่าเป็น1 ใน 6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติสุดยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562

วันนี้ baanlaesuan.com จะพาทุกท่านไปรู้จักกับเรื่องราวการเดินทางสายศิลปะของศิลปินวัย 64 ปีท่านนี้ พร้อมกับ ผลงานที่จะนำมาแสดงในบางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ซึ่งต้องบอกว่าหากท่านได้เข้าใจเรื่องราวของแล้ว เมื่อใดที่ได้ยืนมองงานศิลปะของเขา ท่านจะ อิ่มเอม และ สุขใจกับผลงานของศิลปินระดับโลกผู้นี้มากยิ่งขึ้น

หวง หย่ง ผิง เกิดที่ เมืองเซียะเหมิน ประเทศจีน ในปี 1954 และ ได้เริ่มสร้างชื่อเสียงในวงการศิลปะ ด้วยเป็นหนึ่งในศิลปะหัวก้าวหน้าที่สร้างงานตามสมัยนิยม ไม่ยึดติดกับขนบทำเนียมของศิลปะจีนแบบดั้งเดิม

โดยในปี 1986 เขากับเพื่อนศิลปินที่มีอุดมการณ์เดียวกันอย่างเช่น  Zha Lixiong, Liu Yiling, Lin Chun และ Jiao Yaoming ได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม “เซียะเหมิน ดาดา” (Xiamen Dada) ที่ได้รับอิทธิมาจากแนวคิดการสร้างงานแบบ Dadaism จากศิลปินฝั่งตะวันตก(โดยเฉพาะ Marcel Duchamp ) มาผสมกับแนวคิดของ ปรัชญานิกายเซน ซึ่งทำให้ผลลัพท์ที่ได้ออกมานั้นเป็นผลงานศิลปะที่ย้อนแย้ง และ นำเสนอในรูปแบบที่แปลกสุดขั้วใน(สำหรับสมัยนั้น)ในแบบฉบับของ Dadaism แต่ก็ยังแฝงความหมายสะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิญญาณ และ สภาวะธรรมชาติของมนุษย์ในแบบฉบับของแนวคิดแบบเซน

ผลงานของ หวง หย่ง ผิง
ผลงาน Two-Minute Wash Cycle ของ หวง หย่ง ผิง The History of Chinese Painting and A Concise History of Modern Painting Washed in a Washing Machine for Two Minutes, 1987 (reconstructed 1993); Image Courtesy to  collection Walker Art Center, Minneapolis, T. B. Walker Acquisition Fund, 2001; photo: Kristopher McKay, © Solomon R. Guggenheim Foundation, 2017

จนกระทั้งมาถึงปี 1989 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมินในประเทศจีน ขณะนั้น หวง หย่ง ผิง อายุ 35 ปีและได้ติดสินใจไปเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ Magiciens de la Terre (แปลชื่องานได้ว่า นักมายากลของโลก) ที่ Pompidou Centre ในเมืองปารีสฝรั่งเศส ซึ่งในงานนี้เขาได้แสดงผลงาน‘Two-Minute Wash Cycle’ โดย นำหนังสือ History of Chinese Painting (ประวัติศาสตร์จิตรกรรมจีน) ของ Wang Bomin และ หนังสือ A Concise History of Modern Painting (ประวัติศาสตร์พอสังเขปของจิตรกรรมสมัยใหม่) ของ Sir Herbert Read อย่างละหนึ่งเล่ม ไปปั่นรวมกันในเครื่องซักผ้าเป็นเวลา 2 นาที ซึ่งสิ่งที่ออกมาจากเครื่องสักผ้านั้น หากมองเผินๆ หรือ ไม่ทราบที่มาที่ไปอาจจะนึกว่าเป็นแค่กองเศษกระดาษ แต่สำหรับ หวง หย่ง ผิง แล้ว สิ่งนี้คือตัวแทนของการหลอมรวมทางวัฒนธรรม ซึ่งหากจะให้ชี้ชัดๆ ลงไปก็คือภาพสะท้อนในใจของเขาที่รู้สึกว่า วงการศิลปะสมัยใหม่ของจีนควรเปิดรับแนวคิดการสร้างงานแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาได้ตัดสินที่จะสร้างงานต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ได้เปลี่ยนชีวิต และ วิถีคิดในการทำงานของเขาไปตลอดกาล

ด้วยแนวคิดแบบศิลปะขบถ ประกอบกับการต่อต้านแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม งานของ หวง หย่ง ผิง เริ่มท้าทาย และ ใช้เทคนิคการสร้างงานที่เปิดกว้าง และ แหวกแนวมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ในปี 1993 เขาได้สร้างผลงานที่สะเทือนไปทั้งวงการศิลปะกับผลงาน ‘Theater of the World’ ที่เสียดสีสังคมได้อย่างเจ็บปวด โดยเขาได้ออกแบบโครงไม้ที่รูปทรงคล้ายกับสนามต่อสู้โบราณ โดยภายนั้นมี แมลง และ สัตว์เลื้อยคลาน ประเภทต่างๆอยู่ร่วมกัน ซึ่งโดยสัญชาตญาณแล้ว ต่างฝ่ายก็จะต่อสํู้กัน และ แย่งกินสิ่งมีชีวิตที่เล็กกว่า ผลงานนี้ได้ถูกเลือกให้มาจัดแสดงในนิทรรศการ  “Art and China after 1989″  ที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Solomon R. Guggenheim Museum ที่ New York ที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไปเมื่อต้นปี 2018  ซึ่งก่อนที่จะเริ่มแสดงผลงานไม่กี่เดือนนั้น เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ดราม่า อย่างหนักทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งสุดท้ายแล้วทาง พิพิธภัณฑ์ ชื่อดังของ New York ต้องออกมาระงับการแสดงผลงานชิ้นนี้ไปในที่สุด

ผลงานของ หวง หย่ง ผิง
ผลงาน Theater of the World (1993) Image courtesy of the artist © Huang Yong Ping.

หลายคนคงสงสัยว่าศิลปินต้องการสื่ออะไรจากผลงานที่แสนน่ากลัวและหดหู่นี้ หวง หย่ง ผิง ต้องการจำลองโลกมนุษย์ ทำให้ผู้ชมเห็นกับตาตนเองว่า โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ คนที่มีพลังอำนาจมากกว่ามักจะค่อยกัดกินคนที่มีอำนาจด้อยกว่าอย่างไรปราณี (ซึ่งมันก็น่าหดหู่จริงๆ)

นอกจากจะสร้างงานด้วยแนวคิดชนิดที่ “คาดไม่ถึง” ตามสไตล์ของคนลัทธิ Dadaism  แล้ว ผลงานของ หวง หย่ง ผิง มักมีขนาดใหญ่(มากๆ) ซึ่งตัวของเขาเองไม่ได้สนใจเลยว่า มันจะเหมาะกับการประมูลไปตั้งในสถานที่หรูหรา หรือ เอาไปตกแต่งสถานที่แบบเก๋ๆ หรือไม่ อย่างเช่นผลงาน ‘Empires’ งานประติมากรรมโครงสร้างอลูมิเนียมที่มีความยาว 250 เมตร และ มีน้ำหนักถึง 130 ตัน ที่ตกแต่งพื้นที่แสดงงานรอบๆด้วย ตู้คอนเทนเนอร์สีสันสดใสจำนวนมากหลายร้อยตู้ พร้อมหมวกจำลองขนาดใหญ่กว่า 5 เมตร ที่ออกแบบจากหมวกที่จักรพรรดิ นโปเลียน แห่งฝรั่งเศสได้ใส่ไปสู้รบในศึกสงครามที่ไอเลา (Battle of Eylau) ในปี 1807  โดยผลงานชิ้นนี้สื่อถึงความย้อนแย้งที่ นโปเลียนได้ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ แต่ความสำเร็จครั้งสำคัญนี้ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียกำลังพลไปถึง 15,000 คน ซึ่งเรามี VDO เบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้ โดย คุณ Kamel Mennour ผู้ทำหน้าที่ประสานงาน และ ดูแลการขนส่งของผลงานชิ้นนี้ให้ หวง หย่ง ผิง ในงาน Monumenta 2016 ที่ Grand Palais กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

สำหรับงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่จะกำลังมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้ ท่านสามารถไปชมผลงานของ  หวง หย่ง ผิง ได้ที่สถานที่ดังต่อไปนี้

1.ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

Huang-Yong-Ping

งานประติมากรรมไม้จัดวาง ‘Dragon Boat’ เรือมังกรขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาว ถึง 16 เมตร สูง 4.2 เมตร และ กว้าง 3.1 เมตร ได้จะข้ามน้ำข้ามทะเลจากมลฑลฝูเจี้ยน พร้อมที่จะจัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยเรือหัวมังกรขนาดใหญ่ลำนี้ได้ขนสัมภาระมามากมาย เพื่อนำเสนอแนวคิด และ  สัญลักษณ์แสดงอํานาจของประเทศ จีน การค้าขาย รวมไปถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนพลัดถื่น (Diaspora) ซึ่งตัวของ หวง หย่ง ผิง นั้นชื่นชอบการสร้างผลงานสะท้อนแนวคิดดังกล่าว เพื่อเป็นการเล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเอง ที่เป็นคนจาก เซียะเหมิน ประเทศจีน แต่ชีวิตก็ได้พาเขาพลัดถิ่นฐานไปทำงานศิลปะอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคนจีน หรือ บรรพบุรุษจีนของชาวไทยหลายๆท่าน ที่ได้เดินทางข้ามทะเลจากบ้านเกิดมาทำมาหากินในประเทศไทย

2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) บริเวณ สวนมิสกวัน

ผลงานของ หวง หย่ง ผิงในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

ท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความงามของภาพเขียนบนเพดาน ฝาผนัง และ ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบจีนย้อนยุค ณ เก๋งจีนในบริเวณสวนมิสกวัน วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ที่แห่งนี้ท่านจะได้พบกับ ‘Zuo You He Che’  ประติมากรรมสัตว์คู่จากจินตนาการของ ศิลปิน เซียะเหมินดาดา ท่านนี้ หากพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกของสัตว์ทั้งสองจะเห็นว่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนเท่านั้นคือ หัว ขา และ เท้า

ผลงานของ หวง หย่ง ผิง ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

โดยตัวทางซ้ายนั้นมีลักษณะหัวคล้ายกวางมีเขายื่นไปทางด้านหลัง ส่วนตัวทางขวานั้นหัวคล้ายกับสุนัขป่าที่มีแผงคอ ทั้งสองสูงเกือบ 3 เมตร (ตัวขวาสูงกว่านิดหน่อยประมาณ 20 เซนติเมตร)พร้อมกับกำลังคาบอะไรบางอย่างคล้ายม้วนกระดาษ… เพื่อให้คลายความสงสัยว่าเป็นคัมภีร์ หรือ ตำราสุดยอดเคล็ดวิชา หรือ อะไรกันแน่ เราได้ไปถามผู้รู้ ท่าน ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่

“หวงหย่งผิง ได้อธิบายให้ผมฟังว่า สิ่งที่ทั้งสองตัวคาบอยู่นั้น เป็นเหมือนคัมภีร์ คำสอน หรือ ตำราอะไรบางอย่าง ซึ่งตัวเขาเองก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร เพราะว่างานชิ้นนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ว่า สัตว์สองตัวนี้ได้คาบอะไรบางอย่างจากจีนมาหาสยาม ซึ่งเป็นเสมือนการถ่ายเททางวัฒนธรรม และ ปรัชญาต่างๆจากจีนมาสู่สยามที่เกิดขึ้นตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้ว และ ตัวของเขาเองก็ทำหน้าที่ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ในจินตนาการสองตัวนี้ ที่ได้นำเรื่องราว และ การเดินทางของตัวเองที่เป็นคนจีนแต่พลัดถิ่นไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เขานำเรื่องราวเหล่านี้มาสู่ประเทศไทย ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้” ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ อธิบาย

โดย baanlaesuan.com ได้เข้าไปเก็บภาพบรรยากาศของผลงาน ‘Zuo You He Che’ ในช่วงเวลาตะวันใกล้จะตกดิน ซึ่งทำให้ผลงานชิ้นนี้ยิ่งมีเสน่ห์ชวนให้น่าค้นหาไปอีกแบบ เราอยากให้ทุกท่านได้ไปชมกันเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวและความน่าสนใจของผลงาน ปรมาจารย์ หวงหย่งผิง นั้นเป็นเพียงหนึ่งในความสุดยอดของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018  ซึ่งทุกท่านสามารถเตรียมตัวไปชมผลงานของศิลปินระดับโลกเช่นนี้ได้ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ ณ สถานที่สำคัญ 20 แห่งทั่วกรุงเทพ

 

เรื่อง และ วิดิโอ : สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ภาพ : เมธี สมานทอง

ภาพ ห่วง หย่ง ผิง (ด้านบนสุด): photo courtesy of the artist


6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

มารีนา อบราโมวิช กับ มนตราแห่งศิลปะที่ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดมอง

เปิดประตู อาคาร อีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ที่น้อยคนจะรู้ว่าภายในมีอะไร


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x