แบบบ้านทรงไทย

แบบบ้านทรงไทย ภูมิปัญญาจากการใช้ชีวิต

แบบบ้านทรงไทย
แบบบ้านทรงไทย

“ทางเดินในบ้านเรือนไทย”

บ้านเรือนไทยส่วนใหญ่เป็นบ้านแบบกึ่งบกกึ่งน้ำ กล่าวคือมีการยกพื้นสูงขึ้นไป จึงต้องกำหนดพื้นที่สัญจรภายในบ้าน “ชาน” คือพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อการนี้ ไม่ว่าจะเป็นชานแล่น ชานร่ม หรือชานแดด เมื่อครอบครัวต้องการขยับขยายจึงต้องมีการปลูกเรือนเพิ่ม เรือนประธานและเรือนรองจะมีชานเป็นตัวเชื่อม เรียกว่า “ชานแล่น” ถือเป็นลักษณะสำคัญของเรือนไทย การขยายเรือนเดี่ยวมาสู่เรือนหมู่มีข้อจำกัดไม่มาก จึงทำให้สามารถต่อเรือนได้ตั้งแต่สองเรือน สามเรือน ไปจนถึงสิบห้าเรือน การขยายเรือนแบบ “ล้อมชาน” จึงสามารถสร้างให้เกิดพื้นที่ส่วนกลาง (courtyard) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอุษาคเนย์

แบบบ้านทรงไทย

จะเห็นว่า “ชาน” เป็นทั้งพื้นที่สัญจร ส่วนต่อเชื่อมเรือนต่างๆ และยังเป็นพื้นที่ส่วนกลางอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการไหลเวียนอาคารจากเรือนหนึ่งสู่อีกเรือนหนึ่ง โดยแต่ละเรือนจะเปิดรับลมที่ไหลเวียนผ่านพื้นที่หลักก็คือชานแล่นออกไปนั่นเอง

ชานจึงมีความสำคัญในการกำหนดพื้นที่ของห้องในบ้านเรือนไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ชานแล่นจะเชื่อมโยงแต่ละเรือนเข้าด้วยกัน ทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางที่เรียกว่า “ชานแดด” และชานร่มหรือพาไลที่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ด้านหน้าของแต่ละเรือนด้วย

P.164

“นอนอย่างไทย”

บ้านเรือนไทยไม่นิยมปลูกเรือนขวางตะวัน แต่มักปลูกตามตะวัน ไม่ว่าจะเป็นเรือนภาคไหนก็ตาม ตามตะวันก็คือการหันหน้าจั่วบ้านไปทางแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ดังนั้นห้องนอนจะอยู่ทางทิศเหนือ และหน้าบ้านจะอยู่ทางทิศใต้ การวางแนวทิศเรือนเช่นนี้เป็นผลให้ห้องนอนที่มักอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านได้รับแสงในยามเช้า และลมเย็นในยามบ่าย ทำให้ผู้อยู่อาศัยตื่นขึ้นมาอย่างกระปรี้กระเปร่า

thaihouse-002
ลักษณะการวางเรือนตามตะวัน

ห้องนอนของไทยจะว่าเป็นห้องที่มีที่นอนและตู้เสื้อผ้าอย่างตะวันตกก็ไม่เชิงเสียทีเดียว ในความเป็นจริงแล้วห้องนอนก็คือห้องอเนกประสงค์ที่มีความเป็นส่วนตัวกว่าชานและระเบียง เป็นพื้นที่ซึ่งแบ่งความเป็นส่วนตัวระหว่างแขกกับคนในบ้าน ซึ่งจะถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่ไม่ไปล่วงล้ำ โดยปกติหากเป็นเรือนภาคกลางก็จะมีการยกพื้นขึ้นจากชานสู่ระเบียง 40 เซนติเมตร และจากระเบียงสู่ห้องนอนอีก 40 เซนติเมตร ทำให้ระดับการนั่งในห้องนอนนั้นเท่ากับระยะความสูงของผู้ที่เดินอยู่นอกชานเรือน

thaihouse-003
P23807

นอกจากนี้ในการสร้างระดับของ “พื้นที่ส่วนตัว” ในเรือนไทยจะใช้ระดับแสงเป็นตัวช่วย กล่าวคือในพื้นที่ชานแดดที่สว่างกว่านั้น พื้นที่ในร่มอย่างชานร่มจะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า และพื้นที่แสงสลัวอย่างภายในห้องนอนจะไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเลยทีเดียว ในขณะที่ภายในห้องนอนสามารถเห็นทุกพื้นที่ได้อย่างชัดเจน นับเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ออกแบบจากความเข้าใจในธรรมชาติของแสงเงานั่นเอง

เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”, “วุฒิกร สุทธิอาภา”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


รวมแบบบ้านทรงไทย 7 แบบ

ชมบ้านไม้ใต้ถุงสูงเอกลักษณ์ของบ้านไทย

ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่