หากใครกำลังเบื่องานบิลท์อิน เฟอร์นิเจอร์แบบเดิมๆที่ดูยึดติดกับผนังและมีรูปแบบหนาเทอะทะไม่น่าใช้งาน ทราบไหมว่าเราออกแบบ เฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน ให้สวยงามและน่าใช้งานได้ แถมบางครั้งยังให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอีกด้วย ช่วยสร้างบรรยากาศและความรู้สึกดีๆให้บ้านน่าอยู่มากขึ้น
ลองมาดูงานออกแบบบิลท์อินที่ไม่ธรรมดา เพราะแฝงด้วยซิกเนเจอร์และสะท้อนสไตล์ของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ลองมาทำรู้จักการคิดราคาคร่าวๆของเฟอร์นิเจอร์ประเภทนี้ เพื่อให้คุณได้ประเมินค่าใช้จ่ายให้เหมาะกับงบประมาณที่มีกันค่ะ
1. หีบเก็บรองเท้าสุดชิก
บ้านคุณเฉลิมวงศ์ – คุณสุทธิดา วีรังคบุตร
ตู้เก็บรองเท้าแบบเดิมๆดูน่าเบื่อเกินไป ลองปรับเป็นตู้ลิ้นชักหลากสี บิลท์อินเต็มผนังจากพื้นจรดเพดาน เพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แถมได้ผนังที่มีเอกลักษณ์และสร้างความน่าสนใจให้บ้าน เพิ่มลูกเล่นด้วยการทำลิ้นชักแต่ละชั้นให้มีโทนสีต่างกัน หน้าบานลิ้นชักบุหนังหลากสีคล้ายกระเป๋าเดินทางแบบโบราณ
ควรออกแบบตู้เก็บรองเท้าให้มีความลึกประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ส่วนเรื่องขนาด (กว้าง ยาว และสูง) ก็ดูให้เหมาะกับขนาดพื้นที่ที่ต้องการทำบิลท์อิน
2. ซ่อนไว้ในตู้โทรศัพท์
บ้านคุณพงศ์ภาภรณ์ ธรรมศุภพงษ์
ใครจะรู้ว่าภายในตู้หน้าตาเลียนแบบตู้ โทรศัพท์อังกฤษสุดเก๋นี้คือตู้เก็บเครื่องซักผ้าและชั้นวางของที่บิลท์อิน จากพื้นสูงจนเกือบสุดฝ้าเพดาน โครงทำจากไม้จริงพ่นสีขาว คุมโทนสีเดียวกับภาพรวมของสไตล์ห้อง หน้าบานตู้กรุกระจก ช่วยให้ห้องดูกว้างและไม่ทึบตัน ในตู้ซ่อนเครื่องซักผ้าไว้ด้านล่าง ส่วนด้านบนทำเป็นชั้นเก็บอุปกรณ์และน้ำยาซักรีด เรียกว่าหน้าตาดี แถมมากด้วยฟังก์ชันอีกต่างหาก
Tip การซ่อนเครื่องซักผ้าไว้ในตู้ ควรคำนึงถึงตำแหน่งของงานระบบสุขาภิบาล เช่น ตำแหน่งของท่อน้ำดีและน้ำทิ้ง ติดก๊อกน้ำที่ระดับความสูงประมาณ 60-90 เซนติเมตร สำหรับต่อสายอ่อนเข้าสู่ตัวเครื่องซักผ้า ส่วนท่อน้ำทิ้งทำช่องเป็นหลุมสำหรับวางสายน้ำทิ้ง ควรทำฐานสำหรับวางเครื่องซักผ้าสูงประมาณ10 เซนติเมตรจากพื้นห้อง จะช่วยลดเสียงและแรงสั่นสะเทือนจากตัวเครื่อง
3. โซฟามากฟังก์ชัน
ไอเดียนี้เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด หรือต้องการกั้นพื้นที่ให้ดูไม่ทึบตัน ด้วยการทำโซฟาบิลท์อินบุผ้าและโต๊ะรับประทานอาหารให้ยาวต่อเนื่องกัน โดยกำหนดความยาวให้สัมพันธ์กับขนาดของห้อง อย่าลืมเช็กระดับความสูงของเคาน์เตอร์ให้สามารถสอดเก้าอี้เข้าใต้ เคาน์เตอร์ได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ ซึ่งความสูงที่เหมาะสมคือประมาณ 75 เซนติเมตร หากไม่ชอบท็อปโต๊ะไม้ อาจดัดแปลงใช้วัสดุอย่างอื่นได้ เช่น หินเทียม ลามิเนต วีเนียร์ ฯลฯ ทีนี้จะนั่งรับประทานอาหาร นั่งชิลบนโซฟา หรือดูทีวีไปพร้อมๆกันก็ทำได้สะดวกสบาย
4. ทีวีในเตาผิง
บ้านคุณเกษมธรรม สอนส่ง
เปลี่ยนหน้าตาตู้วางทีวีแบบกล่องๆให้คล้าย มุมนั่งเล่นอิงเตาผิงแบบบ้านฝรั่ง ดูลงตัวสุดๆด้วยชั้นวางทีวีและชั้นวางของบิลท์อินสีเข้มผสมอ่อน รูปทรงคล้ายเตาผิง สำหรับซ่อนจอโทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี ฯลฯ ไว้ด้านใน ช่วยลดปัญหาสายไฟจำนวนมากจากชุดโฮมเอนเทอร์เทนเมนต์ที่พันกันจนวุ่นวาย ดูไม่เรียบร้อย ส่วนด้านบนและด้านข้างทำชั้นวางของสะสม หนังสือ และอื่นๆได้อีกมากมาย ด้านบนเตาผิงตกแต่งด้วยกระจกลวดลายวินเทจขนาดใหญ่ ช่วยให้ห้องดูกว้าง มีมิติ ได้อารมณ์เอ๊กโซติกที่ดูแล้วเก๋ไก๋ไม่เบา
5. ผนังกราฟิกลวงตา
บ้านดร.จรัล พิรัญเจริญ
หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่านี่คือตู้เก็บของที่ ดูกลมกลืนกับผนังสุดๆ ทั้งยังช่วยเก็บข้าวของที่มีอยู่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้อย่างไม่น่า เชื่อ โครงเหล็กสีดำเรียงขนานกันอย่างสม่ำเสมอเสมือนเป็นกรอบให้สเปซภายในห้อง อีกทั้งยังเชื่อมให้ทั้งห้องดูมีเรื่องราว จากตู้เก็บของธรรมดาๆต่อยอดด้วยไอเดียใช้เพลตเหล็กสีดำสร้างกรอบแบบโปร่งจาก พื้นจรดฝ้าเพดาน ช่วยเน้นพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น โดยไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นมือจับผนังบานตู้ ช่วยสร้างจังหวะให้สเปซของห้องดูน่าสนใจ
6. สดใสด้วยสีสัน
บ้านคุณอัจฉรา บุรารักษ์
มุมห้องครัวเล็กๆซึ่งเป็นทั้งมุมนั่งเล่นและ รับประทานอาหารดูสวยสะดุดตาด้วยเคาน์เตอร์สีชมพูสดที่บิลท์อินคล้ายตู้ลอย ตัว เลือกใช้สีตัดกับตู้เก็บของแบบแขวนสีฟ้าอ่อน การเลือกใช้ตู้หลากสีสันช่วยเปลี่ยนอารมณ์ให้ห้องได้ รวมถึงการเลือกใช้ตู้หน้าบานเปิดกรุกระจกใสยังป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้าตู้ และจัดวางอุปกรณ์เครื่องครัว ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆให้กลายเป็นตู้ดิสเพลย์เก๋ๆได้ในตัว
7. เคาน์เตอร์ซ้อนเคาน์เตอร์
บ้านคุณฉัตรชัย ลิ่มทอง
มุมเคาน์เตอร์บาร์ที่เป็นสัดส่วน ดูแปลกตาด้วยเฟอร์นิเจอร์สั่งทำพิเศษอย่างเคาน์เตอร์โครงขาไม้กลึงสีดำและ ท็อปโต๊ะไม้แผ่นใหญ่ ทำให้โต๊ะบิลท์อินตัวนี้ดูโปร่งเบา ไม่เหมือนตู้เคาน์เตอร์หรือโต๊ะบิลท์อินทั่วไป กลายเป็นเคาน์เตอร์ซ้อนเคาน์เตอร์ที่ใช้งานได้ทั้งสองส่วน ทั้งเตรียมอาหารและนั่งรับประทานอาหาร เน้นโทนสีดำเพื่อให้เข้ากับภาพรวมของการตกแต่งห้อง ใช้คู่กับเก้าอี้เหล็กรูปทรงโปร่ง ได้อารมณ์ลึกลับ หรูหรา แต่แฝงไว้ด้วยความทรงพลัง
8. ตู้ซ่อนของมากฟังก์ชัน
8.1 ออกแบบตู้บิลท์อินที่รวมฟังก์ชันใช้งานหลากหลาย เช่น ซ่อนตู้เย็น และอ่างล้างจาน เพื่อความสะดวกในการใช้งาน แถมยังดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและประหยัดพื้นที่ หน้าบานตู้เป็นไม้สักสีอ่อนกรุกระจกขึ้นรูปลายตารางคล้ายกระจกฝ้า ช่วยให้ห้องดูโปร่ง แต่มองเห็นไม่ชัดว่ามีอะไรซ่อนอยู่ข้างใน อย่าลืมจัดวางโต๊ะรับประทานอาหารและติดโคมไฟห้อยเพดานสไตล์วินเทจ ก็ทำให้มุมนี้น่านั่งขึ้นอีกเยอะเลยบ้านคุณอัจฉรา บุรารักษ์
8.2 หากมีของสะสมสุดรักสุดหวงและอยากมองเห็นได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนรับประทานอาหาร รับรองว่าถูกใจไอเดียนี้แน่นอน โดยบิลท์อินผนังบริเวณโต๊ะรับประทานอาหารให้เป็นตู้โชว์ของสะสมสุดเก๋ ชั้นวางของด้านในออกแบบเป็นขั้นบันได ดูแปลกตา กรุบานเปิดกระจกใส จัดวางของสะสมอย่างตุ๊กตาหมี BE@RBRICK หรือของสะสมอื่นๆ เพียงแค่นี้ก็สามารถชื่นชมได้ทั้งวันแล้ว บ้าน Bear House
9. ผนังเก็บหนังสือ
9.1 มุมอเนกประสงค์ที่ดัดแปลงเป็นโต๊ะทำงานหรือโต๊ะรับประทานอาหารก็ได้ โดยออกแบบให้โต๊ะยื่นออกมาจากผนัง ใช้โครงเหล็กยึดโต๊ะไว้กับโครงสร้างผนัง ส่วนชั้นวางหนังสือบิลท์อินออกแบบให้เป็นขั้นบันได ดูมีจังหวะน่าสนใจ หากไม่ชอบไม้ ก็เลือกใช้วัสดุอื่นๆได้ตามต้องการบ้านคุณศิริศักดิ์ ธรรมศิริ
9.2 หากมีห้องที่เชื่อมกับพื้นที่ริมระเบียงได้ ไอเดียนี้ใช่เลย ใช้ประโยชน์จากการทำพาร์ทิชั่นกั้นห้องที่สามารถเลื่อนเปิด-ปิด เพื่อรับชมวิวริมระเบียง อีกทั้งช่วยขยายขนาดพื้นที่ห้องให้กว้างได้อย่างไม่น่าเชื่อด้วยการบิลท์อิน ชั้นวางของขนาดเล็กสำหรับวางหนังสือ ซีดี ฯลฯ ไว้ริมผนังพาร์ทิชั่นกั้นห้อง บ้านคุณสิริศักดิ์ พิทักษ์ และคุณลุค ยัง
ปกติแล้วการทำเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินขึ้นอยู่ กับความต้องการของเจ้าของบ้าน ส่วนใหญ่นิยมทำงานบิลท์อินในส่วนที่มีการใช้งานอยู่ตลอด ไม่มีแผนปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานบ่อยๆ เช่น ครัว ห้องแต่งตัว ตู้โชว์ ตู้เก็บหนังสือ มาดูการเปรียบเทียบระหว่างข้อดีกับข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์ประเภทนี้กันค่ะ
ข้อดีของเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน
1. ออกแบบได้พอดีกับพื้นที่ ไม่เหลือช่องว่าง เพราะเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินสามารถกำหนดความยาว ความกว้าง และความสูงได้
2. ดูแลรักษาง่าย เนื่องจากไม่มีซอกมุมเหลือเหมือนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ประหยัดพื้นที่ ใช้งานได้สะดวก
3. ได้เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ตรงกับความต้องการ สะท้อนรสนิยมของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้ยังกำหนดความต้องการพิเศษได้ เช่น จำนวนชั้น ขนาดลิ้นชัก รวมถึงการใส่ลูกเล่นในจุดต่างๆ
ข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน
1. ไม่สามารถเคลื่อนย้ายหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้บ่อยตามต้องการ หากเปลี่ยนใจไม่ชอบแล้วก็ต้องรื้อออกเท่านั้น
2. เฟอร์นิเจอร์บิลท์อินทำขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับบ้านแต่ละหลังซึ่งมีความแตก ต่างกัน อาจมีราคาแพงกว่าตู้สำเร็จรูป รวมถึงอุปกรณ์บางอย่างอาจมีราคาแพงกว่าเมื่อเทียบกับเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป ที่ทำขายในปริมาณมาก
วัสดุที่นิยมใช้ทำงานเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน
1. พาร์ทิเคิลบอร์ด แผ่นไม้ที่ผลิตจากการนำไม้ตามธรรมชาติมาบดย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาอัดเข้ารูปเป็นแผ่นด้วยความร้อน กาวพิเศษ และแรงอัด จากนั้นก็ไปผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อให้สามารถป้องกันความชื้นและปลวกได้ ซึ่งแผ่นที่ผลิตได้ยังเป็นแผ่นเปลือย ต้องนำไปปิดผิวภายนอกก่อนจึงจะนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ นับเป็นวัสดุราคาย่อมเยา
2. ไม้เอ็มดีเอฟ (Medium Density Fiberboard – MDF) หรือวัสดุแทนไม้จริง เป็นไม้อัดที่ทำจากฝุ่นไม้ที่บดจนละเอียดผสมกาว แล้วอัดออกมาเป็นแผ่น นิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างในส่วนที่ต้องการความแข็งแรง เพราะมีความหนาแน่นสูงกว่าแผ่นพาร์ทิเคิลบอร์ด นิยมปิดผิวด้วยวัสดุปิดผิวและทาสีหรือพ่นเคลือบสี
3. ไม้จริง เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความทนทาน
วัสดุที่กล่าวมาจะนำมาทำเป็นโครงสร้างของ เฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน หลังจากนั้นจะมีการนำวัสดุมาปิดผิวหรือทำสีให้เกิดลวดลาย สีสัน พื้นผิว เพื่อความความสวยงาม ซึ่งจะมีให้เลือกหลายเกรดและหลายราคา วัสดุที่นิยมนำมาใช้ปิดผิวมีดังนี้
1. ลามิเนต เป็นแผ่นเหมือนไม้อัดบางๆ มีให้เลือกหลากสีหลายแบบ นิยมใช้กับงานบิลท์อิน เพราะใช้งานง่าย ทนน้ำและรอยขีดข่วนได้ดี แต่ข้อเสียคือ วัสดุจะเปราะและล่อนเป็นแผ่นๆ
2. วีเนียร์ เป็นแผ่นไม้ฝานบางๆสำหรับปิดทับบนแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ ให้ลายไม้ที่เหมือนจริง
3. การทำสี ส่วนใหญ่นิยมทำสีบนแผ่นไม้เอ็มดีเอฟ เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความละเอียด ทำสีได้ง่าย การทำสีก็มีหลายรูปแบบหลายราคา ตั้งแต่สีด้านธรรมดาไปจนถึงการพ่นสีแบบไฮกรอส
หมายเหตุ เนื่องจากการทำเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินมีรายละเอียดและปัจจัยหลากหลายมากในการ หาต้นทุนที่แท้จริง ส่วนใหญ่จะคิดราคาเป็นเมตรและตารางเมตร ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คุณภาพและฝีมือของผู้รับเหมา รูปแบบความยาก-ง่าย งานดีไซน์ ความหลากหลายของวัสดุ ฯลฯ เรามีการประเมินราคาคร่าวๆมาฝากกัน ดังนี้
1.ตู้เตี้ย ตู้ลอย ตู้แขวน
- หน้าบานไม้ ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 10,000 บาท – 15,000 บาท
- หน้าบานกรุลามิเนต ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 8,000 – 12,000 บาท
2. ตู้สูงถึงฝ้าเพดาน (ความสูงไม่เกิน 2.60 เมตร) หน้าบานไม้ ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 25,000 – 35,000 บาท
3. ตู้บานเปิด -บานเลื่อน
- หน้าบานไม้ ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 12,000 – 15,000 บาท
- หน้าบานกรุลามิเนต ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 10,000 – 15,000 บาท
4. ตู้สูงไม่มีหน้าบาน ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 10,000 -15,000 บาท
5.เคาน์เตอร์ หน้าบานไม้ ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 10,000 -15,000 บาท และเคาน์เตอร์ครัวท็อปหิน ราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 10,000 – 16,000 บาท
เรื่องโดย : Kirakira
ภาพโดย : คลังภาพบ้านและสวน, นิตยสาร room