ศิลปะอาเซียน สื่อสังคม ใน Bangkok Art Biennale 2018
ศิลปะอาเซียน มีให้ชมอย่างมากมายใน Bangkok Art Biennale 2018 (บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018) ซึ่งศิลปะ นอกจากจะช่วยจรรโลงใจให้ความงดงามกับสายตาแล้ว ศิลปะยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ สะท้อนสังคม และ ประเด็นต่างๆที่ศิลปินต้องการนำเสนอให้โลกได้รับรู้
อาเซียน (ASEAN) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นองค์การทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วย ประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย (รวมประชากรแล้ว น่าจะมีราวๆ 625 ล้านคน) วันนี้ baanlaesuan.com ของนำเสนอ ผลงานจากศิลปินในประเทศอาเซียน ที่พวกเขาอยากจะมาบอกเล่าเรื่องราวสะท้อนสังคมของตัวเอง
ประเทศ: กัมพูชา
ผลงาน: National Road No.5
ศิลปิน: ลิม โศกจันลินา
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7
ลิม โศกจันลินา ช่างภาพชาวกัมพูชาหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Stiev Selepak ที่ทำงานด้วยสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย วิดีโอ และ ศิลปะจัดวาง รวมถึง ศิลปะการแสดง ผลงานของเขามักสะท้อนถึงปัญหาทาง เศรษฐกิจ และ สังคม ในประเทศกัมพูชา เขามีประสบการณ์แสดงผลงานในนิทรรศการสำคัญๆ อย่างเช่น ‘Sa Sa Bassac Art Project’ ใน Sydney Biennial ประเทศออสเตรเลียหรือ ‘Sunshower: Contemporary Art from Southeast Asia 1980s to Now’ ที่ Mori Art Museum ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2560
สำหรับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งนี้ ลิม นำเสนอ ผลงานภาพถ่ายชุด ‘National Road No.5’ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์การรื้อบ้านพักเพื่อพัฒนาพื้นที่ในบริเวณ ชายแดนไทย-กัมพูชา ภาพของแผ่นไม้ที่แตกเป็นเสี่ยงๆ เป็นประหนึ่งเสียงร้องคร่ำครวญของชาวบ้าน ที่วิถีชีวืตของพวกเขาโดนลุกล้ำโดยทุนนิยม
ประเทศ: อินโดนีเซีย:
ผลงาน: Rekayasa Genetika (REGEN), Flying Angels
ศิลปิน: เฮริ โดโน
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7, อาคาร อีสต์ เอเชียติก และ โรงแรมเพนนินซูล่า
ผลงานประติมากรรมหน้าตาสุดแปลกของ เฮริ โดโน (Heri Dono) ศิลปินชาวอินโดนีเซีย ที่นำเสนอตุ๊กตาหุ่นเชิดร่างมนุษย์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ที่หุ้มห่มด้วยเครื่องจักรกล เขานำแรงบันดาลใจมาจาก Wayang (Indonesian shadow puppets) หรือ ศิลปะการเชิดหุ่นพื้นบ้านของอินโดนเซีย คล้ายกับหนังตะลุงของประเทศไทย โดยประติมากรรมขนาดย่อมชิ้นนี้ประกอบร่างขึ้นจากวัสดุหลากหลายทั้ง ไฟเบอร์กลาส, ไม้, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิก และ ใบผัด (ซึ่งมี Switch ให้ผู้ชมสามารถกดเล่นดูได้) ซึ่งนอกจากมนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้แล้ว เฮริ ยังได้นำกองทัพนางฟ้า ‘Flying Angels’ มาจัดแสดงที่อาคารอีสต์ เอเชียติก ซึ่งกำลังบินมุ่งหน้าไปหากองทัพนางฟ้าอีกกลุ่มที่ โรงแรม The Peninsula Bangkok
ประเทศ: พม่า
ผลงาน: The Check Point
ศิลปิน: เง เลย์
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7
“ทุกคนต้องออกมาจากประตูนี้ทั้งนั้น” The Check Point ผลงานที่เต็มไปด้วยไหวพริบ และ ความย้อนแย้ง ของศิลปินพม่า ผู้จบปริญญาตรีทางด้านจิตรกรรมจาก Yangon University of Culture เธอเริ่มต้นทำงานออกแบบเครื่องประดับจนถึงปีพ.ศ. 2546 ก่อนจะหันมาสนใจงานศิลปะสื่อการแสดงสดและภาพถ่าย ผลงานของเธอมักสะท้อนมุมมองสังคมประวัติศาสตร์และการเมืองของเมียนมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ภาพถ่ายของเธอเริ่มถูกนำเสนอในเทศกาลศิลปะนานาชาติ อาทิ Singapore Biennale ปี พ.ศ. 2556 และ The 8thAsia Pacific Triennial of Contemporary Art ในงานนี้ เง เลย์ ได้หยิบประเด็นความไม่เท่าเทียมกันของเพศหญิง ทั้งที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น คนรวย คนจน นักบุญ โจรใจบาป ทุกคนล้วนต้องเกิดผ่านช่องคลอดมารดาทั้งสิ้น ศิลปินตั้งคำถามว่าเหตุใดหลายๆ สังคม หรือความเชื่อ จึงยังคงมองผู้หญิงว่าเป็นตัวแทนความ อ่อนแอและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม แม้ว่าประเด็น สิทธิความเสมอภาคจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ศิลปินร่วมงานกับช่างเย็บหลายคน โดยนำ Longyi(s) ผ้าที่ทั้ง 8 ชาติพันธุ์ในเมียนมานิยมนำมาเย็บเป็นกระโปรง มาตัดเย็บเป็นรูปทรงที่ คล้ายช่องคลอดโดยเขาถึงผลงานชิ้นนี้ว่า “ฉันสร้างงานชิ้นนี้ด้วยความรู้สึกทั้งพอใจและไม่พอใจ ภูมิใจและเศร้า ใจที่เป็นผู้หญิงในเวลาเดียวกัน ฉันต้องการให้ผู้ชมเดินผ่านประตูนี้และสัมผัสว่านี่ไม่ใช่สิ่งสกปรก หรือทำให้สถานะของคุณตกต่ำ แต่คือคุณค่าที่เกิดมา พร้อมกัน ความเป็นแม่ ธรรมชาติ และผืนแผ่นดิน”
ประเทศ: ฟิลิปปินส์
ผลงาน: The Settlement
ศิลปิน: มาร์ก จัสติเนียนี
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 1
‘The Settlement’ เป็นห้องเล็กๆที่ภายในเต็มไปด้วยความอนันต์ไม่มีที่สิ้นสุด ภายนอกนั้นบุด้วยไม้และ แผ่นสังกะสี เมื่อก้าวเข้าไปภายจะเห็นผลงานศิลปะจัดวางที่ใช้กระจกเงาวสะท้อนจนเกิดภาพลวงตาเห็นเป็นพื้นที่ที่ไกลสุดลูกหูลูกตาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการทำงานทักษะขั้นสูง ศิลปินสร้างฉากภายในขึ้นจากประวัติศาสตร์ ของประเทศฟิลิปปินส์ อย่างเช่น ตำนานวีรบุรษ José Rizal และ Andrés Bonifacio และการต่อต้านการ ปกครองโดยเจ้าอาณานิคม ในการค้นหาความสุข จัสติเนียนี ย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์ที่น่าเจ็บ ปวดเพื่อเยียวยาบาดแผลในปัจจุบัน ภาพลวงตา ที่เรากำลังจะได้เห็นต่อไปนี้ จะชักนำเราเข้าสู่ห้วง ภวังค์แห่งความสุข ตัดขาดจากเรื่องร้ายๆภายนอก (การชมงานนี้ต้อง ถอดรองเท้าก่อนเข้าชม)
มาร์ก จัสติเนียนี เป็นหนึ่งในศิลปินที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฟิลิปปินส์ ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 1990 และได้รับการยกย่องจาก Cultural Center of the Philippines ให้เป็นหนึ่งในศิลปิน 13 คนที่ได้
รับรางวัล Thirteen Artists Award ในปีพ.ศ. 2537 จัสติเนียนีมีส่วนร่วมในนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติหลายรายการ อาทิ Asia-Pacific Triennial Yokohama Triennale, The Asia Society ที่นิวยอร์ก , Asian Art Museum ที่ซานฟรานซิสโก และหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์
ประเทศ: มาเลเซีย
ผลงาน: We die if we don’t dream
ศิลปิน: เชอร์แมน ออง
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7
ศิลปินผู้ชนะเลิศในรายการ 2010 ICON de Martell Cordon Bleu Photography Award เชอร์แมน ออง เป็นศิลปินชาวมาเลเซียที่ทำงานภาพยนตร์ และภาพถ่ายในสิงคโปร์ เขาสนใจในเรื่องสภาพการณ์ และความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งรอบกาย และ ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนึ่งในผลงานสำคัญของเขาคือ ‘NUSANTARA: the seas will sing and the wind will carry us’ สร้างขึ้นจากประวัติศาสตร์การเดินเรือทั้งในอดีตและสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้เกิดการ เคลื่อนย้ายถิ่นฐานของคนในภูมิภาค ผลงานของเขามุ่งศึกษาสภาวะของมนุษย์ในพื้นที่ และเวลาของ ภูมิทัศน์ทางสังคม โดยเน้นไปที่การดำรงอยู่ของมนุษย์ในพื้นที่และเวลาของภูมิทัศน์ทางสังคม วิธี การเล่าเรื่องในระดับบุคคลที่ใช้ในภาพยนตร์ทำให้กายวิภาคทางสังคมวัฒนธรรมของชุมชนคนพลัดถิ่นฐาน ไปจนถึงอัตลักษณ์ที่คาบเกี่ยวระหว่างหลายพรมแดนทางวัฒนธรรม คติและความทรงจำได้ถูกนำกลับมาตั้งคำถามอีกครั้ง อีกทั้งสไตล์การเล่าเรื่องแบบสารคดีผ่านมุมมองและบทสนทนาของบุคคลที่หนึ่ง ก็ทำใหมันถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่ติดอยู่ท่ามกลางรอยแยกของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิถีปฏิบัติทางสังคมที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี สำหรับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ศิลปินจะมาพร้อมกับผลงานชิ้นใหม่ ‘We die if we don’t dream’ (2018) ที่ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของคนอัฟกานิสถานในมาเลเซีย
ประเทศ: ลาว
ผลงาน: The Adventure of Sinxay
ศิลปิน: กลุ่มฮูปแต้ม ลาว-ไทย
สถานที่จัดแสดงงาน: BAB Box @ One Bangkok
ผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ สีสันสดใส ที่มีความยาวต่อเนื่องเกือบ 4 เมตร จาก ฮูปแต้ม ลาว-ไทย กลุ่มจิตกรที่เกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินไทย 3 ท่าน ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์, ตนุพล เอนอ่อน, ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ และ ศิลปินจากประเทศลาว 2 ท่าน เตียน วิไลพอนจิด และ อำพอนสุก ไพสุริน เพื่อทํางานศิลปะโบราณ อย่าง ฮูปแต้ม ที่ได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์ใน วัฒนธรรมลาวเรื่องสังศิลป์ชัย อันเป็นวรรณกรรม พื้นถิ่นที่ว่าด้วยเรื่องราวการทําความดีและความ กล้าหาญของหนุ่มวัยรุ่นที่ออกเดินทางเพื่อไปช่วย เหลือนางสุมณฑาผู้เป็นน้าที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพา ตัวไป การเล่าเรื่องของ สังศิลป์ชัยมีความเชื่อมโยง กับคําสอนทางพุทธศาสนา ภูมิปัญญาและคติพื้น บ้าน สําหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กลุ่มฮูปแต้ม จะทําการตีความการเดินทางของสัง ศิลป์ชัยขึ้นใหม่ นับตั้งแต่เริ่มออกจากเวียงจันทน์ ข้ามแม่น้ําโขงมายังกรุงเทพฯ ที่เขาจะต้องเผชิญ หน้ากับเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ ปีศาจ และกองทัพทหาร ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีของสื่อสังคมออนไลน์
ประเทศ: เวียดนาม
ผลงาน: Jrai Dew: a radicle room
ศิลปิน: Art Labor
สถานที่จัดแสดงงาน: O.P. Place ชั้น 3
ศิลปินกลุ่มจากนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่รวมตัวกันในปีพ.ศ. 2555 พวกเขาเน้นการใช้แนว ความคิดหลากหลายสาขาวิชา เพื่อผลิตองค์ความรู้ทางเลือก (non-formal) โดยนำเสนอผ่านงานศิลปะ
และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ท้องถิ่นอื่นๆ ประกอบไปด้วยศิลปิน Thao- Nguyen Phan, Truong Cong Tung และภัณฑารักษ์/นักเขียน Arlette Quynh-Anh Tran ที่ทำงานนิทรรศการร่วมกันเพื่อทดลองขยับขยายขอบเขตการทำงานศิลปะไปสู่เขตแดนสาขาวิชาอื่น Jrai Dew คือความเชื่อเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และจักรวาลในกลุ่มชน Jarai ชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐาน อยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงทางตอนกลางของเวียดนาม ตามคำอธิบายของ Art Labor “ในปรัชญาของ Jarai มนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของวงจรธรรมชาติ หลังจากความตาย เราทุกคนจะย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชีวิต นั่นคือการเป็น “น้ำค้าง” (ia ngom ในภาษา Jarai)ที่พร้อมจะระเหยหาย เป็นทั้งสภาวะไร้ตัวตน และ จุดเริ่มต้นของการเกิดใหม่ จากแนวคิดนี้ ป่าและผู้คนในป่าจึงเป็นเหมือนกับน้ำค้างที่กำลังระเหย เปิดทาง ให้กับโลกสมัยใหม่และโลกอุตสาหกรรมได้งอกเงยขึ้นมาแทน” Jrai Dew: a radicle room ผลงานที่จะ ถูกนำมาจัดแสดงในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ครั้งนี้ เป็นผลลัพธ์จากการทำงานกว่า 3 ปี ร่วมกับ กลุ่มชุมชนบริเวณทีราบสูงตอนเหนือ ของเวียดนาม
ประเทศ: สิงคโปร์
ผลงาน: A Parade for the Paraders
ศิลปิน: เคร เฉิน
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7
ผลงานวิดิโอ ต่อเนื่อง 3 จอที่นำเสนอเรื่องราวของ กลุ่มอดีตนักดนตรี วงดุริยางค์ทหารจากกองทัพสิงคโปร์ที่รวมตัวกันเล่นเพลง ‘Steamroller’ จังหวะสนุกสนานคึกคักที่เอาไว้ร้องเวลาพวกซ้อมวิ่ง ในขณะที่พวกเขากำลังสวนสนามผ่านโรงเรียนร้างแห่งหนึ่ง เมื่อปราศจาก เสื้อผ้านักดนตรีทหารเต็มยศ พวกเขาดูเหมือนชายหนุ่มปกติทั่วไปที่แต่งตัวในชุดสบายๆ แต่ก็ ยังมีท่าทางการแสดงที่เป็นไปตามแบบแผนของวงดุริยางค์ทหาร เคร เฉิน ผู้ซึ่งเป็นอดีตนักดนตรีสมาชิก วงดุริยางค์ของโรงเรียน หยิบเอาความน่าขันแต่ก็เป็นทางการของระเบียบปฏิบัติของวงดุริยางค์ (ที่ตอนนี้ไม่ถูกนำมาปฏิบัติใช้อีกต่อไปแล้ว) มาแสดงให้เห็นอย่างขัดแย้งกับการแสดงสวนสนามของวงดุริยางค์ทหารผ่านการซ้อมที่ดูแสนจะยาวนานไร้ที่สิ้นสุดและได้รับการถ่ายทอดไปทั่วประเทศในวัน ที่ 9 สิงหาคมของทุกปี อันเป็นวัน National Day Parades เรื่องหักมุมที่เป็นตลกร้ายอย่างหนึ่งก็คือ นักดนตรีทหารพวกนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงดนตรีสดในที่สาธารณะด้วยซ้ำไป
ประเทศ: ไทย
ผลงาน: The Outlaw’s Flag
ศิลปิน: จักกาย ศิริบุตร
สถานที่จัดแสดงงาน: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7 (ทางเดินโค้ง)
ผลงาน The Outlaw’s Flag, 2017 ของจักกาย นำเสนอประเด็นการพลัดถิ่นของชาวโรฮิงยา ผ่านธงที่ประดิษฐ์ใหม่กว่า 15 ผืน ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของประเทศใด รวมทั้งความพยายามกำหนดความเป็นชนชาติที่นำมาซึ่งข้ออ้างในการใช้อำนาจและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่ในวิดีโอแสดงภาพชาวโรฮิงยาที่เร่ร่อนไร้แผ่นดินในเมืองชายฝั่งพม่าและไทย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นปัญหาในภูมิภาคร่วมกันในปัจจุบัน ธงแห่งประเทศในจินตนาการเหล่านี้อาจเป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่หลุดพ้นไปจากความโหดร้ายและทารุณ
จักกาย มักหยิบยกประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางสังคม และ การเมืองมาสร้างผลงาน โดยเฉพาะความย้อนแย้งในวิถีชีวิตปัจจุบันของคนไทยที่ความเชื่อทางพุทธศาสนากำลังถูกท้าทายโดยแนวคิดแบบวัตถุนิยม จักกาย ถนัดใช้เส้นใยสิ่งทอและเทคนิคการปักเย็บ รวมทั้งเทคนิคภาพถ่ายหรือวิดีโอ เพื่อนำเสนอผลงานในรูปแบบของศิลปะจัดวาง ผลงานของเขาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกาอาทิ Asian Art Museum ซานฟรานซิสโก Asian Civilizations Museum สิงคโปร์ และ Vebih KocFoundation อิสตันบุล
เรื่อง และ ภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์