เพราะสายน้ำไม่เคยไหลย้อนกลับ
“ในวันที่เราอาจจะต้องถามทั้งกับตัวเองและผู้รับผิดชอบดูว่าการพัฒนาชุดนี้จะสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นหรือจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับเจ้าพระยา”
การพัฒนานั้นเป็นสิ่งที่ดีแต่การพัฒนาที่ผิดพลาดอาจส่งผลกระทบเสียหายจนเราไม่อาจแก้ไขได้อีกเลยก็เป็นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในระดับเมืองที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งระดับเมืองจนถึงระดับประเทศแต่ในเมื่อเวลาและวารีไม่เคยคอยใครโครงการพัฒนาเมืองก็คงเป็นเช่นเดียวกันดังเช่นโครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 57 กิโลเมตรนั้่นมีกรอบระยะการทำงานสำหรับระยะ 14 กิโลเมตรแรกในการนำร่องให้แล้วเสร็จต้องพร้อมส่งแบบก่อสร้างภายในเดือนกันยายนนี้ และเริ่มก่อสร้างในราวเดือนมกราคมปีหน้าที่จะมาถึงซึ่งในระยะ 14 กิโลเมตรนั้นมีชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจำนวน 33 ชุมชน โดยมี 9 ชุมชนที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อนี่ยังไม่ได้พูดถึงผลกระทบต่อเมืองและประเทศเลยด้วยซ้ำแต่แม้ในวันนี้เองโครงการที่กำลังศึกษาและออกแบบโดยสจล.(สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)ก็ยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไปทั้งที่มีทั้งเสียคัดค้านและเห็นต่างจากหลายฝ่ายจนเกิดเป็นวิวาทะขึ้นระหว่างฝ่ายChaophraya for all ของสจล. ซึ่งพยายามผลักดันแบบให้และผลการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 7 เดือนและฝ่ายRiver Assembly(สมัชชาแม่น้ำ)ที่ออกมาทักท้วงในการทบทวนการศึกษาโครงการให้รอบด้านกว่าที่เป็นอยู่
“การพัฒนาเป็นเรื่องดีแต่เราอยากให้ทำการศึกษาที่รอบด้านกว่านี้”
“เราไม่ได้ต่อต้านในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาการพัฒนาเป็นเรื่องดีแต่เราอยากให้ทำการศึกษาที่รอบด้านกว่านี้ถี่ถ้วนและรอบคอบกว่านี้เพราะณตอนนี้ทีมพัฒนาได้ตั้งเป้าในการพัฒนาแบบไปในทิศทางที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาอื่นๆอย่างที่ควรจะเป็น” บางข้อความจากการประชุมแถลงข่าวเพื่อวิเคราะห์แผนและผลกระทบจากแผนการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาโดยสมัชชาแม่น้ำความเห็นต่างที่ควรค่าที่ผู้พัฒนาควรจะได้รับรู้เพราะแม่น้ำนั้นเป็นของทุกคนและผลกระทบของการพัฒนานี้ก็จะส่งไปถึงทุกคนไม่เพียงแต่คนกรุงเทพฯและคนไทยแต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาชื่นชมวิถีริมน้ำเจ้าพระยาอันมีสเน่ห์ของเราในอนาคตอีกด้วย
“ด้วยวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำอย่างที่เป็นอยู่นั้นอันที่จริงหากเข้าไปบูรณะตามชุมชนต่างๆอย่างเข้าใจก็มีค่าเพียงพอให้เกิดเป็น’มรดกโลก’ได้อยู่แล้ว”
หนึ่งในหัวข้อการวิเคราะห์ที่น่าเป็นห่วงในการประชุมก็คือความเข้าใจที่หลุดกรอบไปอย่างมากหลังการเปิดเผยร่างผังแม่บทระยะทาง 57 กมในชื่อ “นาคนาม” โดยมีเป้าหมายในการสร้างให้แม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำทั้ง 57 กิโลเมตรนั้นกลายเป็น “มรดกโลก” ซึ่งหากมองตามแนวคิดและรูปแบบเชิงหลักการเบื้องต้นไว้ใน Term of Reference (TOR)ที่มุ่งเน้นไปในการพัฒนาเชิงกายภาพของทางริมน้ำมากกว่าวัฒนธรรมรากเหง้าของวิถีชีวิตอีกทั้งรูปแบบของ โครงการพัฒนาศาลาท่าน้ำและแผนงานพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามแผนนั้นก็ยังมีรูปแบบที่ผิดไปจากข้อศึกษาทางประวัติศาสตร์ตามที่ควรจะเป็นเช่นการใช้รูปแบบของอุโบสถมาประยุกต์กับศาลาท่าน้ำหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชมชาวโปรตุเกสที่มีรูปแบบของการจอดเรือที่ผิดไปจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จึงทำให้หมุดหมายของโครงการที่จะสร้างให้เกิดเป็น “มรดกโลก” นั้นอาจเป็นการหันหัวเรือไปผิดทางก็เป็นได้และด้วยวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำอย่างที่เป็นอยู่นั้นอันที่จริงหากเข้าไปบูรณะตามชุมชนต่างๆอย่างเข้าใจก็มีค่าเพียงพอให้เกิดเป็น “มรดกโลก” ได้อยู่แล้วนี่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงในการที่โครงการนั้นไม่ได้พิจารณาทางเลือกต่างๆของการพัฒนาอย่างครบถ้วนจริงจังแต่ตั้งเป้าในการพัฒนาแบบของ “ทางเลียบแม่น้ำ” ให้สำเร็จแทนเสียมากกว่า
“หยุดทบทวนรับฟังซึ่งกันและกันแล้วไปต่อ”อาจจะเป็นหนทางเดียวในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ควรจะเป็นมากกว่าในตอนนี้อาจจะเสียเวลามาขึ้นแต่ก็คงคุ้มค่าอย่างแน่นอนเพราะคงไม่มีใครอยากเสียเวลาแยกข้างและถ่มเถียงกันไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จบเช่นนี้หากวันใดวันหนึ่งที่ทุกๆฝ่ายหันมามองหน้าและรับฟังกันได้อย่างจริงๆการพัฒนาที่รอบด้านและสมบูรณ์คงไม่ยากจนเกินไปแต่ในวันนี้เราอาจจะต้องถามทั้งกับตัวเองและผู้รับผิดชอบดูว่าการพัฒนาชุดนี้จะสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นหรือจะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับเจ้าพระยากรุงเทพฯและประเทศไทยกันแน่และเรา…จะยอมให้การพัฒนาที่ผิดพลาดเกิดขึ้นจริงๆหรือ?
ข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.friendsoftheriver-th.com
เรื่อง วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ สมัชชาแม่น้ำ และ Friends of the River