คนรักชาทั้งหลายจงมารวมตัวกันที่งาน บ้านและสวนแฟร์ select 2019
คุณจิรพรรณ โตคีรี นักออกแบบเจ้าของ ทัชเอเบิล (TOUCHABLE) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และโคมไฟที่โดดเด่นเรื่องการใช้งาน 1 ใน 5 นักออกแบบจากสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (Design and Objects Association) ที่มาร่วมกับนิตยสาร room สร้างสรรค์พื้นที่สะท้อนตัวตนให้กับแขกรับเชิญพิเศษจากต่างสาขาอาชีพ ในนิทรรศการ “The Secret of Showroom Making” ที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Real Life Galleria’
Architect’s Life Galleria คือคอนเซ็ปต์ของคุณจิรพรรณ ในการเลือกออกแบบพื้นที่ให้ คุณป้อง-วุฒิชัย หาญพานิช สถาปนิกที่ผันตัวเองไปทำธุรกิจสปา หรือที่รู้จักกันได้ในฐานะเจ้าของแบรนด์ HARNN ที่ผลิตสินค้าสปาและอโรมาเธอราพีจากธรรมชาติรายแรกของไทย ซึ่งเขายังเป็นนักสะสมตัวยง และเป็นที่รู้กันดีในหมู่คนที่สนิทว่าบ้านของคุณป้องนั้นเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมได้เลย
“เราปลื้มพี่ป้องตรงที่แบรนด์เขามีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนมาก ซึ่งก็ได้มาจากการที่เขานำความเป็นสถาปนิกมาใช้กับแบรนด์ตั้งแต่ดีเทลของโครงสร้างประตู หน้าต่างในร้าน ไปจนถึงตัวแพ็กเกจซึ่งมีจิตวิญญาณของความเป็นเอเชียสูงมาก เราชอบไลฟ์สไตล์ของเขาด้วยว่าเขากินอยู่ยังไง เขาใช้ชีวิตแบบไหน และรู้ว่าเขามีของสะสมเยอะมาก ตั้งแต่ชิ้นใหญ่ ๆ อย่างพระพุทธรูปสมัยหลายร้อยปี ตู้พระธรรมต่างๆ งานศิลปะ แต่เราหยิบจับนำไลฟ์สไตล์ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องความชื่นชอบของตัวเขา และความชื่นชอบของเราด้วยนั่นก็คือ การชงชา มานำเสนอ” เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับสถาปนิกรุ่นพี่
ชุดชงชาที่เป็นของสะสมของคุณป้องที่มีอายุกว่า 100 ปี จึงถูกนำมาใช้เป็นของตกแต่งหลัก ๆ หลักในพื้นที่ห้องทำงาน แบบจำลองที่คุณจิรพรรณเป็นผู้ออกแบบขึ้น
“คอลเล็กชั่นสำหรับการชงชาที่นำมาจัดแสดง จะมีลักษณะเป็นเส้นสายนิ่ง ๆ สีน้อย ๆ ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ของพี่ป้อง แล้วการชงชามันเป็นศาสตร์มานานพันปี การชงชาไม่ใช่แค่การหยิบจับชามาใส่ เอาน้ำร้อนเทแล้วดื่มได้เลย แต่ต้องมีการเตรียมน้ำ สมัยก่อนต้องใช้น้ำฝน รอไว้ให้น้ำนิ่งแล้วค่อยนำมาใส่ในกา มันมีขั้นตอนกระบวนการที่มีรายละเอียด เพราะฉะนั้นเราคงจะมีเรื่องราวไว้เล่าสั้น ๆ ว่าชุดชานี้ประกอบด้วยแก้วกี่ชุด แต่ละชุดมีวิธีการใช้ยังไงให้ผู้ที่มาชมงานสามารถอ่านแล้วพอจะจินตนาการได้ว่า เวลาฉันจะชงชาบ้าง ฉันจะทำยังไง มันน่าสนุกนะ ฉันน่าจะไปซื้อแบบนี้มาบ้าง”
ด้วยคาแรกเตอร์ของความเป็นเอเชียที่มาจากชุดชงชา ทำให้คุณจิรพรรณคัดสรรเฟอร์นิเจอร์ที่มีกลิ่นอายไปในทิศทางเดียวกัน มาสำหรับจัดพื้นที่ซึ่งสะท้อนความเป็น Architect’s Life Galleria ได้อย่างชัดเจน
“เราใช้ชั้นวางชุดชาที่มีลักษณะเป็นโต๊ะแบบจีน เป็นโต๊ะที่มีดีเทลน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ไปแย่งซีนของชุดชานั้น รวมถึงนำเครื่องประดับจากแบรนด์ SaPrang (สพรั่ง) ที่ใช้ทองเหลืองมาทำเป็นดอกไม้ นำมาทำเป็นโต๊ะดื่มชา ก็จะได้อารมณ์ความเป็นเอเชีย นอกจากนี้เราก็มาคิดต่อว่าตัวเองเป็นคนชอบต้นไม้ เพราะฉะนั้นมันคงรู้สึกดีมากถ้าเราได้ดื่มชาในสวนเล็ก ๆ ก็น่าจะเป็นบรรยากาศห้องทำงานที่สถาปนิกสามารถมาชงชา มาจิบชา และคิดงานออกมาได้” เธออธิบายถึงองค์ประกอบของห้องที่หยิบยกข้าวของเครื่องใช้ขึ้นมาตกแต่งตามการใช้งานของคุณวุฒิชัย
ห้องทำงานนี้จึงเปรียบเสมือนแกลเลอรี่ที่แสดงของสะสมสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้าน และยังสามารถหยิบชาขึ้นมาชงได้อย่างสะดวกสบาย สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน สำหรับใครที่ชอบชงชาอยู่แล้วก็สามารถมาชมและนำไอเดียในการจัดการพื้นที่นี้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตัวเองได้ แล้วพบกันที่ งานบ้านและสวนแฟร์ select 2019 ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2562 ตั้งแต่เวลา 9.30 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
REAL LIFE GALLERIA เปลี่ยนทุกพื้นที่ ให้เป็นแกลลอรี่ของชีวิต ในความคิดของ จิรพรรณ โตคีรี
“ถ้าจะจัดบ้านสักมุม แนะนำว่าให้เราดูเรื่องฟังก์ชันก่อนว่าพื้นที่ไหนที่เราใช้บ่อย บางคนอาจจะเป็นห้องนั่งเล่นที่สมาชิกในครอบครัวจะมาอยู่ด้วยกัน ก็ต้องทำให้พื้นที่ตรงนั้นมันนั่งสบาย มีโซฟาตัวใหญ่ ๆ นอนดูทีวีได้สบาย อยู่ได้ทั้งวันโดยไม่เบื่อ หรือบางคนชอบทำครัวก็ต้องดูว่าครัวของเรามันสบายไหม มันสะดวกและทำให้เราสนุกกับการทำอาหารรึเปล่า หรือห้องนอนเราก็ควรจะมีที่นอนดี ๆ ที่ทำให้เราหลับสบาย คือเน้นเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งานมาก่อน
“ส่วนเรื่องดีไซน์มันคงมาเป็นรอง สีสันของห้องมันก็สไตล์ของแต่ละคน บางคนชอบสีน้อย ๆ นิ่ง ๆ บางคนก็ชอบสีคัลเลอร์ฟูล เรื่องความสวยงามมันอยู่ที่คาแร็กเตอร์ของเจ้าของบ้านแต่ละคนว่าจะดึงความสนใจของตัวเองส่วนไหนมานำเสนอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ต้องการอะไร และออกแบบพื้นที่นั้นให้เราอยู่แล้วรู้สึกสะดวกสบาย”
อ่านต่อ : THE SECRET OF SHOWROOM MAKING นิทรรศการที่จะเผยเคล็ดลับการตกแต่งมุมโปรดให้สวยในแบบของตัวเอง ในงานบ้านและสวนแฟร์ select 2019
เรื่อง : จรัลพร พึ่งโพธิ์
ภาพ : นันทิยา