รอยร้าว เป็นสิ่งที่มักมาคู่กับบ้านเมื่อมีอายุการใช้งานไปสักระยะเวลาหนึ่ง ทว่าเจ้าของบ้านส่วนใหญ่กลับละเลยและไม่ซ่อมแซมรอยร้าวเหล่านี้ ด้วยคิดว่าไม่เป็นอันตรายและไม่อยากสิ้นเปลืองค่าซ่อมแซม แต่คุณทราบหรือไม่ว่า รอยร้าว บางลักษณะก็เป็นการเตือนล่วงหน้าถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบ้าน เนื่องจากเป็นรอยร้าวที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคารโดยตรง หากปล่อยทิ้งไว้นานเข้าอาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้บ้านถล่มได้เลย วันนี้จะพาไปดูรอยร้าวที่เราพึงระวังเมื่อพบเห็นในบ้านครับ
รอยร้าวบนคาน
รอยร้าว กลางคานรูปตัวยู (U) และรอยร้าวแนวเฉียง 45 องศาบริเวณริมคาน เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้คานแอ่นและดันผนังใต้คานให้เกิดรอยร้าวแนวดิ่งตามมาด้วย
การแก้ไขเบื้องต้นควรย้ายของที่อยู่เหนือคานออก เพื่อลดน้ำหนักกดทับ แล้วใช้เหล็กค้ำยันเพื่อช่วยแบ่งเบาน้ำหนัก จากนั้นให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบเพื่อเสริมคาน
รอยร้าวแนวเฉียงกลางผนัง
เป็นรอยร้าวเฉียง 45 องศาบนผนัง สาเหตุเกิดจากเสาใดเสาหนึ่งเกิดทรุดตัว และดึงให้ผนังที่ติดกับเสาเกิดรอยร้าว หากดูจากแนวรอยร้าวก็จะรู้ว่าเสาต้นใดเป็นตัวดึงให้ผนังฉีกออกจากกัน ถ้าพบให้ตรวจสอบความกว้างและความยาวของรอยร้าวนั้น ถ้าไม่มีการขยายเพิ่มขึ้นมากก็อาจยังไม่เป็นอันตราย แต่หากมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ แสดงว่าอาการเริ่มหนักแล้ว ยิ่งถ้าลามไปทั้งอาคารด้วยแล้วอาจทำให้อาคารถล่มได้เลย
การแก้ไขค่อนข้างยุ่งยาก อาจต้องเสริมเสาเข็มและฐานราก หรือใช้วิธีดีดบ้าน (ยกบ้านขึ้นชั่วคราว) แล้วทำฐานรากใหม่ หากปล่อยให้เกิดรอยร้าวลักษณะนี้ทั้งอาคาร อาจต้องทุบทิ้งทั้งหมดเลยนะครับ เพราะแก้ไขไม่ทันแล้ว
รอยร้าวบนเพดาน
ลักษณะเป็นเส้นตรงหรือเป็นรอยกากบาทร้าวเข้าหาเสา 4 เสา เกิดจากการที่พื้นรับน้ำหนักบรรทุกมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้พื้นถล่มลงมาทั้งแผงได้
การแก้ไขเบื้องต้นควรย้ายของที่อยู่ชั้นบนออกก่อน ถ้ารอยร้าวนั้นยังมีการลุกลามอาจเกิดจากการคำนวณการรับน้ำหนักที่ไม่ดีมาตั้งแต่ต้น ให้หยุดใช้พื้นที่ชั้นบนและชั้นล่างจนกว่าจะมีการตรวจสอบ โดยอาจต้องเสริมโครงสร้างเสาและคาน หรือเปลี่ยนโครงสร้างพื้นใหม่
รอยร้าวบนเสา
มีหลายลักษณะ เช่น รอยร้าวแนวดิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณโคนเสา เกิดจากการที่เสารับน้ำหนักได้ไม่ดีพอ หรือรับน้ำหนักมากเกินไป รอยร้าวแนวเฉียง 45 องศา เกิดจากการรับแรงเฉือนจากการที่อาคารเกิดการทรุดตัวไม่เท่ากัน รอยร้าวแนวนอนบริเวณต้นเสาและโคนเสา เกิดจากการรับแรงบิดกับแรงเฉือน อันมีสาเหตุมาจากการที่คานยื่นออกจากเสามากเกินไป และรอยร้าวในเสาที่เกิดจากการที่เหล็กข้างในเสาเป็นสนิม เสามีเนื้อพรุนเป็นโพรง และเสามีความหนาที่หุ้มเหล็กน้อยเกินไป แต่ไม่ว่าแบบไหนก็อันตรายทั้งนั้นครับ
การแก้ไขถ้าเกิดจากการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ให้กะเทาะปูนด้านนอกและขัดสนิมออก แล้วใช้ปูนเกราต์ (Grout) กำลังสูงฉาบปิดผิว แต่ถ้าเสารับน้ำหนักไม่ไหว อาจต้องเสริมเหล็กเสาเพิ่มด้วย
รอยร้าวบริเวณรอยต่อของส่วนต่อเติม
รอยร้าวแนวดิ่งที่ด้านบนกว้างกว่าด้านล่างใกล้กับเสาและคาน เกิดจากการที่ฐานรากส่วนต่อเติมมีการทรุดไม่เท่ากันกับฐานรากส่วนอาคารเดิม หรือใช้เสาเข็มสั้นเกินไปทำให้อยู่ไม่ลึกถึงชั้นดินแข็ง การ
แก้ไขทำได้โดยเสริมเสาเข็มและฐานราก หรืออาจต้องรื้อส่วนต่อเติมทำใหม่เลยหากมีการทรุดตัวมาก
นอกจากนี้ยังมีรอยร้าวอีกหลายลักษณะทั้งที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย แต่อยากให้ลองสังเกตรอยร้าวที่เกิดขึ้นบริเวณโครงสร้างหลัก ได้แก่ คาน เสา และเพดาน หากมีรอยร้าวเกิดขึ้น แล้วเริ่มลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ นั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่ใกล้เข้ามา ทั้งนี้ไม่ควรซ่อมแซมด้วยการซ่อมปกปิดรอยร้าวแบบง่าย ๆ เพราะไม่ได้ช่วยให้คนในบ้านปลอดภัยมากขึ้นเลย หากไม่แน่ใจลองปรึกษาวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญทันทีนะครับ ด้วยความเป็นห่วงจากทีมงาน “บ้านและสวน”
เรื่อง : ณัฐภูมิ พงษ์เย็น
ภาพ : oic studio