“ฝุ่น PM 2.5 จะไม่จากไปไหน” ด้วยสภาวะอากาศที่ปกคลุมด้วยฝุ่น PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ที่วัดได้สูงถึง 222 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ณ จุดวัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน) นับว่าเป็นวิกฤตการณ์ของสภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตัวให้สังคมเป็นวงกว้าง จนต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่นอันเป็นมลภาวะทางอากาศที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ
ความร้อนแรงของปัญหาฝุ่นยังคงเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการ แม้ว่าช่วงเวลาที่ปริมาณฝุ่นที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานจะเป็นเพียงห้วงเวลาสั้นๆ ไม่มีค่าเสถียร และคาดว่าจะลดลงเมื่อเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน แต่ “PM 2.5 จะไม่จากไปไหน” ฝุ่นโมเลกุลขนาดเล็กเหล่านี้จะยังคงลอยฟุ้งอยู่ในชั้นบรรยากาศและจะกลับมาเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนในปีถัดไป การคาดคะเนล่วงหน้าที่มีภาพปรากฏค่อนข้างชัดเจน ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาในระยะยาว ตั้งต้นจากการหาสาเหตุแม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงจุดจบของ PM 2.5 ที่แน่ชัดก็ตาม
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงกลายประเด็นในการสัมมานาสาธารณะวิชาการ TGWA ครั้งที่11 ในหัวข้อ “ข้อมูลใหม่-มลพิษอากาศ PM 2.5 ของประเทศไทย : กลไกและแนวทางแก้ไข” ผ่านข้อมูลของนักวิชาการได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ราชบัณฑิตและประธานสถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย (TGWA) ผู้ช่วยศาสตราจารย์.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณะบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งสองท่านได้ทดลองเก็บข้อมูลจากสถานการณ์ฝุ่นปกคลุมกรุงเทพฯจนค้นพบสาเหตุที่ทำให้ทั้งเมืองมีสภาพอากาศเข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้
1 เกิดปรากฏการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ ทำให้ฝุ่นลอยค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศนานขึ้น ซึ่งลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับนี้ เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ลักษณะคล้ายกับมีฝาชีครอบกรุงเทพฯไว้ ฝุ่นละอองจึงลอยตัวอยู่ในอากาศ ไม่เคลื่อนที่ไปไหน เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ คงอยู่หลายวันและอาจยาวนานถึง 2 สัปดาห์ ในช่วงเวลาที่เกิด”วิกฤติทางอากาศฝาชีครอบ” ฝุ่น PM 2.5 จะไม่มีการเคลื่อนตัวและสะสมอยู่ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีค่าเข้มขึ้น ลอยอยู่ในระดับต่ำ ดูคล้ายหมอกแต่อากาศร้อนอบอ้าว
ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับนี้ส่งผลให้มีความเร็วลมที่ใกล้พื้นดินน้อยมาก ความเร็วลมยิ่งสูงฝุ่นก็ยิ่งลดกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน ตั้งแต่ 19.00-07.00 น.หากปรากฏการณ์นี้เจือจางจะมีลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาในพื้นที่ และกระแสลมจะพัดฝุ่นไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างที่ปรากฏที่เชียงใหม่และขอนแก่น
ไปรู้จักอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ
2 อาคารสูงมีความเสี่ยงมากกว่าที่พักอาศัยแนวราบ จากการทดสอบติดตั้งเครื่องตรวจจับปริมาณฝุ่นละอองในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-07.00 น. ตามธรรมชาติฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศตกลงที่พื้นดินในช่วงเวลากลางคืน แต่ปรากฏการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับที่เกิดขึ้นทำให้ฝุ่นลอยตัวสูงขึ้นและลอยต่ำลงในช่วงเช้า จึงทำให้เห็นปริมาณฝุ่นจำนวนมากในช่วงเช้าของวัน เหตุการณ์นี้จึงส่งผลโดยตรงกับกลุ่มผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ตึกสูง ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าผู้อยู่อาศัยในบ้านแนวราบอย่างบ้านชั้นเดียวหรือบ้านสองชั้น
3 แหล่งกำเนิดฝุ่นมาจาก 6 แหล่ง สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มีแหล่งที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ คือ จากรถยนต์ 55% จากโรงงาน 15% จากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง 14% จากฝุ่นละอองทั่วไปและงานก่อสร้าง 9% จากฝุ่นข้ามพรมแดน 6% ฝุ่นจากดินและถนน 1% เป็นที่น่าสนใจว่า 55% จากรถยนต์นั้นไม่ได้มาจากแค่การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์กระทั่งทำให้เกิดปัญหาเขม่าควันดำและไอเสียดีเซลเท่านั้น แต่ยังเกิดจากจานผ้าเบรกรถยนต์ที่เกิดขึ้นในขับเคลื่อนรถยนต์ ซึ่งดร. ธนวัฒน์ ให้ความเห็นว่าเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ อย่างช่วงเวลาที่การจราจรติดขัดค่อยๆ เคลื่อนตัว รถจำนวนมหาศาลต่างเหยียบเบรกและก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ทั้งสิ้น
4 ต้นไม้ช่วยได้จริง ต้นไม้เป็น Green Technology ที่มีระบบการทำงานช่วยแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศด้วยกัน 3 กระบวนการ คือ
-ป้องกันแนวลม ต้นไม้ที่นิยมปลูกเป็นแนวรั้วบ้าน เช่น อโศกอินเดีย สนประดิพัทธ์
-สร้างระบบหมุนเวียนอากาศในกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหารของต้นไม้ ทำให้อุณหภูมิรอบต้นไม้เย็นลง และเมื่อความร้อนเคลื่อนตัวเข้าหาอากาศเย็น เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศเป็นลมพัดเย็นๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการพัดฝุ่นละอองให้เคลื่อนที่
-จับฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบหนา หยาบสาก มีขน เช่น ตะขบ ทองอุไร เสลา
ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าการปลูกต้นไม้เพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องมีต้นไม้จำนวนมาก จึงจะก่อให้เกิด Green Innovation อย่างเต็มระบบ
ขณะเดียวกันยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากเวที ประชุมเชิงปฏิบัติการออกแบบเพื่อแก้ไขมลภาวะPM 2.5 โดยสถาปนิก ได้แก่ หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกบริษัท Vin Varavarn Architects คุณรัฐ เปลี่ยนสุข สถาปนิกและนักออกแบบ Sumphat Gallery คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกบริษัท Shma และคุณอรรถพร คบคงสันติ ภูมิสถาปนิกบริษัท Trop ร่วมด้วยนักวิชาการ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ดร.เจน ชาญณรงค์ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม คุณบุศราศิริ ธนะ และรองศาสตราจาย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต ร่วมหารือ โดยมี คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารบ้านและสวน เป็นผู้ดำเนินรายการ ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจากเวทีนี้คือ
5. แนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดปัญหาเขม่าควันรถ คุณอรรถพรเสนอแนวคิดว่า เป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้ในพื้นที่กรุงเทพฯตามแนวรถไฟฟ้าจะเต็มไปด้วยคอนโดมิเนียมและตึกสูง ซึ่งตรงนี้ยังมีกฎหมายบ้างข้อที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ อย่างการกำหนดให้แนวรั้วมีระยะจากอาคารอย่างน้อย 6 เมตร และห้ามมีสิ่งกีดขวาง ทำให้ถูกจำกัดในเรื่องพื้นที่มีขนาดเล็ก เป็นเหตุให้สวนของโครงการถูกจำกัดลงด้วย แต่หากถ้ารัฐบาลและเอกชนร่วมมือกัน มีนโยบายให้โครงการคอนโดมิเนียมปรับเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวให้อยู่หน้าโครงการและแต่ละโครงการเปิดรั้วให้สวนเชื่อมถึงกัน เป็นทางเดินคาดยาว เปิดเป็นทางเดินสาธารณะให้คนภายนอกได้ใช้งานแทนพื้นที่ฟุตปาธเดิมที่ไม่เอื้อต่อการเดิน จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพได้อีกทาง ซึ่งตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น
6 มองให้เห็นถึงจุดจบของปัญหาฝุ่น PM 2.5 แม้ว่าเราจะรู้ต้นตอสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศที่เคยเผชิญปัญหานี้และมีการแก้ไขอย่างจริงจังมาแล้ว แต่สำหรับในเมืองไทยยังคงมีคำถามถึงวิธีจัดการฝุ่นเหล่านั้นว่าแบบไหนที่เรียกว่าได้ผลดีที่สุด จะกำจัดออกจากบ้านได้อย่างไร ในเมื่อถอดเครื่องฟอกอากาศที่ดักจับฝุ่นไว้ออกมาทำความสะอาด ฝุ่นก็กระจายตัวและลอยกลับมาในอากาศเช่นเดิม คำถามเหล่านี้ยังคงต้องหาทางแก้ไขต่อไป
7 จุดเล็กๆ เริ่มจากบ้านของเราก่อน อีกข้อเสนอแนะที่น่าสนใจซึ่งเสนอโดยหม่อมหลวงวรุตม์ว่า หากแก้ปัญหาตั้งแต่ที่บ้านของตัวเอง เช่น ปลูกต้นไม้ หรือเสียสละพื้นที่ฟาซาดอาคารมาทำเป็นกรีนวอลล์ เปลี่ยนดาดฟ้าเป็นสวน เพื่อลดแสงสะท้อน ซึ่งหากอยากให้เกิดขึ้นได้จริงก็มีอยู่ 3 ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้สวย วิธีทำให้ง่าย และทำอย่างไรให้ราคาถูก เพื่อให้คนทั่วไปเอื้อมถึงจึงจะสร้างได้จริง อีกประเด็นคือหากเจ้าของบ้านยอมเสียสละพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านแล้ว พวกเขาจะได้อะไรกลับมา เป็นไปได้ไหมที่ทำแล้วจะได้รับการลดหย่อนภาษีเพิ่ม ก็เป็นคำถามที่ฝากไปถึงรัฐบาล เช่นเดียวกับคุณเจรมัยที่ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายไว้ว่า “อยากให้ประชาชนทำอะไรได้บ้าง ถ้าเกิดพวกเขาอยากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน เขาอาจอาสาปลูกต้นไม้หนึ่งต้นในบ้านของพวกเขา แม้จะแค่ต้นสองต้นแต่เราอย่าเพิ่งไปห้ามว่ามันจะไม่ช่วยอะไร ต้องให้เขาทำไปเรื่อยๆ ซึ่งเขาอาจปลูกหลายๆ ต้นก็ได้ รวมกันหลายๆ บ้านอาจกลายเป็นสวนหย่อมเล็กๆ แบบเดียวกับแนวคิดของคุณอรรถพร เจ้าของบ้านสองสามหลังอยู่ติดกัน เปิดรั้ว แชร์ต้นไม้ที่ปลูกบริเวณหน้าบ้านของเขา ก็จะเกิดเป็นการหวงแหนสวนที่พวกเขาสร้างขึ้น อย่างน้อยๆ ควรลงมือทำอะไรสักอย่าง ดีกว่านั่งรอโดยที่ไม่ทำอะไรเลย”