บ้านไม้ ที่ประสบการณ์ที่คนแต่ละคนสั่งสมมา จนหล่อหลอมเกิดเป็นความรู้ ความเชื่อ ทัศนคติ และการตีความความหมายของคำว่า “บ้าน” แตกต่างกันไป บ้างมองเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างสำหรับบังแดดบังฝน มีความมั่นคงก็เพียงพอ แต่สำหรับบางคนกลับมองได้ลึกซึ้งกว่านั้น ผมขอพาคุณผู้อ่านมาพบ ” บ้านไม้ ” กับอีกนิยามหนึ่งของคำว่าบ้านที่ผมเชื่อว่าจะทำให้ทุกท่านประทับใจและรักบ้านของตัวเองขึ้นอีกเยอะ
ซึ่งผู้ที่ทำให้ผมได้เห็นได้สัมผัสถึงความหมายเหล่านี้ก็คือเจ้าของ ” บ้านไม้ ” ที่ ผมกำลังจะพาคุณผู้อ่านไปเยี่ยมชมครับ
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองกรุงเทพฯที่ยังคงความสงบตามวิถีชาวบ้าน เป็นบ้านหลังใหญ่ที่ใช้ไม้และโครงสร้างคอนกรีตปูนเปลือยเป็นวัสดุหลัก เจ้าของบ้านคือ พี่โหน่ง – คุณชาตรี ลดาลลิตสกุล ซึ่งเดินออกมาต้อนรับทีมงาน “บ้านและสวน” อย่างเป็นกันเอง นอกจากเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัทต้นศิลป์ สตูดิโอ จำกัด แล้ว พี่โหน่งยังเป็นสถาปนิกรุ่นพี่ที่รุ่นน้องๆอย่างผมและในวงการทุกคนให้ความ เคารพ ด้วยฝีไม้ลายมือที่จัดเจนและมีกระบวนการออกแบบที่ลึกซึ้ง
พี่โหน่งเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านหลังนี้ว่า
“ตั้งใจจะสร้างบ้านที่เป็นสถาปัตยกรรมไม้เป็นหลัก เพราะประเทศไทยของเรามีจุดเด่นและจุดแข็งคือสถาปัตยกรรมไม้ การใช้วัสดุไม้ทำให้เรามีภูมิปัญญาที่เป็นวัฒนธรรมของเราเอง พึ่งตนเองได้ในเรื่องของการสร้างที่อยู่อาศัย นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด”
เดิมทีเดียวพี่โหน่งพักอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองซึ่งรายล้อมไปด้วยความ เจริญ แต่ด้วยความใฝ่ฝันที่อยาก จะมีบ้านไม้บรรยากาศเหมือนบ้านในต่างจังหวัดเป็นของตนเองสักหลัง จึงตัดสินใจซื้อไม้จากที่ต่างๆมาเก็บสะสมไว้ทั้งไม้ใหม่และไม้ที่ผ่านการใช้ งานมาแล้ว ประจวบกับเมื่อเจอที่ดินบรรยากาศสงบผืนนี้ จึงตัดสินใจซื้อและเริ่มออกแบบทันที พี่โหน่งเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบให้ฟังว่า
“หัวใจคือต้องอยู่สบายทั้งกายและใจ มีความสงบ การตกแต่งภายในเป็นแบบเรียบง่ายด้วยของน้อยชิ้น การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เปิดโอกาสให้ตัวสถาปัตยกรรมได้แสดงพลังซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของมันออกมาได้ อย่างเต็มที่”
พี่โหน่งใช้ช่างไม้ที่เป็นช่างชาวบ้านมาร่วมก่อสร้างและปรับแก้รายละเอียด หน้างานอีกหลายครั้งโดยไม่เร่งรีบ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุด เพราะตั้งใจจะเก็บบ้านหลังนี้ไว้ให้สถาปนิกรุ่นหลังได้เห็นวัฒนธรรมบ้านไม้ ไทยแบบร่วมสมัยที่หาได้ยาก จึงใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 3 ปี
บ้านหลังนี้มีทั้งหมด 3 ชั้นและวางผังเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่พักอาศัยและส่วนสำนักงานขนาดเล็ก ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยพื้นที่ส่วนกลางที่เว้นระยะระหว่างโครงสร้างเสาถึง 10 เมตร และถือเป็นหัวใจของบ้านหลังนี้ เมื่อเราเดินเข้ามาภายในบ้านจะพบที่ว่างขนาดใหญ่ที่หันหน้ารับกับแนวทิศ เหนือ-ใต้พอดิบพอดี เป็นโถงรับแขกที่เรียบง่ายและธรรมดาที่สุด แต่สัมผัสได้ถึงลมธรรมชาติที่พัดเข้ามาตลอดเวลา
ด้านหน้ามีสระนํ้าเล็กๆที่ช่วยทำให้กระแสลมที่พัดเข้ามานั้นเย็นลงและเกิด ความสงบขึ้นทุกครั้งที่เฝ้ามอง พื้นที่ชั้นล่างจะเชื่อมต่อกับส่วนรับประทานอาหารและครัวไทยในฝั่งหนึ่ง มีการออกแบบพื้นที่สำหรับใช้สอนเปียโนของคุณครูแหม่ม ซึ่งเป็นภรรยาของพี่โหน่งในอีกฝั่งหนึ่ง ชั้นสองจะเป็นส่วนสำนักงานขนาดเล็กที่อยู่คนละฝั่งกับห้องนอนที่เชื่อมต่อไป ยังส่วนอเนกประสงค์บนชั้นสามที่ใช้สำหรับกิจกรรมนันทนาการ หรือแม้แต่การวาดรูปที่พี่โหน่งชื่นชอบ
ภายในส่วนใหญ่จะใช้ไม้สักในการตกแต่งเป็นหลักร่วมกับไม้ชนิดอื่น ควบคู่ไปกับการใช้คอนกรีตปูนเปลือยโดยเน้นธรรมชาติของวัสดุและสัจจะของเนื้อ วัสดุให้มากที่สุด พี่โหน่งได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายไว้ว่า
“น่าเสียดายที่วัฒนธรรมและค่านิยมของการก่อสร้างบ้านไม้กำลังจะเลือนหายไป พร้อมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านความรู้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้ได้สูญสิ้นไปแล้ว อารยธรรมสถาปัตยกรรมไทยจะไม่เหลืออะไรต่อไปให้ลูกหลานอีกเลย”
สถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วันเวลาที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยอาจนำพาความศิวิไลซ์เข้ามาแทนที่ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรานำความเจริญเหล่านั้นมาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ในจุดยืน ที่มีวัฒนธรรมที่มั่นคง เพื่อไม่ให้สิ่งดีๆเหล่านี้ต้องเลือนหายไป เป็นการสืบต่อลมหายใจนี้ให้อยู่กับคนไทยและบ้านไทยไปอีกนานเท่านาน
เรื่อง : ศุภชาติ บุญแต่ง
ภาพ : ชัยพฤกษ์ โพธิ์แดง