Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018

Elmgreen & Dragset ศิลปิน มินิมอล ระดับโลก ชวนมาปาร์ตี้ริมสระน้ำ ใน Bangkok Art Biennale 2018

Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018
Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018

Elmgreen & Dragset สองศิลปินคู่หู ระดับโลก สายมินิมอล ผู้เชี่ยวชาญการสร้างงานศิลปะจัดวาง ผลงานของเขาได้รับเลือกให้ไปแสดงในเทศกาลศิลปะ และ สถานที่สาธารณะสำคัญต่างๆมาแล้วทั่วโลก

อย่างเช่น Venice Biennale, Berlin Biennale หรือ Gwangju Biennale รวมถึงผลงานที่สั่นสะเทือนวงการแฟชั่นสุดหรูอย่าง Prada Marfa ในปี 2005 ที่ทั้งคู่ได้สร้าง ผลงานจัดวางที่ล้อเลียน ช็อปของแบรนด์หรูสัญชาติ อิตาลี Prada ไว้กลางทะเลทรายรัฐเท็กซัสเพื่อสะท้อนถึงกระแสทุนนิยมและแฟชั่นที่ได้เปลี่ยนผ่านสังคมอย่างรุนแรงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับงาน Bangkok Art Biennale 2018 (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018) สองคู่หู ได้ออกแบบผลงาน ‘Zero’ (2018) ประติมากรรมสูง 8.2 เมตร รูปทรงสระว่ายน้ำแนวตั้ง ซึ่งผลงานนี้มีความหมายเชิงนามธรรมที่เป็นสัญลักษณ์บางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย โดยมีที่มาอย่างไร ศิลปินคู่หูนี้ได้มาชี้แจงแถลงไข ในกิจกรรม BAB Talk ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นในค่ำคืนของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ สถานที่แสดงผลงานของเขา หน้าอาคารอีสต์ เอเชียติก  ซึ่งนอกจาก Elmgreen & Dragset จะมาร่วมเสวนาแล้ว ยังได้ร่วมสนุกใน Exclusive Pool Party  ได้มาพูดคุยกับแขกที่มาร่วมงาน และ ศิลปิน Bangkok Art Biennale 2018 ท่านอื่นๆ อย่างเป็นกันเอง ซึ่งแน่นอนว่า baanlaesuan.com ก็ไม่พลาดที่จะเก็บบรรยากาศมาฝากกัน รวมถึงบทสัมภาษณ์พิเศษ ที่เรียกได้ว่า พูดคุยกันแบบกระทับไหล่กับศิลปินระดับโลกสองท่านนี้อย่างใกล้ชิด

พร้อมแล้ว …ไปชมกัน 

Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018 | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ตะวันกำลังลับขอบฟ้า ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 งานเสวนา BAB Talk ครั้งที่ 20 ที่ อาคารอีสต์ เอเชียติก กำลังจะเริ่มต้นขึ้น | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018
ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ขณะกำลังกล่าวเปิด BAB Talk ครั้งที่ 20| เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

เมื่อท้องฟ้าไร้แสงอาทิตย์ ไฟสาดแสงมาที่หน้าเวที ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่คืนนี้ได้ใส่เสื้อ ‘Zero’ ที่มีลายเซ็นของ Elmgreen & Dragset  ขึ้นมากล่าวเปิดงาน หน้าผลงานประติมากรรมจัดวาง ‘Zero’ จากนั้นก็ถึงคิวของศิลปินดูโอ ที่เพิ่งมาถึงประเทศไทยสดๆร้อนๆ ได้มาพูดคุยให้ความรู้กับผู้มาร่วมเสวนา BAB Talk ครั้งนี้

Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018
Michael Elmgreen (ซ้าย) และ Ingar Dragset (ขวา) ใน BAB Talk ครั้งที่ 20|  เครดิตภาพ เมธี สมานทอง
Elmgreen & Dragset in Bangkok Art Biennale 2018
Elmgreen & Dragset ขณะกำลังอธิบายถึงผลงาน Prada Marfa (ดำเนินรายการโดย ทิวาพร เทศทิศ) | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

Michael Elmgreen และ Ingar Dragset ได้อธิบายถึงเส้นทางการสร้างงานศิลปะของเขา บริเวณผลงานชิ้นล่าสุด  ‘Zero’ ใน Bangkok Art Biennale 2018 ซึ่งทั้งสองเล่าให้ฟังว่า เมื่อตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางศิลปะ ทั้งๆที่พวกเขาไม่มีพื้นฐานการเรียนวาดรูปมาก่อน ช่วงแรกๆหากอยากจะได้ภาพสักภาพหนึ่ง ก็อาศัยเอางานจากที่ต่างๆมารวมกัน แล้วแยกส่วนมาทำการตัด จัดวางให้เป็นรูปทรงที่ต้องการในสไตล์ Collage

โดยแนวทางที่เขายึดตั้งแต่การสร้างงานร่วมกันช่วงปี 90 คือแนวทางของการสื่อความคิดแบบ มินิมอล ผ่านผลงานศิลปะที่ไม่ได้ใช้องค์ประกอบ และ สีสันอะไรมากมาย ซึ่งมักจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แฝงอยู่ทุกชิ้น โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ทั้งสองเป็นอย่างมาก ได้แก่ผลงานประติมากรรมจัดวางทั้งสามชิ้นนี้ (เรียกได้ว่าเป็น Top Three)

Prada Marfa
ผลงานศิลปะ Prada Marfa (2005) กลางทะเลทรายรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่เสียดสีถึงกระแสทุนนิยมในปัจจุบัน| เครดิตภาพ The Lyda Hill Texas Collection of Photographs in Carol M. Highsmith’s America Project, Library of Congress, Prints and Photographs Division.

 

Powerless Structures, Fig 101 - sculpture by Michael Elmgreen and Ingar Dragset - on the Fourth Plinth at Trafalgar Square.
ผลงาน Powerless Structures Fig. 101 (2011) ที่ จัตุรัสทราฟัลการ์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผลงานชิ้นนี้สร้างจากแนวคิดที่ว่า โดยปกติสิ่งที่อยู่บนฐานของอนุเสาวรีย์ มักจะเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่เขาคิดกลับกันว่า เขาต้องการสื่อถึงอนาคต จึงทำประติมากรรมรูปเด็กกำลังขี่ม้าโยก โดยบอกว่า เด็กคือตัวแทนของความยิ่งใหญ่ในอนาคต | เครดิตภาพ Photo courtesy to Garry Knight

 

Van Gogh Ear ของ Elmgreen และ Dragset
ผลงาน Van Gogh Ear (2016) ประติมากรรมทรงสระน้ำแนวตั้งสูง 9 เมตร (ซึ่งทั้งสองศิลปินบอกว่า งานชิ้นนี้เป็นผลงานพี่น้องของ Zero) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลาง Rockefeller Plaza ย่านธุรกิจในมหานครนิวยอร์ก โดย ศิลปินคู่หูบอกว่า ได้แรงบันดาลในการสร้างผลงานนี้ จากการที่ได้ไปเห็น สระน้ำในบ้านของคนที่ทำงานในย่านนี้ ซึ่งมีฐานะ แต่ชีวิตนั้น กลับยุ่งเยิงทำงานจนไม่มีเวลาว่ายน้ำในสระของตัวเองที่บ้าน เขาเลยอยากให้สระว่ายน้ำ มาตั้งอยู่ในย่านที่ทำงานซะเลย | เครดิตภาพ photo courtesy of  the artists and the K11 Art Foundation, Galerie Perrotin, Galleria Massimo De Carlo, and Victoria Miro Gallery Photo: Jason Wyche, Courtesy Public Art Fund, NY

 

เช่นเดียวกับทุกครั้งของกิจกรรม BAB Talk ที่ผู้ชมต่างมาจับจองที่นั่งกันอยางเต็มพื้นที่ |  เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 

ใน BAB Talk ครั้งที่ 20 นี้ มีศิลปินงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 มาร่วมฟังเสวนามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาพตะวัน สุวรรณกูฎ,  ดาว วาสิกศิริ, คธา แสงแข, จิตต์สิงห์ สมบุญ และ ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ |  เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

ช่วงสนทนาภาษาศิลป์ ในบรรยากาศ Pool Party

อาคารเก่าแก่ อีสต์ เอเชียติก ในคำคื่นที่ถูกสาดส่องด้วยความสุขและแสงไฟ ใน Pool Party สุดพิเศษของ Elmgreen & Dragset
อาคารเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์อย่าง อีสต์ เอเชียติก ในคำคื่นที่ถูกสาดส่องด้วยความสุขและแสงไฟ ใน Pool Party สุดพิเศษของ Elmgreen & Dragset | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง, Post Process ภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

หลังจากพูดคุยถึงผลงานไปต่างๆไปแล้ว ถึงเวลาของปาร์ตี้ริมสระน้ำ ที่ได้ทีม Dude Sweet มาช่วยสร้างความบันเทิงจุดไฟใส่สีสันในยามค่าคืน ซึ่งทั้ง Elmgreen & Dragset ได้มาร่วมสนุก และ พูดคุยศิลปินท่านอื่นๆ รวมถึง ผู้ที่มารวมงานอย่างเป็นกันเอง  ซึ่งทาง baanlaesuan.com ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับสองศิลปินระดับโลกนี้ ในบรรยากาศสบายๆ หลายประเด็น

ทีม Dude Sweet ที่เปิดเพลง เริ่มงานปาร์ตี้ที่อบอวลไปด้วยความสุขสะพรั่งทั่วทั้งงาน  | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
บรรยากาศของ Pool Party หลัง BAB Talk ครั้งที่ 20 เต็มไปด้วย ความสนุกสนาน ดนตรี และ ศิลปะ  | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

เริ่มจากความสนิทสนมของคนทั้งสองที่ได้รวมทำงานกันมามากกว่า 10 ปี ซึ่งทั้งสอง ได้บอกว่า Elmgreen & Dragset นั้นเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มีสองหัวในร่างเดียว โดยทั้งสองมาจากคนละประเทศ Elmgreen มาจาก เดนมาร์ก สำหรับ Dragset มาจาก นอร์เวย์ ทั้งสองตกลงทำงานร่วมกันครั้งแรกในปี 1995 ที่ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ซึ่งผลงานของเขามักจะเน้นสื่อถึงประเด็นสังคม โดยยึดถือแนวคิดการสร้างงานแบบมินิมอล ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลงานของเขานั้นไม่เน้นรูปทรงที่ซับซ้อน และ ไม่ใช้สีสันที่หลากหลาย แต่เปี่ยมไปด้วยความความคิดเชิงสัญลักษณ์ที่มีพลังอย่างลึกซึ้ง โดยตัวอย่าง ผลงานที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่งวงการศิลปะ และ แฟชั่นระดับโลก ได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่งคือ Prada Marfa เราได้ถามว่าหลังจากที่งานชิ้นนี้เป็นกระแสออกไป ทางแบรนด์ Prada เขาว่ายังไงบ้างกับการเสียดสีเขาเช่นนี้

“เราไม่เคยได้ความเห็นใดๆ (Feed Back) จากทางแบรนด์โดยตรง แต่เราเคยได้คุยกับ Miuccia Prada (CEO ของ Prada ผู้เป็นหลานสาวของผู้ก่อตั้ง Mario Prada ) ซึ่งเธอรักศิลปะ  และ ไม่ได้ว่าอะไรแถมยังชอบงานของเราอีก โดยผมคิดว่า การตั้งคำถาม ที่เสียดสีของเรา ช่วยทำให้แบรนด์นี้ได้หันกลับมามองมุมที่เรานำเสนอ เพื่อพัฒนาให้บริษัทก้าวหน้าต่อไป ไม่ใช่ว่าเราทำงานนี้เจตนาเผื่อต้องการโจมตี หรือ ทำลายบริษัทเขา อะไรทำนองนั้น และ ที่น่าตลกก็คือ หลังจากที่งานนี้เป็นกระแสออกไป มันกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่หลายคนตั้งใจเดินทางชม จึงทำให้เกิดสังคมเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นคนมารวมกันเล่นดนตรี ขายของชำร่วยอะไรต่างๆ แล้วเกิดสังคมการค้าขายขึ้นมา ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าจะเกิดอะไรแบบนี้มาก่อน” Elmgreen กล่าว

ศิลปินรุ่นใหญ่ของไทย ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เสริมว่า “ลักษณะการทำงานแบบนี้นั้นน่าสนใจ เพราะส่วนตัวคิดว่าในโลกนี้ มันไม่ควรมีอะไรที่แตะต้องไม่ได้ โดยเฉพาะในฐานะศิลปิน”

Dragset (กลาง) ขณะกำลังสนทนา กับ สองศิลปินไทยในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ (ซ้าย) ซึ่งมีผลงานจัดแสดงอยู่ที่ สระเข้ วัดโพธิ์ และ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ (ขวา) ที่จัดแสดงผลงานอยู่ที่อาคาร อีสต์ เอเชียติก | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ผลงาน Zero ของ Elmgreen & Dragset
ผลงาน Zero ของ Elmgreen & Dragset ที่มีการติดตั้ง บันได และ สปริงบอร์ด (แต่คงไม่มีใครไปใช้งาน)  | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

สำหรับผลงานสำคัญในค่ำคืนนี้ Zero ประติมากรรมจัดวางสระน้ำแนวตั้ง ศิลปินคู่หูได้เล่าให้เราฟังถึงแรงบันดาลใจว่า ทั้งสองมาเมืองไทยเมื่อปีก่อน ตามคำเชิญของ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ พอมาเมืองไทย แล้วพบว่า ที่นี้ไม่ค่อยมีสระน้ำสาธารณะที่ใครๆก็สามารถจะเข้าไปเล่นได้ (อารมณ์คล้ายๆกับ สวนสาธารณะ ที่ใครเข้าไปวิ่งก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย) เขาเลยอยากทำสระน้ำในสถานที่สาธารณะขึ้นมา ซึ่งเมื่อดูเผินเหมือนสระน้ำนี้ไม่มีน้ำ แต่ถ้ามองทะลุไปเราจะเห็นน้ำ(จากแม่น้ำ) มาเติมเต็ม  และ สาเหตุที่ตั้งชื่องานนี้ว่า Zero นั้นเป็นเพราะว่า เลขศูนย์หมายถึงการเริ่มต้น  พวกเขาทั้งคู่หวังว่าในประเทศไทยจะมี สระน้ำ(แนวนอน)ที่เต็มไปด้วยน้ำ ให้สาธารณชนลงไปว่ายเล่นแบบฟรีๆได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้คำว่า Zero ยังหมายถึงการระลึกถึงกลุ่มศิลปิน Zero ที่มีแนวคิดแบบมินิมอล ซึ่งก่อตั้งขึ่้นที่เมือง ดึสเซิลดอร์ฟ ประเทศเยอรมัน ในช่วงปี 60 โดย  Heinz Mack and Otto Piene โดย Piene ได้เคยอธิบายไว้ถึงคำว่า Zero นั้นหมายถึง “พื้นที่แห่งความเงียบ และ ความเป็นไปได้ของการเริ่มต้นใหม่ที่แสนบริสุทธิ์”

“ผลงาน Zero ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม (สแตนเลส) สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานชิ้นนี้คือ การคำนวณความยาวและความกว้าง คือเราต้องมั่นใจว่าผลงานของเรามีความปลอดภัยสูงสุด ก่อนที่จะนำไปติดตั้งแสดงในสถานที่สาธารณะ” Dragset พูดถึงการทำงาน ก่อนที่ Elmgreen จะเสริมว่า “ด้วยผลงานขนาดใหญ่ เช่นนี้  ทำให้เราไม่อยากขนส่งงานจากที่อื่นมา เราเลยตัดสินใจสร้างงานชิ้นนี้ที่ กรุงเทพฯ ซึ่งใช้ช่างฝีมือท้องถิ่นชาวไทย และ เราก็ประทับใจกับทักษะของพวกเขามากๆ ซึ่งการจัดงานแบบ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ นี่หละ ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน แถม เป็นอีกหนึ่งโอกาสทีดีที่ช่างฝีมือของไทยจะได้โชว์ฝืมือให้ผู้ชมจากทั่วโลกได้เห็น”

คธา แสงแข หนึ่งในศิลปินบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่มีผลงานแสดงอยู่ที่อาคาร อีสต์ เอเชียติก
คธา แสงแข หนึ่งในศิลปินบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่มีผลงานแสดงอยู่ที่อาคาร อีสต์ เอเชียติก เช่นกัน ได้พูดถึงผลงาน Zero ว่า “ในผลงานนี้ เราเห็นการสื่อสารกันระหว่างตัวงาน กับ สถานที่ โดยเฉพาะแม่น้ำได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันงานนี้ตั้งคำถามกลับมาหาเราว่า ส่วนที่ว่างๆ ไม่มีน้ำ มันคืออะไรกันแน่ ถ้าเรามองไปฝั่งตรงข้ามจะเห็นตึก บนพื้นที่ที่กำลังเจริญเติบ มันอาจจะเป็นการตั้งคำถามได้อีกข้อว่า พื้นที่ตรงนั้นมันจะเติบโตอย่างไร”  | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

เนื่องด้วยความรักในศิลปะการจัดวางในสถานที่สาธารณะ เราได้ถาม Elmgreen & Dragset ต่อไปว่าการสร้างงานเพื่อแสดงในพิพิธภัณฑ์ และ แสดงในสาธารณะมันมีแนวคิดแตกต่างกันอย่างไร? โดย Dragset ได้อธิบายว่า  “มันแตกต่างกันมาก อย่างในพิพิธภัณฑ์ มันเหมือน คนต้องจ่ายเงินเพื่อมาชม หรือ ต้องตั้งใจเดินเข้ามาชม แต่การจัดวางในสาธารณะนั้น ผู้คนจะได้ชมมันอย่างไม่ตั้งใจ และ มันยังเปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐี คนไร้บ้าน ศิลปิน คนรวย คนจน ต่างมาชมกันได้หมด ซึ่งแต่ละคน มีปฏิสัมพันธ์กับผลงานแตกต่างกัน ในส่วนนี้จึงทำให้ศิลปะจัดวางในที่สาธารณะนั้นมีเสน่ห์มากๆ และ ตอนนี้เราเริ่มสังเกตุเห็นว่า มีหลายบริษัท ทั้งภาครัฐ และ เอกชน อยากให้เราไปทำงานศิลปะจัดวางลักษณะนี้ในสถานที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ”

ปัจจุบันเรียกได้ว่า สองคู่หูนี้เป็นศิลปินระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และ ในฐานะเป็น ผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยแนว มินิมอล เราขอให้เขาแนะนำเคล็ดลับในการสร้างงานศิลปะแนวมินิมอลให้ประสบความสำเร็จ โดย Elmgreen ได้เผยสูตรเด็ดที่สั่งสมมาจากประสบการณ์อันยาวนาน โดยอธิบายสั้นๆตามประสาคนสาย มินิมอล ว่า

“อย่าพยายามทำมันให้ดูเป็นศิลปะมากเกินไป”

นับว่าได้เป็นอีกสุดยอดกิจกรรมที่ไม่บ่อยนักเราจะได้มานั่งอยู่ริมน้ำและสนทนากับศิลปินที่มีผลงานระดับโลก เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ครั้งนี้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ทางศิลปะที่ดีมากๆกับสังคมไทย สำหรับใครที่ชมผลงานยังไม่ครบ หรือ ยังไม่รู้จะเริ่มชมงานที่ใด ลองศึกษาได้จาก Checklist! 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ชอบแนวไหน ไปชมเลย (พร้อมแผนที่)

ก่อนจากกันวันนี้ เรามีภาพเบื้องหลังกว่าจะมาเป็น ผลงาน Zero มาฝากกัน (ขอบคุณภาพจาก Bangkok Art Biennale 2018)

 

 

Elmgreen & Dragset หน้าผลงาน Zero ใน Bangkok Art Biennale 2018
Elmgreen & Dragset หน้าผลงาน Zero ใน Bangkok Art Biennale 2018 | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

 

เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 


ภาพเล่าเรื่องใน Bangkok Art Biennale 2018 (Photo Essay)
เรากำลังใช้ชีวิต หรือ กำลังแสดง? งานเสวนาเต็มรูปครั้งแรกในประเทศไทยของ  มารีนา อบราโมวิช
พิเชษฐ กลั่นชื่น ร่างทรง องค์ใหม่ ลงประทับแล้ว ในงาน BAB (Bangkok Art Biennale 2018)

เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x