ไทปิดา มุทิตาภรณ์ CREATIVE แห่ง NGO ผู้ดึงศักยภาพข้าวไทยมาสู่ข้าวเม่า ขนมทำเงินของชาวนางรอง
ด้วยประสบการณ์การทำงานกับองค์กรนานาชาติด้าน NGO ของไทปิดา มุทิตาภรณ์ ทำให้เธอต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ชีวิตของคนจากหลากหลายถิ่นฐาน การเดินทางทำเธอพบว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรประเทศเพื่อนบ้านนั้นยากลำบากมากเมื่อเทียบกับชาวนาไทยที่อุดมไปด้วยทรัพยากรต่าง ๆ ในการทำเกษตรกรรรม จนบางครั้งก็ทำให้ละเลยการนำวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราจะเศร้าใจมากถ้าเห็นเกษตรกรปลูกอะไรที่ตามกระแสโดยไม่ได้รู้ว่าจริง ๆ ว่าฉันควรปลูกอะไรเพื่อที่ประโยชน์ที่ยั่งยืน บางทีของเหล่านั้นมันก็ล้นตลาด ทางออกของเขาก็คือการโยนทิ้ง ซึ่งเราจะรับไม่ได้เลย อยากจะร้องกรี๊ด” ไทปิดาเล่าอย่างมีอารมณ์ และปัญหานี้คือหน้าที่ของเธอที่ต้องเข้าไปสร้างมุมมองใหม่ให้แก่เกษตรกรเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่ Zero waste
“มูลค่าจะตามมา เมื่อรู้คุณค่าของตัวเอง” ไทปิดา มุทิตาภรณ์
“เราอยากให้เขามองตัวเอง สร้างคุณค่าจากสิ่งที่ตัวเองมีให้ได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยการสร้างความแตกต่าง เราไม่ได้เรียนเกษตรมา เราจบศิลปะ คำแนะนำของเราอาจจะไม่ได้ในแง่วิชาการทางการเกษตร แต่เราจะได้เรื่อง Creative Thinking และจะสามารถหยิบยกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีสิ่งนี้อยู่แล้ว เรามาทำสิ่งนั้น สิ่งนี้กันไหม” เธอเรียกเกษตรกรที่เข้าไปทำงานด้วยอย่างให้เกียรติ “เช่น มีผลไม้เยอะแล้ว มาทำแยมกันดีกว่า แต่แยมของเราต้องมีรสชาติไม่เหมือนคนอื่น เราอาจจะมี 3 รสชาติที่ปรุงอยู่ในแยมตัวเดียวกัน ก็จะทำให้แยมเราขายได้มากกว่าของคนอื่น” NGO อธิบายลักษะงานของเธอ
ข้าวเม่า คือหนึ่งในผลผลิตของการนำความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบในประเทศไทย ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ผสานเข้ากับ Creative Thinking ที่ไทปิดากำลังพูดถึง
“คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่าสมัยเด็ก ๆ เขากินข้าวเม่ากันเป็นขนมเลย แล้วมันไม่มีคุณค่า ไม่มีมูลค่าอะไรเลย เราก็ตาโตมาก บอกโอ้โห…ไม่ได้นะคะคุณแม่ ข้าวเม่าคุณแม่อร่อยมาก อยู่เมืองกรุงก็ไม่มีโอกาสได้กิน เลยมานั่งคิดกันว่าถ้าเราจะให้คนทั้งหมู่บ้านทำข้าวเม่ามันจะเป็นยังไง คุณแม่ก็เริ่มตื่นเต้นเพราะใช้เวลาน้อยกว่าการปลูกข้าวปกติแถมได้ราคาที่แพงกว่า และยังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่กำลังจะหายสาบสูญ คนเฒ่าคนแก่ที่นี่จะเป็นคนคัดเลือกข้าวเองเราก็จะได้ข้าวเม่าที่หอมสะอาด”
เมื่อมีวัตถุดิบที่ดีแล้ววิธีการสร้างสรรค์เมนูที่ทำจากข้าวเม่าจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ไทปิดาจึงขอคำแนะนำจากผู้ช่วยศาสดาจารย์ทอรุ้ง จรุงกิจอนันต์ ให้ช่วยคิดค้นสูตรการทำขนมด้วยเมนูข้าวเม่า จนออกมาเป็น ‘ข้าวเม่าคลุก’ และ ‘รางข้าวเม่าน้ำกะทิ’ นอกจากนั้นยังมีนักธุรกิจที่มองเห็นประโยชน์ของข้าวเม่า และต้องการนำเสนอข้าวเม่าให้ร่วมสมัยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น จึงเป็นจุดกำเนิดของขนมขบเคี้ยวที่ชื่อว่า ‘Rice Pok Pok’ ข้าวเม่าทอดที่นำไปคลุกกับรสชาติต่าง ๆ ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเช่น รสกระเทียมพริกไทย ช็อกโกแล็ต นมฮอกไกโด เป็นต้น
ทั้ง 2 เมนูขนมไทยโบราณ ‘ข้าวเม่าคลุก’ และ ‘รางข้าวเม่าน้ำกะทิ’ ขนมไทยร่วมสมัยอย่าง ‘Rice Pok Pok’ เตรียมเสิร์ฟให้กับผู้ที่สนใจในกิจกรรม ‘The art of Gastronomy’ จัดขึ้นภายในบูธ room x BAB Art & Design Cafe ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 ดำเนินการปรุงและบอกเล่าเรื่องราวของข้าวเม่าไทยโดยไทปิดา มุทิตาภรณ์ งานนี้นอกจากจะได้ดูวิธีการทำและได้ชิมรสชาติความหอมอร่อยแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ เราอาจจะได้ชิมข้าวเม่าจาก ‘ช้อน PLA’ ช้อนพลาสติกย่อยสลายได้ 100 % ที่ทำจากข้าว นวัตกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติข้าวล้นตลาดในปี 2557 อีกด้วย
สัมผัสกับประสบการณ์การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และทดลองชิมอาหารในมิติแปลกใหม่ ซึ่งเรามั่นใจว่าคุณไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อนเเน่นอน เริ่มตั้งแต่เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร ศิลปะการรับรสชาติ ไปจนถึงการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษในระหว่างนั่งรับประทานอาหารผ่าน 6 โปรแกรมในกิจกรรม ‘The art of gastronomy’ โดย Lucky Planet ที่งาน บ้านและสวนแฟร์ 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2561 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com/fair
เรื่อง จรัลพร พึ่งโพธิ์
ภาพ กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ขอขอบคุณ ช่างชุ่ย (ถนนสิรินธร) ที่เอื้อเฟื้อสถานที่