วิธีเลือกทิศปลูก “ไม้หอม” ให้หอมรัญจวน

“ไม้หอม” เสน่ห์อีกอย่างของพรรณไม้ที่ไม่เพียงให้สีสัน รูปทรงที่งดงามเพลินตา แต่กลิ่นหอมๆ ของดอกไม้นี่แหละครับ ชวนให้หลงใหล และสร้างจิตวิญญาณธรรมชาติให้สวนอย่างที่สุด ซึ่งไม้หอมแต่ละสายพันธุ์ก็ผลิดอก ส่งกลิ่นหอมต่างเวลา ต่างฤดูกัน มาดูกันว่า เราจะปลูกไม้หอมในสวนของเราให้ได้รื่นรมย์กับกลิ่นหอมๆ ตลอดทั้งปีได้อย่างไร

ไม้หอม 056
วิธีเลือกทิศ “ปลูกไม้หอม” ให้หอมรัญจวน

“การเลือกทิศในการปลูก ไม้หอม ให้หอมทั่วบ้าน”

  • “ไม้ดอกหอมที่ ออกดอกใน ฤดูฝน”

ควรปลูกต้นไม้นั้นทาง “ทิศใต้” เพราะถ้าลมฝนพัดมาก็จะหอบเอากลิ่นหอมมาเข้าบ้าน เช่น จำปี จำปา พุดต่างๆ จันทน์หอม ปีบ ฯลฯ

  • “ไม้ดอกหอมที่ ออกดอกใน ฤดูหนาว”

ควรเลือกปลูกไว้ “ทิศเหนือ” เวลาลมหนาวพัดมาก็จะได้กลิ่นหอม เช่น จิกทะเล จันทน์กะพ้อ สุพรรณิการ์ พะยอม ลำดวน เลี่ยน ช่อมาลี ฯลฯ

  • “ไม้ดอกหอมที่ ออกดอก ตลอดปี”

ถ้าจะปลูกก็สามารถ “ปลูกได้ทั่วบริเวณ” เพราะถึงแม้ลมจะมาทางไหนก็สามารถพัดเอากลิ่นหอมเข้าบ้านได้ตลอดทั้งปีเช่นกัน ตัวอย่างต้นไม้ดอกหอมที่ออกทั้งปี เช่น โมก สายหยุด บุหงาส่าหรี พิกุล ชงโค ฯลฯ

P19901T ไม้หอม
“สายน้ำผึ้ง” ไม้เลื้อยยืนต้นขนาดเล็กที่มีกลิ่นหอม โดยเฉพาะตอนกลางคืน

ไม้ที่มีกลิ่นหอมเขา “ไม่ได้หอมทั้งวัน” ทุกต้นหรอกครับ บางชนิดหอมเช้า บางชนิดหอมตอนเย็น หรือหอมกลางคืน ก็แล้วแต่สายพันธุ์ บางทีเวลาเดินไปซื้อต้นไม้ตามตลาด แล้วไปดมที่ดอกแต่ไม่ได้กลิ่น เพราะต้นนั้นหอมตอนกลางคืน ผมมีตัวอย่างคร่าวๆ ของไม้ที่หอมเป็นช่วงเวลามาให้ดูครับ

  • ไม้ดอกหอมใน “ตอนเช้า” มี กระดังงาไทย มหาหงส์ บุหงาส่าหรี เดหลี กระทิง

  • ไม้ดอกหอม “ตลอดทั้งวัน” ก็มี ดอกคัดเค้า ทิวาราตรี บุนนาค ทองอุไร เข็มหอม กันเกรา พิกุล มะลิ ชะลูดช้าง นนทรี พะยอม กล้วยไม้

  • ไม้หอม “ตอนเย็นไปถึงรุ่งเช้า” ก็มี ดอกโมก แก้ว ราตรี จำปี ปีบ การเวก เล็บมือนาง ยี่โถดอกแดง พุดซ้อน

  • หอม “ทั้งวันทั้งคืน” มี ดอกพุทธชาดสามสี มะลิซ้อน มะลุลี นางแย้ม มีดอกหอมตลอดปี และชำมะนาด

BSP070301-112 ไม้หอม

หากชอบกลิ่นหอมๆ จาก “โมก” ควรปลูกเป็นไม้ยืนต้นบริเวณที่ลมพัดผ่าน

BSP090719-108 ไม้หอม

“ดอกลั่นทม” สามารถเด็ดมาประดับแจกัน ให้ความสวยงามแบบใกล้ชิด

Mn080708-263 ไม้หอม

“พุดสามสี” นอกจากดอกที่มีสีสันสวยงามแล้ว ยังให้กลิ่นหอมตลอดปีอีกด้วย

Tips     ปลูกเลี้ยงและดูแลรักษา “ไม้ดอกหอม” ให้ถูกวิธี

  • หลังจากที่ซื้อไม้ดอกหอมมาปลูก และ เลือกพื้นที่ที่เหมาะกับไม้ดอกหอมชนิดนั้นๆ แล้ว ดูดินด้วยว่าขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือมีเศษปูนทับถมอยู่ ควรขุดเศษวัสดุเหล่านั้นออกและปรับสภาพดินใหม่ โดยใส่ดินใหม่และอินทรียวัตถุลงไป เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก (การใส่กาบมะพร้าวสับลงไปในหลุมปลูกให้ระวังเรื่องปลวก)
  • หลังจากปลูกไม้ดอกหอม หมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ หากอยู่ในฤดูฝนที่มีฝนตกชุก ควรคำนึงถึงระดับน้ำใต้ดิน เพราะอาจทำให้รากเน่า ต้นตายได้ หากเป็นฤดูแล้งหรือฤดูร้อน ควรพรางแสงให้ต้นที่เพิ่งปลูกลงดิน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ซึ่งอาจทำให้ต้นเหี่ยวแห้งและตายในที่สุด
  • หากซื้อต้นขุดล้อมมา แต่ยังไม่ปลูกลงดิน ควรวางต้นในแนวตั้ง ทิ้งไว้ในตำแหน่งที่มีแสงแดดรำไร หมั่นรดน้ำอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ต้นเหี่ยวแห้งตายไป ไม่ควรปล่อยให้ต้นนอนในแนวระนาบ เพราะอาจทำให้ไม้ดอกหอมต้นนั้นตายได้
  • เมื่อต้นเติบโตจนสมบูรณ์เต็มที่ ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มออกบ้าง เพื่อไม่ให้กิ่งเกะกะ ทรงพุ่มบังลม หรือทำให้ต้นไม้ด้านล่างได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เลื้อย มีความจำเป็นต้องตัดแต่งเถาให้โปร่ง ให้ยอดได้รับแสงแดด จึงจะออกดอก
  • หมั่นตรวจดูต้นไม้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีโรคแมลง เช่น เพลี้ย หนอนเข้าทำลาย ควรใช้วิธีเก็บออก หรือตัดส่วนที่เกิดอาการทิ้ง ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่นยากำจัดโรคแมลง โดยเฉพาะต้นที่อยู่ใกล้บ้านหรือใกล้มือเด็ก

เรื่อง : ฐปนา วชิรมาศ


10 “พรรณไม้หอม” ปลูกแล้ว หอมมมม…