บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก ที่เล่าเรื่องไทยอีสานสมัยใหม่ในบริบทเดิม
บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก สไตล์พื้นถิ่นไทยอีสานรูปแบบสมัยใหม่ที่กลมกลืนไปกับบริบทของสิ่งแวดล้อมแบบชนบท ของคุณปิแอร์ เวอร์เมียร์ ที่อยู่เมืองไทยมาได้ 6 ปีแล้ว จึงคุ้นเคยกับวิถีแบบไทยและติดใจในความเป็น “บ้านนอกที่อบอุ่น” ในจังหวัดอุดรธานีแห่งนี้ ที่ตั้งของบ้านนี้คือบริเวณบ้านเดิมของ คุณนิตยา สำแดง คู่รักของคุณปิแอร์ เมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงบ้าน จึงถือโอกาสสร้างใหม่ทั้งหลังเสียเลยโดยมี คุณเล็ก – กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล รับหน้าที่ออกแบบ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spacetime Architects
“โจทย์ของเราคืออยากได้บ้านไทยอีสาน ที่ไม่ใช่แค่เลียนแบบอาคารพื้นถิ่น แต่ต้องเป็นบ้านที่กลมกลืนไปกับบริบทของสิ่งแวดล้อมจริงๆ เชื่อมโยงผู้อยู่อาศัย กับชุมชน บอกเล่าและแบ่งปันชีวิตซึ่งกันและกันได้ เป็นบ้านที่เหมาะกับช่วงอายุ ของเราซึ่งเริ่มสนใจคุณภาพของการใช้ชีวิตมากกว่าการโหมงานหนัก” บ้านไม้ในโครงสร้างเหล็ก
คุณเล็ก-กรรณิการ์ แห่ง บริษัทสถาปนิก สเปซไทม์ จำกัด เล่าเสริมให้ฟังต่อว่า “อยากได้บ้านไทยๆ หลังไม่ต้องใหญ่มาก และชอบไม้ นี่คือสิ่งที่คุณ ปิแอร์บอกกับเราตอนคุยกันครั้งแรก เอาจริงๆ รู้สึกว่าการได้ทำบ้านไทยแนวชนบทเป็นลักษณะบ้านที่เป็นตัวของเราเองมากกว่าการออกแบบบ้านในรูปแบบอื่น จึงคุยกันง่ายและให้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างจะตรงใจกัน”
ชั้นล่างของบ้านเป็นส่วนรับแขกและครัวมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน ให้บรรยากาศคล้ายใต้ถุนบ้านไทย มีบันไดโปร่งอยู่กลางบ้าน ห้องครัวด้านหน้า และระเบียงรายรอบ ผนังเป็นกรอบโครงคร่าวที่ใช้วัสดุเพียง 3 ชนิด คือ ผนังไม้ซ้อนเกล็ด กระจกบานเกล็ด และแผ่นซีเมนต์บอร์ด การวางผังที่โล่งในแบบฉบับบ้านไทย มีหน้าต่างประตูที่เปิดให้ลมพัดผ่านได้สะดวก ทำให้พื้นที่นี้ดูร่มเย็น บ้านไทยอีสาน
““เราใช้วัสดุและวิธีการที่แทบไม่แตกต่างจากบ้านในบริบทโดยรอบ นอกจากความเหมาะสมในแง่งบประมาณ แหล่งวัสดุ และขั้นตอนการก่อสร้างแล้ว ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นคือ บ้านหลังนี้ดูกลมกลืนกับชุมชนได้ดี”
ความโปร่งคือหัวใจสำคัญของบ้านพื้นถิ่นไทย นอกจากจะสบายตาแล้ว ยังช่วยให้กระแสลมในบ้านพัดผ่านได้ดี จากภาพจะเห็นว่าทั้งบันไดแบบบาง (แต่ไม่บอบบาง) โถงทางเดินหลังคาสูง ไปจนถึงระเบียงหลังบ้านล้วนไม่กีดขวางทางลม ทำให้ทั้งบ้านอยู่ในสภาวะน่าสบาย ไม่ร้อนอับ
ผลลัพธ์ที่ได้เป็นสิ่งที่ตรงใจคุณปิแอร์ เพราะบ้านหลังนี้ช่างกลมกลืนไปกับสังคมชนบทเสียจริง ไม่ว่าจะเป็นรั้วบ้านที่มองเห็นกันได้ระหว่างภายในกับภายนอกบ้าน ชานระเบียงต่างๆ ที่ทำให้การใช้ชีวิตมีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก หรือแม้กระทั่งลานหน้าบ้านที่มักกลายเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ ในละแวกบ้าน
โครงสร้างหลักของบ้านหลังนี้เลือกใช้โครงเหล็ก H-Beam แล้วนำองค์ประกอบของบ้านไทยในพื้นถิ่นเข้ามาประกอบ รายละเอียดส่วนต่อเชื่อมต่าง ๆ ของโครงสร้างบ้านจึงไม่เหมือนใคร เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำความเข้าใจรอยต่อระหว่าง “บ้านพื้นถิ่น” กับ “บ้านสมัยใหม่” เพราะสาระสำคัญของการ มีบ้านคือ ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบายทั้งทางกายและใจ
ชานระเบียงทางเดินรอบบ้านและชายคาซึ่งความจริงคือโครงสร้างของชั้นสองที่ยื่นคลุมออกมาตามระยะชาน เป็นการสร้างพื้นที่ร่มเงาให้แดดสาดเข้าไปไม่ถึงบริเวณด้านใน หนึ่งในเคล็ดลับการออกแบบบ้านไทย สุดปลายทางเดินคือห้องน้ำที่ตั้งไว้นอกบริเวณที่พักอาศัย แต่เดินถึงได้โดยยังอยู่ใต้ชายคาระเบียงชั้นสอง
“มันไม่เหมือนกันเลยนะเมื่อเทียบกับการมีบ้านในกรุงเทพฯแล้วมาเที่ยวอุดรฯ กับมีบ้านที่อุดรฯแล้วเวียนไปทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างหลังมันให้ความรู้สึกว่ามีบ้านชนบทรอให้กลับไป เป็นชีวิตอีกด้านที่สงบกว่าความวุ่นวายในเมือง”
คุณปิแอร์เล่าว่าตอนนี้เขาจะขึ้นมาที่อุดรธานีเดือนละ 2 – 3 ครั้ง แต่ ในอนาคตอาจมาอยู่ประจำที่นี่เลย เขาสนุกกับการขี่มอเตอร์ไซค์ไปตลาดใกล้ๆ ชอบเข้าครัวทำอาหารและชวนเพื่อนบ้านมากิน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน บางครั้งก็มีเพื่อนจากต่างประเทศแวะมาเยี่ยมด้วย ฟังดูอาจคล้ายคำว่า “สโลว์ ไลฟ์” ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ แต่ผมอยากจะเรียกให้สั้นกว่านั้น เหลือแค่ “ไลฟ์” เพราะนี่คือชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ “ตั้งใจจะมีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย คำว่าชีวิตมันไม่ใช่ของเราคนเดียวนะ แต่รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและสังคมด้วย ก็ถือเป็นรูปแบบเฉพาะ ที่อบอุ่นของบ้านไทยอีสาน บ้านหลังนี้ทำให้ผม ‘Touch to the countryside’ อย่างที่ควรจะเป็น” คุณปิแอร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
ผู้ช่วยช่างภาพ : ธรรมวิทย์ หวังกิจสุนทร