จากมือศิลปิน…สู่ใจประชาชน

ตลอดเวลาหลายชั่วโมงของการรอคอยอยู่ภายในแถวอันยาวเหยียดท่ามกลางผู้คนในชุดดำ ทุกคนต่างก็มีความมุ่งหวังเดียวกันอยู่ที่พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ซึ่ง  คุณจักรี คงแก้ว ศิลปินนักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล มาพิมพ์แจกภายในงานบ้านและสวนแฟร์ 2016 จนกลายเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ชวนตราตรึงใจ

_mg_6087

_mg_6686

คุณจักรีได้เลือกพระบรมฉายาลักษณ์ต้นแบบจากผลงานช่างภาพชาวต่างชาติที่ตัวเองประทับใจ เป็นภาพที่มีรายละเอียดและไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก แล้วจึงนำมาขยายเพื่อถอดลายเส้นทั้งหมดออกมาเป็นแม่พิมพ์บนแผ่นไม้ขนาด A4 โดยใช้เวลาแกะอยู่เกือบหนึ่งวัน ก่อนนำมาพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ที่ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ เป็นผู้ออกแบบ โดยให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างขึ้น

_mg_6459

นี่เป็นพระบรมรูปชิ้นที่ 3 ที่ผมแกะขึ้นมา แต่สองชิ้นแรกมีขนาดใหญ่เกือบสองเมตร โดยชิ้นที่สองชื่อว่า พ่อรักรักพ่อผมตั้งใจทำอยู่เก้าชั่วโมงจากพระบรมฉายาลักษณ์ที่ท่านทรงกล้องแล้วพิมพ์แจกให้ผู้ใหญ่ที่นับถือ พอมาถึงชิ้นนี้ผมคิดว่าอยากสร้างงานศิลปะจากมือตัวเองส่งต่อให้ประชาชนคนไทยโดยตรงในจำนวนมากเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็ออกมาเหนือความคาดหมายครับ ไม่คิดว่าจะมีคนรอคอยและอยากได้มากเท่านี้ รวม 9 วันแล้วได้กว่าสามพันภาพ เห็นแล้วหายเหนื่อยเลยครับ

_mg_6075 _mg_6614

คุณจักรีหลงรักงานภาพพิมพ์เพราะเป็นศิลปะที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ และโชคดีที่เขาได้เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ ทำให้ได้เรียนรู้ผ่านความยากลำบากในการแกะไม้ เพื่อสร้างงานพิมพ์ที่มีส่วนประกอบของสีขาว สีดำ สีเทาอย่างละเอียดและมีมิติได้ขนาด ใครที่พลาดจากงานบ้านและสวนแฟร์ไปแล้ว ติดตามการแจกภาพพิมพ์นี้อีกได้ที่ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล หรือติดตามผลงานภาพพิมพ์อันสุดแสนประณีตของคุณจักรีเพิ่มเติมได้ทาง จักรี คงแก้ว และในนิทรรศการศิลปะ Variety of Wood วันที่ 22 ธันวาคม ศกนี้ ณ  หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล ถนนบรมราชชนนี

เรื่อง : “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

 

9 วัน 9 ภาพ

เคียงข้างกับแถวยาวๆ จากฝั่งภาพพิมพ์แกะไม้ มีศิลปินหนุ่มอีกสองคนกำลังขะมักเขม่นพ่นสีกระป๋องลงบนแผ่นกระดาษโปสต์การ์ดสีขาวเพื่อสร้างสรรค์เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากต้นแบบกระดาษเจาะที่ทำไว้แจก 9 ภาพภายใน 9 วันด้วยเทคนิคสีสเตนซิล

_mg_6606

คุณคเณศ นิ่มวัฒน์ และคุณกนกกร หมื่นโฮ้ง สองศิลปินนักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความสนใจทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว โดยเริ่มโปรเจ็คของตัวเองชื่อ “Interactive” เพื่อชักชวนให้เด็กๆ เปลี่ยนพฤติกรรมการพ่นสีคำหยาบคาบบนกำแพงมาเป็นงานศิลปะสำหรับชุมชน และนี่ก็เป็นหนึ่งในการสร้างงานเพื่อชุมชนคนรักพ่อหลวงเหมือนๆกัน

_mg_6565 _mg_6505

“เราชอบภาพพิมพ์เจาะกระดาษเพราะใช้เทคนิคได้หลากหลายและสนุกมาก บางทีเปลี่ยนเฉด เปลี่ยนวัสดุแม่พิมพ์ บางทีก็ใช้เส้นด้ายมาขึง สำหรับงานนี้เราพิมพ์ลงบนโปสต์การ์ดเพื่อแจกให้ทุกคน

_mg_6538

โดยเลือกพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะทรงงานและในพระราชอิริยาบถต่างๆ คือดูจากน้ำหนักและความยากง่ายของลายเส้นประกอบด้วย แต่ละชิ้นใช้เวลาเจาะกระดาษราวสามชั่วโมง แต่ถ้ามีรายละเอียดของเส้นมากก็อาจนานกว่านั้น และบางชิ้นต้องแกะไว้สามชั้นเพื่อแยกชั้นสีที่พ่นลงไป ก็เหนื่อยครับ แค่วันแรกเราแจกไป 500 ใบแล้ว แต่พอเห็นรอยยิ้มของคนที่ได้รับก็ชื่นใจ

_mg_6585

ผลงานทั้ง 9 ภาพ 9 วันที่พ่นแจกไปร่วม 4,500 ภาพ เป็นเหมือนการส่งต่อความรู้สึกประทับใจของศิลปินที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในฐานะที่ทรงเป็นอัครศิลปินซึ่งเชี่ยวชาญในศาสตร์ทุกแขนง และหากพินิจให้เนิ่นนานก็อาจรับรู้ได้ถึงคำสอนและแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ดี เพื่อน้อมนำไปปฏิบัติตามกันต่อดังเช่นศิลปินคู่นี้

ชมผลงานอื่นๆของพวกเขาเพิ่มเติมได้ที่  Kanaet Petch และ  Kanokkorn Muenhong