ผสมผสานพื้นที่อย่างลงตัว
คุณอรรถเล่าว่า พื้นที่ภายในบ้านเดิมมีการกั้นด้วยผนัง ดูน่าอึดอัด เขาอยากให้พื้นที่ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัวต่อกันเป็นแนวยาว และต่อเนื่องไปถึงส่วนทำงานซึ่งอยู่ในบ้านอีกหลัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะประสานให้คนในครอบครัวได้มีกิจวัตรประจำวันร่วมกัน ภายหลังการปรับปรุง พื้นที่ที่ดูทึบตัน เก่าและโทรมในขนาดประมาณ 40 ตารางเมตร ก็กลายเป็นบ้านที่มีบรรยากาศแสนอบอุ่น โปร่งโล่ง สะดวกสบาย และน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
Before ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว
เดิมพื้นที่ส่วนนั่งเล่นและครัวจะมีผนังกั้นแบ่งสัดส่วน ส่วนเพดานกรุฝ้ายิปซัมทีบาร์ ขนาด 24 x 24 นิ้ว พื้นปูกระเบื้อง ขนาด 8 x 8 นิ้ว มีเนื้อที่ทั้งหมด 38 ตารางเมตร บริเวณฝั่งที่เชื่อมกับศาลาด้านนอกเดิมเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนและมีประตูบานเลื่อนเข้า-ออกได้สองทาง
Renovation ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว
- กำหนดพื้นที่ใช้สอยคร่าว ๆ เช่น ตำแหน่งช่องหน้าต่าง ประตู ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว เช็กขนาดเฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับพื้นที่หน้างานและกำหนดตำแหน่งที่จะต้องติดปลั๊กไฟ
- รื้อฝ้าทีบาร์ของเดิมออก เพื่อโชว์โครงสร้างเหล็ก จะได้ความสูงเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 5 เมตร พร้อมดำเนินงานระบบน้ำ-ไฟในตำแหน่งตามแบบ รวมถึงติดตั้งประตูหน้าต่างด้วย
- เนื่องจากคุณอรรถอยากให้พื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกันและต้องการให้ครัวมีไอส์แลนด์ จึงทุบผนังบริเวณส่วนครัวออก ได้พื้นที่เพิ่มทั้งหมดเป็น 40 ตารางเมตร เปลี่ยนมาติดตั้งประตูบานเลื่อนขนาดกว้าง 75 เมตร สูง 2 เมตรแทน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นจากครัว
- กำหนดจุดวางอุปกรณ์ครัวที่สำคัญ เช่น เตา เครื่องดูดควัน อ่างล้างจาน ตู้เย็น และไอส์แลนด์ เพื่อขึ้นโครงตู้บิลท์อินโครงไม้จริง โดยตำแหน่งของตู้เย็นเจ้าของบ้านได้ทุบผนังขยายออกไป ทำให้ได้พื้นที่ตรงตามขนาดของตู้เย็น
- ปรับสภาพผนังเดิมด้วยการกรุแผ่นยิปซัมบอร์ดฉาบเรียบ จากนั้นก็ทาสีและเก็บงานฝ้าเพดานให้เรียบร้อย พร้อมดำเนินงานระบบน้ำ-ไฟในตำแหน่งตามแบบ ส่วนผนังครัวด้านที่ติดตั้งตู้บิลท์อินกรุกระเบื้องโมเสกสีขาวและเก็บสีท็อปเคาน์เตอร์ให้เรียบร้อย พร้อมติดตั้งประตูหน้าต่างบานเลื่อนกระจก
- เมื่อทาสีเสร็จ ก็ต่อด้วยการปูพื้นกระเบื้องสีเทาอ่อน ขนาด 60 x 60 เซนติเมตร
- ติดตั้งอุปกรณ์เสริมในตู้ เช่น ตะแกรงคว่ำจาน ตะขอแขวนหม้อ กระทะ ฯลฯ
- ตรวจสอบความเรียบร้อยและทำความสะอาดบริเวณห้องอีกครั้ง
After ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัว
หลังการปรับปรุง ทำให้บรรยากาศภายในบ้านโปร่งและโล่งขึ้น ทั้งยังดูสว่าง เพราะแสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้ตลอดเวลา พื้นที่ทุกส่วนในบ้านดูเชื่อมต่อกัน ช่วยประหยัดพลังงานเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน
ระหว่างครัวกับส่วนรับประทานอาหารติดตั้งประตูบานเลื่อน ทำให้ได้เนื้อที่ในครัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด 40 ตารางเมตร รวมถึงมีการขยายพื้นที่ในครัว ทำให้มีที่ว่างสำหรับวางไอส์แลนด์เพื่อเตรียมอาหาร
เมื่อทำอาหารก็สามารถปิดประตูบานเลื่อนเพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นฟุ้งกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของบ้าน บรรยากาศภายในครัวดูสะอาดและสว่างขึ้นกว่าเดิม พร้อมเพิ่มตู้บิลท์อินและที่แขวนอุปกรณ์ประกอบอาหาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
Before ทางเชื่อมไปห้องทำงาน
เดิมที่ดินในบ้านประกอบด้วยบ้านสองหลังและศาลา ซึ่งแบ่งสัดส่วนกันชัดเจน มีสภาพค่อนข้างเก่าและโทรม
Renovation ทางเชื่อมไปห้องทำงาน
- ตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านหลังเดิม รวมถึงสภาพบริเวณใต้ดินของพื้นที่ที่จะต่อเติม
- ทุบผนังฝั่งทางเดินไปยังบ้านอีกหลังออก เพื่อสร้างทางเชื่อมใหม่
- เทคอนกรีตปรับระดับภายในและก่ออิฐฉาบปูน พร้อมต่อเติมฝ้าเพดานให้เชื่อมต่อไปยังส่วนทำงาน
- เริ่มงานทาสีและปูพื้นกระเบื้องอ่อน ขนาด 60 x 60 เซนติเมตร
- ติดตั้งวงกบประตูบานเปิดและประตูบานเลื่อนกรุกระจกบริเวณทางเชื่อมและห้องทำงาน
- หลังเก็บงานฝ้าเรียบร้อยแล้ว ก็เดินงานระบบไฟดาวน์ไลท์ในส่วนเพดานที่ต่อเติม
After ทางเชื่อมไปห้องทำงาน
คุณอรรถออกแบบให้บ้านหลังเล็กเป็นห้องทำงาน เมื่อทำทางเชื่อมให้บ้านทั้งสองหลัง ก็ทำให้ทุกส่วนภายในบ้านกลายเป็นพื้นที่เดียวกันทั้งหมด ผนังส่วนที่ต่อเติมกลายเป็นประตูบานเลื่อนกรุกระจก ช่วยเพิ่มความสว่างให้บ้านมากขึ้น
งบประมาณ
งานระบบสุขาภิบาลและสุขภัณท์ 30,000 บาท
งานระบบไฟฟ้าและดวงโคม 65,000 บาท
งานฝ้าเพดานและผนังใหม่ 60,000 บาท
งานประตูหน้าต่าง 55,000 บาท
งานปูกระเบื้องพื้นและผนัง 60,000 บาท
งานทาสี 40,000 บาท
งานเฟอร์นิเจอร์บิลท์อิน 150,000 บาท
รวม 460,000 บาท
เรื่อง : “Noon SD.”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สถาปัตยกรรม-ตกแต่งภายใน : คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล