Bangkok Art Biennale 2018 (เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018) ได้ดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้ว โดยงานครั้งนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยที่มีผลงงานศิลปะของศิลปินระดับโลกมากมายอาทิ มารีนา อบราโมวิช, ยาโยอิ คุซามะ, ชเว จอง ฮวา และ ฌอง มิเชล บาสเกีย มาร่วมจัดแสดงงานพร้อมกัน ตามสถานที่สำคัญ 20 แห่ง ใน กรุงเทพฯ
วันนี้ baanlaesuan.com ขอพาทุกท่านไปชมภาพเบื้องหลังการติดตั้งผลงานต่างๆแบบ Exclusive ทุกท่านจะได้เห็นว่ากว่าจะมาเป็นงานศิลปะสวยๆให้ได้ทุกคนได้ชมกันนั้นไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยทีมงานจากทั้งไทยและต่างประเทศร่วมมือกันติดตั้งผลงานต่างๆมากมาย
เอาหละ พร้อมแล้ว ไปชมกัน
ผลงานชิ้นแรกที่เราจะพาไปชมเบื้องหลังกันวันนี้ได้แก่ Tape Bangkok 2018 ที่หลายคนตั้งชื่อเล่นให้ว่า “รังไหม” หรือ “อุโมงค์เทปกาว” โดยศิลปินผู้ออกแบบ Numen/For Use Collective Design ได้ส่งทีมงานจากต่างประเทศมาสอนวิธีการติดตั้งให้กับทีมงานไทยอย่างใกล้ชิดที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) (ชั้น 7)
เบื้องหลัง (เครดิตภาพ เมธี สมานทอง)
ผลงานสไตล์มินิมัล ที่อาคาร อีสต์ เอเชียติกของสองศิลปินคู่หู Elmgreen & Dragset ที่ได้ออกแบบผลงานประติมากรรมจัดวาง Zero ที่มีความสูงถึง 8.2 เมตร แน่นอนว่า ผลงานนี้คงไม่สะดวกนักหากสั่งทำจากต่างประเทศแล้วขนส่งมายังประเทศไทย ทั้งคู่จึงวานให้ช่างฝีมือของไทยเราสร้างผลงานชิ้นนี้ พร้อมติดตั้ง ซึ่งงานต้องบอกว่างานช้างพอสมควร ต้องใช้รถเครนมายกกันเลยทีเดียว
เบื้องหลัง (เครดิตภาพ Bangkok Art Biennale 2018)
กล่าวได้ว่าผลงานสามชิ้นนี้เป็นสิ่งที่มหาชนจับตามองมากที่สุดงานหนึ่งใน เทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งนี้ เจ้าแม่ลายจุด ยาโยอิ คุซามะ ได้ส่งทีมงานจากต่างประเทศมาควบคุมการติดตั้งชิ้นงาน (ที่ส่งตรงจากมากญี่ปุ่น) อย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องบอกการติดตั้งนั้นมีรายละเอียดที่เยอะมาก โดยทีมงาน FAV Forward เว็บไซต์ Lifestyle น้องใหม่ในเครือ อมรินทร์ฯ ที่ได้ไปเฝ้าติดตามการติดตั้งงานของ ยาโยอิ คุซามะ ได้เล่าให้ฟังว่า “ไม่ใช่แค่ 1 หรือ 2 วันที่เฝ้าติดตาม บอลลูนฟักทองทั้ง 14 ลูกใช้เวลาหลายวันในการติดตั้ง ด้วยความละเอียดอ่อนของคนญี่ปุ่นกับการใส่ใจในทุกดีเทลไม่ปล่อยหลุดลอย บอลลูนที่เห็นลอยอยู่ ไม่ใช่แค่เป่าลมให้พองแล้วห้อยประดับไว้ แต่เกิดจากการเดินสาย ใส่ไฟ สร้างคานและตัวรองรับภายในจนกลายเป็นฟักทองชิ้นสวยที่ล่องลอยอยู่ในอากาศอย่างที่เห็นภายใต้ชื่อคอลเลคชั่น Inflatable Pumpkins Balloons” ใน ส่วนของ แฟชั่น แกลเลอรี่ 3 ชั้น 1 สยามพารากอน “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin และ Red Pumpkin) นั้นจริงๆ คืนวันติดตั้ง เนื่องด้วยขนาดผลงานใหญ่และหนักมาก ประกอบกับรูปทรงเหลี่ยมไม่มีความยืดหยุ่น จึงผ่านประตูทางเข้าได้ยาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ในการหาวิธีในการเคลื่อนย้ายเข้ามาภายในห้าง โดยที่งานทุกชิ้นต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และพวกเขาก็ทำสำเร็จ ช่วงเวลาที่เรารอติดตั้งตั้งแต่ค่ำคืนจนแสงอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกไปอีกแบบและได้รู้เลยว่าการจะประกอบผลงานแต่ละชิ้นขึ้นมาให้ทุกคนชม มันไม่ใช่เรื่องง่าย”
เบื้องหลัง (เครดิตภาพ / VDO วาระ สุทธิวรรณ และ ธนายุทธ สร้อยสุวรรณ)
‘Your Dog’ อีกผลงานจากศิลปินชื่อดังชาวญี่ปุ่น โยชิโตโมะ นาระ ซึ่งตอนนี้ทักทายผู้ชมอยู่ที่บริเวณด้านนอกของ BAB Box @ One Bangkok ซึ่งต้องบอกว่าการขนส่งมานั้นไม่ได้มีการแยกชิ้นส่วนแต่อย่างใด ทีมติดตั้งยกเจ้าหมาน้อย ความสูง 4.5 มาติดตั้งทั้งตัวอย่างที่จะเห็นได้ในคลิปข้างล่างนี้
เบื้องหลัง (เครดิต VDO วาระ สุทธิวรรณ และ ธนายุทธ สร้อยสุวรรณ)
ผลงาน อาณาจักรสัตว์ในจิตนาการ ‘Animal Kingdom’ ของ จานัน ศิลปินหญิงจากตุรกี ที่ได้ส่งบรรดาสัตว์น้อยใหญ่หลายสิบตัวมาติดตั้งอยู่ที่ BAB Box @ One Bangkok ซึ่งอาณาจักรสัตว์ของเธอนี้กินบริเวณกว้างเกือบ 10 เมตร และ สูงเต่ากับตึก 2 ชั้น ซึ่งการติดตั้งนั้นต้องให้ทีมงานขึ้นนั่งร้านไปจัดวางตามแบบกันเลยทีเดียว
เบื้องหลัง (เครดิตภาพ เมธี สมานทอง)
ผลงานที่เต็มไปด้วยความสนุก ปนการเสียดสีอย่างแสบสันของ เต้ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ หลายคนที่ไปชมมาเลยที่อาคาร อีสต์ เอเชียติก หลายคนถามว่าสัตว์ที่เห็นนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม ซึ่ง ปฏิพัทธิ์ได้เล่าเกี่ยวกับเบื้องหลัง ว่า สัตว์ในงานของเขานั้นผ่านกระบวนการสตัฟฟ์ โดยเขาเริ่มจากไปซื้อหาสัตว์(ที่ตายมาตั้งแต่แรกแล้ว) จากท้องตลาด แล้วไปทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในห้องแล็ปที่ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้คงรูป และ ไม่เน่าเปื่อย เมื่อเสร็จกระบวนการจากห้องแล็ปแล้ว ปฏิพัทธิ์จึงจะเริ่มทำงานต่อจากนั้น วันนี้เราคลิป VDO ที่ทางทีม baanlaesuan.com และ ทีม บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมสตูติโอชมเบื้องหลังการทำงานของ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ มาฝากกันครับ
เบื้องหลัง (เครดิตภาพ ณัฐวัฒน์ ส่องแสง)
เห็นเบื้องหลังขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่ลองไปชมสักครั้ง คงน่าเสียดาย และหากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มชมงานชิ้นไหน ที่ใดก่อน เริ่มต้นศึกษาจาก 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ได้เลย
เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์