วันที่ 23 ตุลาคม 2561
สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียเตอร์ สยามพารากอน
ท่ามกลางคนจำนวนมากที่เข้าคิวต่อแถวเพื่อเตรียมเข้าไปในโรงภาพยนตร์ ผมเป็นคนหนึ่งที่กำลังถือบัตรเตรียมให้เจ้าหน้าที่ตรวจ บรรยากาศในขณะนั้นทุกคนต่างตื่นเต้นที่จะได้เข้าไปร่วมเสวนาและพบปะตัวจริงเสียงจริงของ มารีนา อบราโมวิช ศิลปินที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานที่ยังมีชีวิต ผู้บุกเบิกศิลปะการแสดงสดร่วมสมัย และปัจจุบันก็ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในโลกแห่งศิลปะ
เมื่อเข้ามาภายในโรงภาพยนตร์ เสียงเพลง Clair de Lune ของ Claude Debussy เปิดคลอระหว่างที่หน้าจอภาพยนตร์ตรงกลางห้องขึ้นภาพบรรดาผู้ที่ได้ไปนั่งมองตากับศิลปินท่านนี้ในนิทรรศการ The Artist is Preset ซึ่งจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Museum of Modern Art มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2010 ผมกวาดสายตามองไปรอบๆ เห็นผู้มาชมมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเริ่มทยอยเข้ามาตามบัตรที่นั่ง ระหว่างนั้นโสตประสาทของผมสื่อสารกับความคิดในสมองว่า การได้ฟังเพลงของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อวงการเพลงคลาสสิกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ระหว่างที่กำลังจะได้สนทนากับ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญการแสดงสดที่มีอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งในโลกแห่งศิลปะของศตวรรษนี้ เป็นช่วงเวลาที่ช่างเหนือจริงและไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกทีเมื่อไหร่…ในประเทศไทย
แสงไฟรอบตัวค่อยๆมืดลง ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 เดินขึ้นมากล่าวเปิดงานบนเวที โดยมีใจความว่า วันเปิดงานนี้ตรงกับวันอังคารที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราช ซึ่งเป็นวันหยุดและฝนก็ตกหนัก แต่ทุกที่นั่งในที่นี้นั้นเต็มจนต้องจัดเก้าอี้เสริม หากย้อนไปเมื่อ 121 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก และได้ทอดพระเนตรงานเทศกาลเวนิส เบียนนาเล่ ต่อมาจึงได้เชิญศิลปินจากอิตาลีมาสร้างงานศิลปะที่กรุงเทพฯ ก็ประจวบกับเมื่อปี่ที่แล้วทางมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้ไปที่เวนิส เพื่อประกาศเชื้อเชิญศิลปินให้มาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ ณ ขณะนี้ ตามสถานที่สำคัญ 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ – 3 กุมภาพันธ์ 2562) ซึ่งคนแรกที่ตอบรับคำเชิญนี้ก็คือ มารีนา อบราโมวิช เธอเป็นศิลปินที่สร้างผลงานไว้มากมายตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา และเป็นศิลปินที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะทุกคนต้องศึกษา นอกจากนี้มารีนายังได้รับรางวัลมากมายอย่างเช่น รางวัลสิงโตทองคำ ซึ่งการมาเยือนเมืองไทยในครั้งนี้ นอกจากจะนำผลงานมาให้คนไทยได้สัมผัสกันแล้ว ยังได้นำการแสดงของศิลปินจากสถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI) ของเธอ มาให้ชมกันอีกด้วย โดยงานเสวนาในครั้งนี้ มารีนาจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเช่นกัน
จากนั้นภาพวิดีโอก็ปรากฏขึ้น นำเสนอเรื่องราวของผลงาน Standing Structure ซึ่งมารีนาได้เลือกมานำเสนอในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ผลงานนี้จัดแสดงอยู่ที่ BAB Box @ One Bangkok ผู้ชมได้เห็นว่ากว่าเธอจะเลือกผลึกแต่ละชิ้นมาประกอบเป็นชิ้นงาน มารีนาต้องเดินทางไปที่เหมืองแห่งหนึ่งในประเทศบราซิล และเลือกผลึกแต่ละชิ้นด้วยตัวเอง ซึ่งกว่าจะเลือกได้นั้นไม่ง่ายเลย ถึงขนาดต้องต่อม้านั่งยาวแล้วเอนกายนอนนิ่งเงียบในเหมืองเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อสื่อสารพลังของตัวเองกับผลึกแต่ละชิ้น และค้นหาไอเดียใหม่ๆในการสร้างงาน โดยประสบการณ์ที่บราซิลในครั้งนั้น สำหรับตัวเธอแล้วเป็นมากกว่าการเดินทางไปทำงาน แต่มันคือการเดินทางของจิตวิญญาณ
และแล้วก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย เมื่อมารีนา อบราโมวิช ศิลปินผู้ได้แสดงงานทั่วโลกในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำมานักต่อนักได้ปรากฏตัวขึ้น แต่ก่อนที่จะทักทายใดๆ เธอบอกให้ทุกคนหลับตา จากนั้นหายใจเข้าและหายใจออกตามจังหวะที่เธอแนะนำ พอครบ 12 ครั้ง เธอบอกให้ทุกคนค่อยๆลืมตาขึ้น ประหนึ่งเป็นการเริ่มต้นของงานเสวนาในวันนี้อย่างเป็นทางการ
“ขอต้อนรับเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งปัจจุบัน ห้วงเวลาที่เราจะไม่นึกถึงอดีตที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และไม่นึงถึงอนาคตที่กำลังเดินทางมาถึง”
นั่นเป็นการกล่าวทักทายเริ่มต้นการเสวนาที่ไม่เหมือนใครจริงๆ …ผมคิดในใจ
หัวข้อหลักสำหรับงานเสวนาในค่ำคืนนี้ มารีนาจะมาสาธิตกิจกรรม 3 รูปแบบ เพื่อฝึกให้เราได้เข้าถึงสภาวะของปัจจุบัน โดยกิจกรรมแรกคือการก้าวย่างอย่างช้าๆ ซึ่งสาธิตโดยเยาวชนไทย 8 คน ที่ได้เข้าร่วมอบรมกับ MAI ซึ่งการสาธิตนั้นจะดำเนินอยู่ข้างหลังของมารีนาตลอดจนจบการเสวนา
เธอเล่าถึงการคัดเลือก 8 ศิลปินเพื่อมาเข้าร่วมเวิร์คชอปกับ MAI เพื่อเตรียมความพร้อมด้านจิตใจสำหรับการแสดงสดแบบต่อเนื่องวันละ 8 ชั่วโมงทุกวันในระยะเวลา 3 สัปดาห์ ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 2561) โดยเธอบอกว่าจากใบสมัครที่ส่งเข้ามาเป็นร้อย ที่สุดแล้วเธอก็ได้เลือกศิลปิน 8 คนที่เธอเห็นศักยภาพที่จะมาสร้างผลงานสุดพิเศษในครั้งนี้ (ศิลปินไทยหนึ่งเดียวในนั้นคือ ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์)
เนื้อหาในการทำเวิร์คชอปนั้นค่อนข้างเข้มข้น มารีนาเรียกว่า กิจกรรม Cleaning the House โดยมีกิจกรรมหลากหลาย อย่างเช่น การก้าวย่างช้าๆหลายชั่วโมงติดต่อกัน หรือการเปิด-ปิดประตูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อเนื่องในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิบหรือยี่สิบนาที แต่หมายถึงสาม – สี่ชั่วโมง มารีนาอธิบายว่า โดยปกติแล้วเราเปิดประตูเข้า-ออกเพื่อจะเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่การฝึกนี้จะแค่เปิดและปิด ไม่มีอะไรมากกว่านั้น โดยเมื่อเปิด -ปิดไปเรื่อยๆจะเริ่มรู้สึกว่าประตูนั้นไม่ใช่ประตูอีกต่อไป มันจะกลายเป็นวัตถุที่แสดงถึงพื้นที่ว่างและความกว้างใหญ่ของจักรวาล โดยสาเหตุที่ต้องฝึกเช่นนี้ เธอให้เหตุผลว่า การแสดงสดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกัน ต้องอาศัยความอดทนของร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก เมื่อขึ้นชื่อว่าแสดงสดแล้ว มันต่างกับการแสดงละคร คุณสามารถสวมบทบาทเป็นคนอื่นได้ แต่การแสดงสดนั้นสำหรับเธอแล้วคือการสื่อสารตัวตนอย่างแท้จริง ผู้แสดงไม่สามารถจะเล่นละครเป็นคนอื่นได้ ดังนั้นการฝึกดังกล่าวจะช่วยพัฒนาแก่นแท้ของผู้แสดงอย่างลึกซึ้ง… และแก่นแท้ของผู้แสดงนี้เอง ในที่สุดแล้วจะค่อยๆกลายเป็นแก่นแท้ของศิลปะงานแสดงสดของแต่ละคน
จากนั้นผู้แสดงการสาธิตเปลี่ยนจากเดินก้าวย่างช้าๆ เป็นมองจ้องตากัน ซึ่งแนวคิดนี้มาจากการแสดง The Artist is Present ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เธอเป็นอย่างมากในปี 2010 โดยเธอบอกว่ากิจกรรมนี้ ผู้ที่จ้องตากันควรกะพริบตาให้น้อยที่สุด เพราะว่าเมื่อเรากะพริบตา จิตใจก็จะเปลี่ยนความสนใจไปยังเรื่องอื่นได้ (ไม่โฟกัส)
ต่อมาเข้าสู่ช่วงการแถลงศิลปกรรมประกาศของชีวิตการเป็นศิลปินของมารีนา โดยเธอบอกว่าการเขียนศิลปกรรมประกาศนี้มีความหมายกับเธอมาก และทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักเขียน หรืออาชีพใดก็ตามควรเขียน ศิลปกรรมประกาศไว้ เพื่อแสดงถึงสิ่งที่คุณเชื่อถือและยึดมั่น และควรอ่านให้สาธารณะได้รับรู้ อย่างเช่นที่เธอกำลังจะทำในอีกไม่กี่อึดใจนี้
ก่อนที่มารีนาจะอ่าน เธอบอกว่าอยากให้กลุ่มสาธิตเปลี่ยนการมองจ้องตาเป็นการยืนนิ่งและหลับตา (ควรใส่หูฟังครอบกันเสียง ถ้ามี) โดยมารีน่ากล่าวว่า กิจกรรมนี้จะทำให้เราได้ยินความเงียบ สายตาจะเห็นความว่างเปล่า ซึ่งจะทำให้เรารับรู้ถึงปัจจุบันขณะ
มารีนาได้อ่านศิลปกรรมประกาศทีละข้อ บางข้อก็อ่านซ้ำๆอยู่หลายครั้ง อย่างเช่น ศิลปินไม่ควรทำตัวเองให้เป็นดารา หรือความซึมเศร้านั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อศิลปิน และในข้อที่บอกว่า “ศิลปินต้องไม่ตกหลุมรักศิลปินด้วยกัน” เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุด เพราะตัวเธอเองก็เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งในระดับจิตวิญญาณกับ Frank Uwe Laysiepen หรือ Ulay (อูเลย์) ศิลปินศิลปะการแสดงสดชาวเยอรมัน ที่มีอิทธิพลกับชีวิต และการสร้างผลงานของเธอเป็นอย่างมากในช่วงยุค 80
มาถึงช่วงท้ายรายการ มารีนาเปิดโอกาสให้ผู้ชมถามคำถามอะไรก็ได้ แน่นอนว่ามีคำถามมากมายจากผู้ฟังชาวไทยและชาวต่างประเทศที่อยากจะถามกับศิลปินระดับโลกเช่นนี้โดยตรง หนึ่งในคำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบมากที่สุดคือ ทำไมศิลปินไม่ควรตกหลุมรักศิลปินด้วยกัน มารีนาได้อธิบายจากประสบการณ์ตรงของเธอว่า ศิลปินกับศิลปินมักมีอารมณ์และจิตวิญญาณที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเกินไป ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับการคบกันชั่วคราวแต่ไม่ควรที่จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และเธอเองก็พบว่าคู่รักศิลปินที่เธอรู้จัก มีไม่กี่คู่เท่านั้นที่สามารถไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง (น่าสนใจว่าหลักการข้อนี้สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับอาชีพอื่นได้บ้างหรือเปล่า ผู้อ่านท่านใดมีประสบการณ์เขียนคอมเม้นต์แชร์ประสบการณ์ให้ฟังหน่อยนะครับ)
ผมเองโชคดีที่ได้มีโอกาสถามคำถามต่อหน้าศิลปินท่านนี้กับเขาบ้าง ผมถามเธอว่า จากประสบการณ์การเดินทางบนเส้นทางสายศิลปะและจิตวิญญาณอย่างยาวนาน สิ่งสำคัญที่สุดที่เธอได้ค้นพบระหว่างการเดินทางครั้งนี้คืออะไร
เธอตอบว่าหากย้อนกลับไปในช่วงที่เธออายุ 23 ปี งานศิลปะการแสดงสด Rhythm 0 ของเธอที่ให้ผู้ชมใช้สิ่งของที่เธอได้เตรียมไว้ 72 ชิ้น (มีมีดและปืนพร้อมกระสุน 1 นัด รวมอยู่ด้วย) ให้ผู้ชมเอามาทำอะไรกับตัวเธอก็ได้ ภายในเวลา 6 ชั่วโมง นั่นตอบเร้ากับอารมณ์ด้านลบของมนุษย์ แต่มาวันนี้เธอค้นพบแล้วว่าศิลปะควรจะหล่อเลี้ยงและส่งเสริมอารมณ์ด้านบวก เพื่อสนับสนุนให้แต่ละคนเป็นคนที่ดีขึ้น และสุดท้ายแล้วสังคมจะดีขึ้นได้โดยมีผลงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
เมื่องานเสวนาจบแล้วผมได้พูดคุยกับ ศ.ดร. อภินันท์ ซึ่งเล่าให้ผมฟังว่า “มารีน่าตั้งใจมาดูงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ให้ครบทุกสถานที่ทั้ง 20 แห่งในกรุงเทพ ฯ และวางแผนอยู่เมืองไทยนานถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เธอเองก็จำไม่ได้ว่าเคยอยู่ที่ไหนเกิน 3 สัปดาห์ ถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานมากสำหรับมารีนา ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่เธออยากจะมาชมงานนี้ โดยหลังจากที่ได้ดูผลงานของศิลปินต่างๆที่จัดแสดงในงานนี้ไปบ้างแล้ว เธอประทับใจผลงานหลายชิ้น โดยเฉพาะงานของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ และคมกฤษ เทพเทียน (งานของศิลปินทั้งสองคนนี้ติดตั้งอยู่บริเวณเขามอ วัดอรุณราชวราราม) เพราะเป็นการผสมผสานงานศิลปะสมัยใหม่กับมรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่ที่น่าสนใจได้อย่างมีเอกลักษณ์มากๆ” ผมเองได้พูดคุยกับพี่บีน (คุณสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์) จึงทราบว่ามารีนาไปชมผลงานของเธอก่อนครั้งหนึ่ง แล้ววันรุ่งขึ้นก็ได้พาทีมงานมาชมผลงานอีกครั้ง
จากนั้นก็ถึงเวลาของการเซ็นหนังสือที่แต่ละท่านจะได้เข้าห้องรับรองพิเศษเพื่อรับหนังสือที่มารีนาเซ็นให้กับมือ โดยผู้ที่ซื้อหนังสือ 30 ท่านแรกจะได้โอกาสครั้งสำคัญนี้ …ผมก้มดูหมายเลขการซื้อหนังสือของตัวเอง รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกทั้งที่มันเป็นเลข 13
เมื่อถึงคิว ผมเดินเข้าไปในห้องรับรอง มารีนาส่งสายตาและรอยยิ้มมาให้ ขณะที่ผมกำลังก้าวเดินไปหาเธอที่โต๊ะ เธอหยิบหนังสือขึ้นมาแล้วเซ็นให้ ขณะที่กำลังจะส่งกลับคืนมา ผมขอให้เธอช่วยเขียนอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานสักเล็กน้อย … มารีน่ายิ้ม แล้ววาดรูปสมการลงในหนังสือ พร้อมอธิบายว่า “Infinity plus Infinity then no one know the answer”(เมื่อความอนันต์บวกกับความอนันต์ ไม่มีใครรู้คำตอบ)
ผมเดินออกมาจากห้องรับรอง เก็บหนังสือลงในกระเป๋าอย่างระมัดระวัง พร้อมก้าวเดินออกมาจากงานสัมมนา ผมเดินออกมาด้วยความรู้สึกว่า
ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน…
ขณะที่ผมกำลังก้าวแต่ละก้าว…
หายใจแต่ละครั้ง…
ความคิดต่างๆที่พัดผ่านเข้ามาในหัว…
ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นตัวผมจริงๆ หรือว่าผมกำลังทำการแสดงสดบนเวทีที่เรียกว่า ” โลก ” อยู่หรือเปล่านะ
เรื่อง: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
มารีนา อบราโมวิช กับ มนตราแห่งศิลปะที่ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดมอง
จัดเต็ม Checklist! 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ชอบแนวไหน ไปชมเลย (พร้อมแผนที่)
พบกับเรื่องราวของ อาคาร อีสต์ เอเชียติก หนึ่งในสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะ ใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
พิเชษฐ กลั่นชื่น ร่างทรง องค์ใหม่ ลงประทับแล้ว ในงาน BAB (Bangkok Art Biennale 2018)
เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x