บ้านปูนโชว์อิฐแนว หลังนี้ใช้กำแพงขนาดใหญ่ที่ดูแข็งกระด้างมาจัดวางเรียงรายอย่างมีจังหวะ เพื่อทำหน้าที่ทั้งคอยกำหนดเส้นทางการเดินภายใน กำหนดพื้นที่ใช้สอย และบังคับมุมมอง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: SO Architect
บ้านที่เราคุ้นเคยนั้นเป็นอย่างไร บ้านที่มีผนังและหลังคาครบถ้วน ปกปิดมิดชิดเพื่อการอยู่ภายในบ้านใช่หรือไม่ แต่บ้านที่เชียงใหม่หลังนี้ไม่เป็นเช่นนั้น นั่นเพราะความคิดเริ่มต้นที่ต่างจากบ้านทั่วไปอย่างสิ้นเชิง โดยสร้างการรับรู้ที่ต่างออกไป ความรู้สึกที่ว่า “ตรงไหนคือขอบเขตของบ้าน” หรือ “ตรงไหนคือภายในและภายนอก” คือจุดเด่นของ บ้านปูนโชว์อิฐแนว หลังนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าใครที่ได้มาสัมผัสก็น่าจะรู้สึกเช่นเดียวกัน
สิ่งที่คอยกำหนดทิศทางและความรู้สึกเหล่านี้คือกำแพงขนาดใหญ่ที่ดูแข็ง กระด้าง ซึ่งจัดวางเรียงรายได้อย่างมีจังหวะไล่เรียงจากทางเข้าบ้าน ทำหน้าที่ทั้งคอยกำหนดเส้นทางการเดินภายใน กำหนดพื้นที่ใช้สอย และบังคับมุมมองให้เป็นไปตามที่สถาปนิกคิดไว้
ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้คือกลุ่มนักออกแบบนามว่า SO (Situation based Operation) นำโดยคุณตี๋ – ณรงค์ โอถาวร สถาปนิก ซึ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่และการค้นหารูปแบบสถาปัตยกรรมที่ต่างออกไป
เมื่อเข้ามาภายในบริเวณบ้าน เราจะพบบันไดทอดยาวขึ้นไปสู่ภายในบ้านซึ่งขนาบข้างด้วยกำแพงอิฐโชว์แนวสูง กำหนดมุมมองที่เห็นภาพรวมทั้งหมดของบ้าน เมื่อขึ้นมาที่ชานพักแรกจะพบส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งเปิดให้แขกของบ้านพักแบบเกสต์เฮ้าส์ที่อยู่ติดกันเข้ามาใช้บริการได้
เดินต่อขึ้นไปอีกชั้นเป็นคอร์ตระหว่างอาคาร มีต้นไม้ใหญ่และกำแพงอิฐสูงล้อมรอบ เจ้าของบ้านตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับฉายหนังกลางแปลงในตอนกลางคืน บริเวณนี้ยังมีห้องออกกำลังกาย ห้องน้ำ และครัว และสุดท้ายเป็นบันไดที่ขึ้นไปสู่ห้องนอนหลักของเจ้าของบ้าน ซึ่งแยกบันไดออกมาชัดเจน
บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการออกแบบห้องนอนให้มีความเป็นส่วนตัวสูง กล่าวคือคนภายนอกมองเข้าไปไม่เห็นผู้ที่อยู่ในห้องได้เลย แต่เจ้าของบ้านที่อยู่ภายในกลับเลือกมุมมองที่จะมองเห็นภายนอกได้ นอกจากนี้การยกตัวห้องให้สูง บวกกับพื้นที่เป็นที่ดินลาดเอียงอยู่แล้ว ทำให้ ห้องนอนนี้อยู่ในตำแหน่งที่สูงที่สุดของบ้าน รวมทั้งมีการออกแบบแผงบังตาบริเวณทางเดินภายใน จึงสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกทึบตันอีกด้วย
วัสดุที่บ้านนี้ใช้ก็น่าสนใจจนไม่อาจละสายตาได้ การใช้เนื้อแท้ของวัสดุอย่างคอนกรีตเปลือยผิว อิฐโชว์แนว และเปลือกของอาคารที่มีชีวิตอย่างไม้เลื้อย ทำให้บ้านหลังนี้ดูสมบูรณ์ขึ้น นี่คือความตรงไปตรงมาของการสื่อสารระหว่างผู้ออกแบบกับผู้อยู่อาศัย หากเราทำพื้นและผนังคอนกรีตหล่อ เราก็ควรเห็นเป็นวัสดุนั้น
นี่คือบ้าน open plan ที่มีขนาดใหญ่ซึ่งผสานพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน ตัวบ้านกลมกลืนไปกับที่ดินลาดเอียง กำแพงหนาวิ่งเข้าเสียบกลุ่มพื้นทางเดิน เกิดพื้นที่ใช้งานและห้องต่างๆ ในขณะเดียวกันต้นไม้ก็คือพระเอกของบ้านหลังนี้ ตั้งใจเก็บไม้ใหญ่เดิมเอาไว้ พร้อมสร้างอาคารโอบล้อม ทำต้นไม้ได้เติบโตต่อไป กำแพงไม่ได้มีไว้ปิดกั้นเสมอไป สำหรับบ้านหลังนี้ กำแพงได้เปิดและเปลี่ยนความคิดของผมไปโดยสิ้นเชิง
สถาปนิก: SO Architect
เรื่อง: เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล