บ้าน 3 ชั้น ที่เปิดรับธรรมชาติให้มีส่วนร่วมกับวิถีชีวิต - บ้านและสวน

บ้าน 3 ชั้น ที่เปิดรับธรรมชาติให้มีส่วนร่วมกับวิถีชีวิต

        ธรรมชาติของโลกคือการอยู่ร่วมกันของทุกสิ่ง ต่างดำเนินไปตามปัจเจกวิถี แต่เมื่อพื้นที่ เวลา คน และสิ่งของมีหลายจำนวน ย่อมเกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งคนกับคน คนกับพื้นที่ พื้นที่กับธรรมชาติ บ้านกับชุมชน “ระหว่าง” จึงอาจเป็นแค่การผ่านเลยหรืออาจถักทอสายสัมพันธ์อย่างมากมาย บ้าน3ชั้น

ยิ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนยิ่งซับซ้อน แต่ในความซับซ้อนที่ไม่อาจสร้างสมการให้มีคำตอบตายตัวได้ กลับเป็นสิ่งน่าสนใจสำหรับ อาจารย์หน่อง – ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งยังเป็นสถาปนิกชุมชนและบรรณาธิการวารสารอาษาของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยออกแบบบ้านสำหรับครอบครัวขยายที่มีคน 3 วัย ขนาด 800 ตารางเมตรให้มีพื้นที่ “ระหว่าง” ที่มีความยืดหยุ่นทั้งการใช้งาน การสร้างปฏิสัมพันธ์ และการเปิดรับธรรมชาติให้มีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตได้แบบหลวมๆ บ้าน3ชั้น

บ้าน3ชั้น บ้านโมเดิร์น

 

“บ้านเดิมคือบ้านหลังถัดไปที่ติดกับบ้านนี้ ขนาด 50 ตารางวา คุณพ่อคุณแม่อยู่มาสี่สิบกว่าปี ตั้งแต่เริ่มสร้างครอบครัว ชีวิตก็เป็นลำดับเหมือนคนทั่วไป พอลูกๆ โตก็แยกออกจากบ้านไป แต่ด้วยกุศโลบายของคุณแม่ที่อยากให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง จึงซื้อที่ดินข้างบ้านและสร้างเป็นบ้านสำหรับทุกคน”

อาจารย์หน่องเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของบ้าน 3 ชั้นรูปแบบเรียบง่ายที่รวมหลายฟังก์ชันและหลายความต้องการ ซึ่งมีคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัวพี่สาว และอาจารย์หน่องอยู่ร่วมกัน โดยทำชั้นล่างเป็นคลินิกทันตกรรมของพี่สาวและพี่เขย ชั้น 2 เป็นสตูดิโอทำงานและส่วนพักอาศัยของอาจารย์หน่อง ชั้น 3 เป็นส่วนพักอาศัยของคุณพ่อคุณแม่และครอบครัวพี่สาว โดยออกแบบพื้นที่ใช้งานให้มีความยืดหยุ่น ใช้โถงบันไดเป็นแกนหลักของบ้าน และแยกทางเข้าไปยังยูนิตของแต่ละครอบครัวซึ่งมีฟังก์ชันครบในตัวเอง มีพื้นที่ส่วนกลางคือห้องครัวใหญ่และห้องรับประทานอาหารที่อยู่ชั้น 3 สำหรับมาพบปะกันได้ ทุกคนจึงสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นส่วนตัว หรือมีปฏิสัมพันธักันได้อย่างยืดหยุ่น

บันได

อิฐช่องลม โถงบันได

ระหว่างการเดินขึ้นโถงบันไดที่ล้อมรอบด้วยผนังอิฐช่องลมซ้อนกันเป็นเลเยอร์ เป็นวิธีการกรองแสงและเปิดรับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ให้ความรู้สึกไม่ตัดขาดกับธรรมชาติ และเหมือนเดินอยู่ใกล้พื้นดินแม้จะอยู่ชั้นบนก็ตาม

“แนวคิดในการออกแบบคือการเชื่อมต่อพื้นที่ด้วยช่องเปิด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ระหว่างธรรมชาติและระหว่างคน ให้มองเห็นกัน ส่งผ่านความรู้สึกถึงกัน และวางผังชั้น 1 และ 2 เป็นรูปตัวยู (U) ส่วนชั้น 3 เป็นรูปตัวแอล (L) เป็นคอร์ตล้อมรอบบ่อปลาและสวนเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวอาคาร ตั้งใจให้โถงบันไดเป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้งที่ปล่อยให้มีลมพัดผ่าน ได้รับแสงแดดและไอฝนบ้าง เหมือนยังเดินอยู่ใกล้พื้นดิน”

คอร์ตกลางบ้าน บ้าน3ชั้น

แต่เมื่อเข้ามาในยูนิตของอาจารย์หน่องกลับกลายเป็นอีกโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ชาหอมกรุ่นโชยกลิ่นจากแก้วลายดอกไม้ รสฝาดน้อยๆ เข้ากันดีกับสโคนปาดแยมแอพริคอตอมเปรี้ยว เป็นความสุขเล็กๆ ที่ได้ลิ้มรสความหอมหวาน แต่ระหว่างการดื่มชานั้นกลับขยายความสุขได้มากกว่า

มุมรับประทานอาหาร ครัว บ้าน3ชั้น

ของสะสม จานลายดอก ของวินเทจ

อาร์มแชร์ หมอนปัก

“ส่วนตัวเป็นคนชอบของที่ทำด้วยมือ ชอบผ้าปัก ชอบลายดอก ซึ่งมักแฝงด้วยคาแร็กเตอร์ของท้องถิ่นนั้นๆ มีความงามเฉพาะตัว อย่างผ้าปักของชาวเขาโครงการหลวง หมอนปักจากอินเดีย และงานฝีมือจากโครเอเชีย มาเลเซีย พม่า ของตกแต่งหลายชิ้นเป็นของเก่าที่บันทึกความทรงจำระหว่างอยู่บ้านเดิม เช่น โซฟาที่เคยนั่งมาตั้งแต่เด็กก็นำมาซ่อมและเปลี่ยนผ้าบุใหม่ โต๊ะที่นั่งทำการบ้านก็เปลี่ยนฟังก์ชันเป็นโต๊ะข้างโซฟาคลุมด้วยผ้าพื้นเมือง รวมถึงของแอนทีคที่ซื้อมาอย่างอาร์มแชร์สไตล์คลาสสิก โต๊ะกลางทรงยุโรป แต่ประดับด้วยผ้าและหมอนปักสไตล์ชนเผ่าอยู่ทุกมุมในบ้าน ส่วนถ้วยและจานลายสวยเป็นของสะสม โดยเริ่มจากเห็นแม่มีจานลายดอกสวยๆ ซึ่งนำมาจากบอสตันสมัยที่เขาไปเรียน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากสะสมจานจากยุโรปบ้าง และมักได้ออกมาอวดโฉมเวลาชวนเพื่อนๆ มาสังสรรค์จิบชากินขนมกัน”  

แบบห้องนั่งเล่น

แบบห้องนั่งเล่น

 

        การออกแบบไม่ได้เป็นเพียงการกำหนดพื้นที่ใช้งานหรือเติมช่องว่างให้เต็ม แต่ยังสามารถเว้นช่องว่างให้เกิด “ระหว่าง” เพื่อปล่อยความสัมพันธ์ของพื้นที่ เวลา คน และความรู้สึกให้ดำเนินไปตามธรรมชาติ อาจเป็นไปตามต้องการบ้างหรืออยู่นอกเหนือความคาดหมายบ้าง เหมือนเช่นผ้าปักที่ฝีเข็มไม่มีทางเหมือนกันสักผืน หรือแสงแดดที่ไม่ซ้ำกันสักวัน  ก็นับเป็นอีกเสน่ห์ของชีวิตที่ไม่มีสมการตายตัว

แบบห้องนอน

แบบห้องน้ำสีขาว

แบบห้องอาหาร

เจ้าของ: ครอบครัวโตวิวิชญ์
ออกแบบ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์

เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, วีระพล สิงห์น้อย
ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล


เรื่องที่น่าสนใจ