การจัดวางผังในสวนนี้ใช้โครงฮาร์ดสเคปเดิมเป็นตัวแบ่งพื้นที่กิจกรรม ทั้งลาน บ่อน้ำ และทางเดิน และปรับเปลี่ยนฮาร์ดสเคปบางส่วน เช่น รั้วเดิมเป็นเหล็กโปร่งก็รื้อออกแล้วก่ออิฐฉาบปูนเป็นผนังทึบและทำสีใหม่ เลือกโทนสีอบอุ่นแบบทัสกานีที่เชื่อมโยงมาจากสีสันของดิน หิน และแร่ในธรรมชาติ รวมทั้งวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ก็เลือกใช้สีแบบเอิร์ธโทน ทั้งลานหินธรรมชาติ ลานกรวด และผนังประดับหิน ทำให้ภาพรวมของสวนดูนุ่มนวลและอบอุ่น
“ปรับของเดิมออกไปเยอะมาก เช่น ซุ้มประตูเดิมมีหลังคาแบบไทยๆก็ตัดออก เปลี่ยนเป็นประตูเหล็กดัดและเพิ่มความสูงเข้าไปให้ดูเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ส่วนกำแพงน้ำพุมีอยู่แล้ว แค่ฉาบทำสีใหม่ ทางเดินเดิมเป็นพื้นสำเร็จรูปก็นำแผ่นคาร์เป็ตสโตนมาปูทับให้อารมณ์เปลี่ยนไป รวมทั้งลานที่ต่อออกมาจากบ้านเดิมเป็นเดคไม้ก็ปูคาร์เป็ตสโตนทับไปเลย ส่วนด้านหลังเดิมเป็นเดคไม้ก็รื้อออก ปรับเป็นพื้นหินให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
“ตอนแรกที่ทำสีใช้วิธีฉาบปูนผสมสีฝุ่น แต่ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้คัลเลอร์ซีเมนต์ ค้นพบว่ามันง่ายกว่ามาก ซึ่งการผสมสีฝุ่นเองก็มีข้อดีคือจะทำสีเข้มหรืออ่อนก็ขึ้นอยู่กับเรา แต่ปัญหาคือถ้าผสมไม่พร้อมกันหรือคนละวันกันจะมีความเพี้ยนได้ แต่คัลเลอร์ซีเมนต์จะได้สีที่เท่ากันและดูสม่ำเสมอมากกว่า แต่ก็มีข้อจำกัดคือมีสีให้เลือกใช้น้อย พอเลือกใช้สีฮาร์ดสเคปมาในโทนนี้แล้ว งานเหล็กต่าง ๆ ทั้งซุ้ม ประตู และเฟอร์นิเจอร์สนามทั้งหมดจึงเน้นโทนสีน้ำตาล-สนิม และน้ำตาล-ทองแดง ซึ่งดูเข้ากันมากกว่า”
พื้นที่เดิมซึ่งมีต้นไม้ค่อนข้างรก จึงต้องนำต้นเดิมออก ส่วนไม้ยืนต้นที่คงไว้คือกระพี้จั่นหน้าบ้าน ทำให้มุมนี้ค่อนข้างร่ม ใต้ต้นนี้จึงต้องโรยกรวดและปลูกไม้พุ่มไม้คลุมดินที่มีผิวสัมผัสละเอียดจนถึงปานกลาง เช่น แก้วแคระ ปริกน้ำค้าง ไอริสน้ำ และเดซี่ แทรกเข้าไปเพื่อลดทอนความแข็ง นอกจากนี้ยังทำทางเดินเชื่อมต่อให้ทั่วถึงทุกจุดในสวนเพื่อให้ใช้งานได้ง่าย จากลานกรวดหน้าบ้านเมื่อเดินลอดซุ้มเหล็กเข้าไปจะเชื่อมต่อไปยังสวนด้านหลัง เนื่องจากมุมนี้ค่อนข้างร่มมากกว่ามุมอื่นจึงต้องใช้ไม้ใบทนร่มเป็นหลัก เช่น ปริกน้ำค้าง ทรีเฟิน ขนาบข้างทางเดินอิฐมอญนำไปสู่ลานหินหลังบ้านซึ่งวางชุดโต๊ะสนามรับสายตาอยู่ด้านใน และยังมีมุมนั่งเล่นเล็ก ๆ แอบซ่อนตัวอยู่ด้านในสุด
จากพื้นที่สวนแสนรกทึบ มาถึงตอนนี้กลายเป็นสวนที่ดูสว่างสดใส มีไม้ดอกสีส้มอ่อนแก่แต่งแต้มตามซอกมุมต่าง ๆ ภายในสวนดูโปร่งตาด้วยพรรณไม้ที่ขึ้นกันอยู่ห่างๆ ทิ้งระยะกันและกัน แต่ก็ยังร่มรื่นอยู่ในทีด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยนอกแนวรั้ว รายละเอียดต่าง ๆ ที่สอดแทรกในแต่ละจุดล้วนกลมกลืนกัน เป็นการผสมผสานรูปแบบและกลิ่นอายของทัสกานีมาใช้ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
เรื่อง : “วรัปศร”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
อ่านเพิ่มเติม : สัมผัสได้แม้ไม่เห็น ณ เขาใหญ่
หน้า 1 2