บ้าน แม่กำปอง หมู่บ้านเล็กๆ กลางป่าเมี่ยง
“แม่กำปอง” หมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี หมู่บ้านที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้สูงๆ สีเขียวๆ ระหว่างเนินเขาเมื่อมองขึ้นไปก็จะเห็นทิวต้นเมี่ยงที่ชาวบ้านปลูกไว้ บ้างก็เป็นไร่กาแฟ และสวนผลไม้ หากเดินเลี่ยงออกไปทางหลังหมู่บ้านก็จะพบทั้งลำธารและน้ำตกขนาดใหญ่ที่ สร้างความสดชื่นให้คนในหมู่บ้านได้ฉ่ำเย็น
การท่องเที่ยวกับการพัฒนาชุมชน
ด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้บ้านแม่กำปองเป็นหนึ่งในชุมชนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของโครงการประชารัฐ รักสามัคคี ประกอบกับความเข้มแข็งของคนในชุมชนที่ร่วมใจกันตั้งใจพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ซึมซับวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งด้านการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ พืชพรรณไม้เฉพาะถิ่น สมุนไพร สัตว์ป่า น้ำตก อีกทั้งศิลปะวัฒนธรรม ประเพณีล้านนา และด้านการเกษตร การประกอบอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องของใบเมี่ยง หรือใบชา ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านและเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ
กิจกรรมเก็บใบชากลางป่าเมี่ยง
การเก็บใบเมี่ยงในแต่ละช่วงเวลา จะได้คุณสมบัติของเมี่ยงที่แตกต่างกัน ถ้าเก็บช่วงหน้าร้อน เม.ย.-มิ.ย. ใบเมี่ยงจะแข็ง รสชาติฝาด เพราะได้รับน้ำฝนน้อย ถ้าเก็บในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. เรียกว่า เมี่ยงกลางปี จะมีรสชาติจางกว่าเมี่ยงหัวปี แต่ถ้าเลือกเก็บช่วง ส.ค.-ต.ค. เรียกว่า เมี่ยงช้อย เป็นผลผลิตช่วงท้ายฝน ทำให้เมี่ยงมีรสชาติดีที่สุดและเป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนช่วงเดือน พ.ค.-ม.ค. ใบเมี่ยงจะมีขนาดเล็กให้ผลผลิตน้อยกว่าช่วงอื่น
การเก็บใบเมี่ยงจะเก็บเพียงครึ่งใบเหลืออีกครึ่งใบ เพื่อให้ต้นเมี่ยงได้ใช้สังเคราะห์แสงสร้างอาหารเพื่อเลี้ยงลำต้นต่อไป หากเก็บทั้งใบ จะทำให้ต้นเมี่ยงแคระแกรน ในอดีตชาวบ้านจะใช้มือเด็ดใบเมี่ยง แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้พัฒนาอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ปลอก” ซึ่งเป็นการเอาใบมีดโกนมาเชื่อมกับห่วงวงกลมแล้วใส่ไว้ในนิ้วเพื่อช่วยตัดใบ เมี่ยง ทำให้การเก็บใบเมี่ยงทำได้รวดเร็วขึ้น
จิบชา ชิมเมี่ยง
ชาของที่นี่ทั้งชาขาวและชาเขียวนั้น มีรสชาติหอมหวานละมุนลิ้น เมื่อทานกับเมี่ยงหมักจะมีความกลมกล่อมมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเมี่ยงหมักนั้นมีทั้งรสชาติดั้งเดิมคือเปรี้ยวฝาด และเมี่ยงหมักที่ปรุงรสให้หวานโดยหมักกับน้ำเชื่อมใส่ถั่วและมะพร้าวเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น
หมอนสมุนไพรใบชา
หมอนใบชาป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่ใครมาเที่ยวก็ต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนทางบ้านด้วย ซึ่งหมอนใบชานี้ถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อจากภูมิปัญญาของกลุ่มแม่บ้านที่นำเอาใบชาแก่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์มาเพิ่มมูลค่า โดยนำมาตากแดดให้แห้ง จากนั้นก็อบแห้งอีกครั้งเพื่อไล่ความชื้น และนำมาเย็บใส่เป็นไส้หมอนในรูปแบบต่างๆ ทั้งหมอนอิงหลากหลายขนาด หมอนข้าง หมอนรองคอ รวมทั้งนำมาเย็บเป็นถุงดับกลิ่นอับชื้นในรถหรือในตู้เสื้อผ้า ซึ่งลักษณะเด่นของหมอนใบชาก็คือจะมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ทั้งยังทำให้หลับสบายอีกด้วย
การเดินทาง บ้านแม่กำปองห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทาง อ.สันกำแพงประมาณ 50 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางและเทคอนกรีต เดินทางไปมาได้สะดวกสบายทุกฤดู และใช้พาหนะได้ทุกชนิด
ขอบคุณ
- ข้อมูลจากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด
- ภาพถ่ายจากรายการภารกิจพิชิตภูธร ทางอมรินทร์ทีวี เอชดี ช่อง 34