การ ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ ให้โปร่ง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักเสียหายจากลมแรงและพายุ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แต่ความจริงแล้วเราสามารถตัดแต่งกิ่งต้นไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ตลอดทั้งปีตามความเหมาะสม
การ ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงฤดูหนาว ประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระยะที่ต้นไม้พักตัว (สังเกตว่าต้นไม้จะเริ่มผลัดใบ) และเก็บสะสมอาหารเตรียมสำหรับการแตกยอดใบใหม่ในฤดูกาลถัดไป
วัตถุประสงค์ของการตัดแต่งต้นไม้
- ตัดแต่งเพื่อความสวยงาม ลดความแน่นทึบของทรงพุ่ม อันเป็นสาเหตุทำให้อับแสง อับลม แถมยังเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง โดยเริ่มตัดจากกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เปราะบาง มีแนวโน้มฉีกขาดและหักได้ง่าย เมื่อทรงพุ่มโปร่งบางขึ้น ก็จะช่วยลดความเสียหายที่เกิดจากลมพายุ แสงแดดสามารถส่องลงมายังพุ่มที่อยู่ด้านล่างได้อย่างทั่วถึง
- บำรุงรักษากิ่งที่เสียหายจากโรคหรือแมลงเข้าทำลายจนกิ่งแห้งตาย กิ่งที่หักจนเหลือตอ หรือฉีกขาดจากแรงลม หากปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ อาจเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง เช่น ปลวก ต่อ แตน ทำให้เกิดผลเสียอื่น ๆ ตามมา
- บังคับทิศทางการเจริญเติบโตของต้นไม้ เช่น ป้องกันไม่ให้กิ่งก้านยื่นออกไปยังอาคารที่อยู่ใกล้เคียง หลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางอย่างเสาไฟฟ้า หลังคา หรือระแนงของระเบียงชั้นสอง โดยสามารถควบคุมลักษณะทรงพุ่มได้ตามต้องการ เช่น อยากให้ต้นเจริญเติบโตในส่วนของยอด ให้ตัดกิ่งด้านข้างออก หรืออยากให้พุ่มแตกออกด้านข้าง ก็ตัดส่วนยอดทิ้ง
- ช่วยกระตุ้นให้ออกดอกและผลตามฤดูกาล ทั้งยังช่วยสร้างความสมดุลให้ต้นไม้ โดยเฉพาะต้นที่มีการเจริญเติบโตทางใบมาก การตัดแต่งกิ่งออกบ้างจะช่วยให้สัดส่วนของอาหารที่สะสมอยู่ในต้นไม้อยู่ในระดับที่เหมาะกับการออกดอกและผล นอกจากนี้การเลือกตัดกิ่งที่ไม่จำเป็น กิ่งที่แห้งตาย และกิ่งที่เป็นโรคออก จะช่วยให้ต้นไม้ฟื้นตัวเร็วหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ลักษณะของกิ่งที่สมควรตัดทิ้ง
- กิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง เป็นกิ่งที่เจริญเติบโตแยกจากส่วนของกิ่งใหญ่ตอนล่าง ลักษณะชี้ตั้งตรงไม่โผล่ออกมานอกพุ่มใบ หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นภาระในอนาคต เพราะลำต้นจะส่งอาหารไปเลี้ยงกิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการให้ดอกให้ผล เท่ากับว่าต้องแบ่งอาหารมาให้กิ่งกระโดงด้วยบางส่วน
- หน่อหรือกิ่งโคนต้น กิ่งที่แตกออกมาบริเวณส่วนล่างของโคนต้น ควรตัดทิ้งเช่นกัน
- ง่ามกิ่ง ที่บริเวณปลายกิ่งขนาดย่อย
- กิ่งคดงอ เป็นกิ่งที่คดโค้งอยู่ภายในพุ่ม มีลักษณะอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากได้รับแสงไม่เพียงพอจึงควรตัดทิ้ง
- กิ่งที่ฉีกหักคาต้น ถ้ากิ่งที่ฉีกหักคาต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป ควรตัดทิ้ง แล้วตกแต่งแผลด้วยการทาปูนแดงหรือสีน้ำมันให้ทั่ว เพื่อป้องกันเชื้อรา
เทคนิคการตัดกิ่งไม้ขนาดใหญ่
(A) เลื่อยด้านล่างของกิ่งห่างจากลำต้นประมาณ 20 เซนติเมตร โดยตัดให้ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของความหนาของกิ่ง เพื่อความปลอดภัยควรผูกเชือกไว้ที่กิ่งกับลำต้น ป้องกันการหล่นลงมาใส่ผู้ทำงานที่อยู่ด้านล่าง
(B) ตัดด้านบนให้ห่างจากรอยเดิมประมาณ 10 เซนติเมตรตามภาพ
(C) ครั้งสุดท้ายตัดให้ชิดลำต้น โดยให้รอยตัดตั้งฉากกับกิ่ง แผลจากการตัดต้องเรียบ ไม่เป็นแอ่ง เพราะอาจเกิดน้ำขังจนเป็นเชื้อรา อย่าลืมทาปูนแดงหรือสีน้ำมันทุกครั้งหลังการตัดแต่งกิ่งที่เกิดแผล
เรื่อง : “ซา รัน ยู”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข