เลือกปั๊มอย่างไรให้เหมาะกับขนาดบ่อ
การเลือกใช้ปั๊มน้ำหรือเครื่องสูบน้ำในสวนให้เหมาะกับขนาดและปริมาณน้ำในบ่อเป็นสิ่งสำคัญ หากใช้ปั๊มน้ำขนาดเล็กเกินไปกำลังส่งไม่เพียงพอใช้ไปไม่นานก็อาจชำรุดเสียหายได้ ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ แต่หากใช้ปั๊มตัวใหญ่ที่มีกำลังสูงในบ่อขนาดเล็กซึ่งปริมาณน้ำน้อย นอกจากจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว เมื่ออัตราการไหลเวียนของน้ำไม่เหมาะสมกับกำลังส่ง น้ำในบ่อแห้งเร็ว อาจทำให้ปั๊มน้ำชำรุดเสียหายได้เช่นกัน ดังนั้นการเลือกขนาดกำลังของปั๊มให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในบ่อจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา
โดยปัจจัยที่นำมาพิจารณา ได้แก่ อัตรการไหล (Capacity – Q) ซึ่งจะบอกปริมาณน้ำต่อหน่วยเวลา แรงดันหรือแรงส่งน้ำ (Head – H) จะบอกความสูงเป็นเมตร ทั้ง Q และ H จะเป็นตัวกำหนดกำลังของเครื่องปั๊มน้ำซึ่งอาจจะบอกเป็นวัตต์ (W) กิโลวัตต์ (KW) หรือแรงม้า (HP)
ตัวอย่างเช่น หากเครื่องสูบน้ำมีฉลากบนตัวเครื่องระบุว่า
Q = 300 – 950 ลิตรต่อนาที
H = 12 – 6 เมตร
หมายความว่า ถ้าเครื่องสูบน้ำส่งน้ำสูงระยะที่ไม่เกิน 6 เมตร จะได้ปริมาณน้ำ 950 ลิตรต่อนาที แต่ถ้าต้องส่งน้ำที่ระยะ 12 เมตร จะได้น้ำเพียง 300 ลิตรต่อนาทีเท่านั้น
ปัญหาท่อปั๊มน้ำอุดตัน
ปัญหาท่อปั๊มน้ำอุดตัน ส่วนมากเกิดจากสิ่งสกปรกภายในบ่อ อย่างเศษใบไม้ เศษดิน อาหารปลา ขี้ปลา ตะไคร่น้ำ ฯลฯ ที่สะสมอยู่นานวัน ซึ่งทางแก้ระยะยาวควรแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่การเลือกต้นไม้ริมบ่อ ควรเลือกพรรณไม้ที่มีขนาดใหญ่ เมื่อใบหลุดร่วงจะเก็บกวาดง่าย หรือปลูกพรรณไม้ประเภทต้นปาล์ม หมาก เช่น จั๋ง หมากเขียว และหมั่นช้อนเก็บกวาดเศษใบไม้ออกจากบ่อ เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าสะสมนานเกินไป ขอบบ่อปลูกพรรณไม้หรือทำแอ่งโรยกรวดเพื่อกันไม่ให้เศษดินไหลลงสู่บ่อ กรณีเศษอาหารปลา ควรใช้วิธีสังเกตว่าให้อาหารปลาปริมาณเท่าใดจึงจะไม่เหลือเศษค้างในบ่อ ใช้วิธีให้น้อย ๆ แต่บ่อยครั้งดีกว่า ติดตั้งระบบกรองที่มีที่กรองแต่ละห้องเพื่อดักเศษสิ่งสกปรกต่าง ๆ แต่หากไม่ได้เลี้ยงปลา บริเวณตัวปั๊มน้ำอาจหาตะกร้าเล็ก ๆ ครอบแล้วใส่ฟองน้ำหุ้มอีกชั้นหนึ่ง สร้างร่มเงาให้บ่อและเพิ่มระบบการไหลเวียนไม่ให้น้ำหยุดนิ่งอันเป็นสาเหตุของปัญหาตะไคร่น้ำ เพียงเท่านี้บ่อของคุณก็จะใส ไม่เกิดปัญหาท่ออุดตันได้ง่าย แต่เมื่อถึงเวลาควรล้างบ่อและท่อต่าง ๆ ให้สะอาด เพื่อระบบการไหลเวียนที่ดี และยืดอายุอุปกรณ์ในสวนน้ำให้มีอายุการใช้งานที่ยืนยาวขึ้น
คางคกวางไข่เต็มบ่อ
โดยธรรมชาติของสัตว์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก จะไม่ก่อความเสียหายให้คนเท่าใดนัก อีกทั้งเมื่อโตจะช่วยกินแมลงในบ่อและออกจากบ่อไปเอง หากกำจักมากๆอาจเสียระบบนิเวศน์ ส่วนความเชื่อที่ว่าปลากินไขคางคกแล้วจะตายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะว่าพิษของคางคกจะอยู่ที่ต่อมใต้ผิวหนังเท่านั้น จึงไม่ต้องคิดกำจัดเอาเป็นเอาตายก็ได้ นอกจากเขาจะออกไข่ลอยเป็นแพเยอะเกินไปอาจใช้กระชอนช้อนไข่ไปทิ้งภายนอกบ่อ หรือสร้างระบบหมุนเวียนให้น้ำเมื่อน้ำไม่นิ่งเขาจะไม่มาวางไข่หรือส่งเสียงให้รำคาญ แต่ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดเพราะนอกจากจะเป็นอันตรายต่อสัตว์เหล่านี้แล้วยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นกัน
ย้ายปลาลงในบ่อใหม่ทำอย่างไร
การย้ายปลาลงบ่อใหม่จะแยกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีแรก หากมีการซ่อมแซมบ่อ ต้องนำปลาออกมาเลี้ยงแยกไว้ หรือนำไปฝากเพื่อนบ้านที่มีบ่อเลี้ยงปลา โดยก่อนปล่อยลงบ่อต้องแยกปลาไว้เพื่อสังเกตพฤติกรรม หากไม่มีอะไรผิดปกติก็ปล่อยปลาลงได้ โดยค่อย ๆ วักน้ำในบ่อใส่ลงในภาชนะเพื่อให้ปลาปรับตัวก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เทปลาและน้ำในภาชนะทั้งหมดลงสู่บ่อ
ส่วนกรณีที่สอง หากป็นบ่อใหม่ควรใส่น้ำทิ้งไว้ในบ่อประมาณหนึ่งสัปดาห์และนำปลาที่ซื้อมาใส่ในภาชนะเพื่อสังเกตพฤติกรรมก่อนประมาณหนึ่งสัปดาห์จากนั้นจึงค่อยเทลงในบ่อด้วยวิธีข้างต้นเพื่อให้ปลาปรับตัว
ข้อมูลจากหนังสือ : มือใหม่จัดสวนน้ำ
เขียน : ทิพาพรรณ ศิริเวชฏารักษ์
เรียบเรียง : Gott