ดูแลรักษาเนื้อไม้ด้วยน้ำมันธรรมชาติ
คนส่วนใหญ่อาจไม่ทราบว่าเมื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้มาแล้วต้องดูแลรักษาเนื้อไม้อย่างไร หากไม่มีการดูแลรักษาที่ดีพอ เฟอร์นิเจอร์ตัวเก่งของเราก็คงมีอายุการใช้งานสั้นลง เราขอพาไปคุยกับมืออาชีพอย่าง คุณลูกท้อ – จุฑามาศ บูรณเจตน์ และ คุณดุ๋ย – ปิติ อัมระรงค์ คู่หูนักออกแบบแบรนด์ O-D-A (object design alliance) ผู้คลุกคลีกับเฟอร์นิเจอร์ไม้มานานกว่าสิบปี และกวาดรางวัลด้านการออกแบบมาแล้วหลายเวที อาทิ การผ่านเข้ารอบสุดท้ายในงาน International Furniture Design Fair Asahikawa (IFDA) จากผลงาน “R2” (2008) “BAL” (2011) และ “Salmon Bench” (2014) ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน ทำให้มืออาชีพคู่นี้มีวิธีดูแลรักษางานไม้มาแนะนำคุณผู้อ่านทุกท่านกันครับ
จุดเริ่มต้นการทำงานไม้ของ O-D-A
คุณดุ๋ย: “เราทั้งคู่ไม่ได้เป็นช่างไม้ แต่ทำงานด้านการออกแบบ ซึ่งพอทำเฟอร์นิเจอร์ไปสักระยะหนึ่ง การลงมือทำก็เป็นเรื่องสำคัญ เราจึงอยากเรียนรู้และฝึกหัด โดยเฉพาะงานฟินิชชิ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญมากในงานไม้”
การเรียนรู้งานไม้มีความสำคัญอย่างไร
การเลือกชนิดของไม้และวัสดุทาเนื้อไม้เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากส่งผลต่อหน้าตาและประสิทธิภาพในการใช้งานแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการรักษาเนื้อไม้ตลอดอายุการใช้งานด้วย คุณลูกท้อและคุณดุ๋ยจึงเรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการผลิตเพิ่มเติม เพื่อให้ชิ้นงานมีรายละเอียดมากขึ้น
คุณลูกท้อ : “ช่วยทำให้เราเข้าใจวัสดุไม้มากขึ้น เอาไว้เป็นตัวตัดสินใจในการทำโครงสร้าง และทำให้เรามีความมั่นใจในการเลือกงานฟินิชชิ่งที่ดีที่สุดให้ชิ้นงาน”
คุณดุ๋ย : “การได้ลงมือทำงานไม้จริงๆทำให้เราขบคิดถึงวัสดุที่เราใช้ รวมไปถึงประเภทของใช้นั้นๆ เช่น ของใช้ที่เกี่ยวกับของกินอย่างเขียงหรือช้อนไม้ พอเราต้องทำเอง เราก็ตัดสินใจเรื่องพวกนี้ได้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่เลือกอะไรก็ได้แล้วเลือกใช้งานฟินิชชิ่งเหมือนกันหมด”
การเลือกใช้น้ำมันรักษาเนื้อไม้
ปัจจุบันมีวัสดุมากมายที่เราสามารถนำมาทาเพื่อรักษาเนื้อไม้ได้ แต่หลักๆจะแบ่งได้สองแบบตามลักษณะของวัสดุที่ทา ได้แก่ แบบที่ทาแล้วซึมเข้าไปในเนื้อไม้ และแบบที่ทาเคลือบเฉพาะผิวนอกของเนื้อไม้ ซึ่งให้ผลลัพธ์แตกต่างกันไป
คุณลูกท้อ : “ท็อปโต๊ะถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องกันน้ำได้ ดังนั้นถ้าทาด้วยน้ำมันธรรมชาติแล้ว ต้องทาน้ำมันเคมีหรือน้ำมันสังเคราะห์เคลือบอีกชั้นหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าต้องการผิวไม้แบบไหน แต่ถ้าต้องการแบบลุคแบบโฟล์กๆหน่อยก็ลงน้ำมันธรรมชาติอย่างเดียว”
คุณดุ๋ย : “อีกอย่างคือต้องดูทักษะของผู้ลงมือทำด้วย สมมุติว่าเราต้องการจะทำเอง ก็ลงน้ำมันธรรมชาติได้เลย เพราะวิธีทาง่ายมาก รับประกันว่าทุกคนทำได้ มันไม่มีเรื่องของสีไม่สม่ำเสมอ เวลาทาออกมาแล้วจะให้อารมณ์เหมือนไม้เปียกน้ำ ซึ่งจะได้สีที่เข้มขึ้นแน่ๆ แต่พวกพอลิยูรีเทนหรือน้ำมันสังเคราะห์ไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ได้ซึมลงไปในเนื้อไม้แต่มันเกาะอยู่บนผิว เป็นไปได้ว่าสีเปลี่ยนน้อยกว่า ซึ่งลูกค้าหลายคนจะซีเรียสเรื่องพวกนี้ว่าไม่อยากให้สีเปลี่ยนไปมาก ก็ขึ้นอยู่กับความชอบด้วย”
วิธีใช้น้ำมันธรรมชาติ
การใช้น้ำมันธรรมชาติรักษาเนื้อไม้เป็นเรื่องง่าย เพราะใช้เพียงฟองน้ำ ผ้า หรือแปรง จากนั้นก็จุ่มน้ำมันและทาบนเนื้อไม้ได้เลย โดยทาตามแนวเสี้ยน อาจลงหนึ่งชั้นและขัดเสี้ยนไม้ออกหนึ่งรอบแล้วลงซ้ำ ทั้งนี้อาจลงน้ำมันรอบเดียวหรือลงขี้ผึ้งซ้ำอีกรอบด้วยก็ได้ “อันดับแรกเราใช้น้ำมันมะพร้าวทาไม้ก่อน ซึ่งน้ำมันก็จะซึมเข้าไปในไม้ ไม้มันมีไฟเบอร์ก็จะดูดน้ำมันเข้าไป พอเราใช้ไปเรื่อยๆน้ำมันก็จะระเหยออกไป เราสามารถใช้ขี้ผึ้งเคลือบไม้อีกชั้นก็ได้ จะทำให้น้ำมันคลายออกได้ช้าลง เหมือนเป็นฟิลม์บางๆเคลือบไว้อีกชั้น” คุณดุ๋ยเล่าถึงเทคนิคที่ใช้ให้ฟัง
น้ำมันธรรมชาติ VS น้ำมันสังเคราะห์
น้ำมันธรรมชาติ
ข้อดี – ปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการบำรุงเนื้อไม้ คนทั่วไปสามารถใช้งานได้ง่าย เพียงใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำมันแล้วทาได้เลย สามารถลงซ้ำได้ตามต้องการ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะได้ผิวสัมผัสที่ไม่สม่ำเสมอหรือเป็นรอยด่าง
ข้อด้อย – น้ำมันธรรมชาติจะมีการระเหยไปตามกาลเวลา ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและการโดนแดด ต้องลงน้ำมันซ้ำอยู่เรื่อยๆ อาจทุก 3 เดือน เมื่อทาแล้วสีของไม้จะเข้มขึ้น หรือน้ำมันบางชนิดเมื่อทาแล้วสีไม้อาจเปลี่ยนได้
น้ำมันสังเคราะห์
ข้อดี – ทำให้งานมีความเนี้ยบ สวยงาม สามารถกันน้ำได้ดี ทาแล้วแห้งเร็ว มีแบบสีและลวดลายให้เลือกมากมาย
ข้อด้อย – ต้องใช้ช่างที่มีฝีมือและใช้เครื่องมือที่ค่อนข้างยุ่งยาก เหมาะกับโรงงานที่มีการควบคุมมาตรฐานและต้องการความเร็วในการผลิต อาจไม่เหมาะกับการลงมือทำเองที่บ้าน
น้ำมันธรรมชาติกับการทดลองจริง
สองนักออกแบบจากแบรนด์ O-D-A ได้ทดลองใช้วัสดุทาเนื้อไม้ 4 ชนิด ได้แก่ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น น้ำมันตังอิ้ว ขี้ผึ้ง และน้ำยารักษาเนื้อไม้สำเร็จรูป โดยเลือกใช้ไม้โอ๊กซึ่งมีสีอ่อนเป็นตัวอย่าง เพื่อให้มองเห็นข้อแตกต่างกันได้ ทั้งนี้วัสดุแต่ละชนิดล้วนใช้งานง่ายและสามารถทำได้เองที่บ้าน
น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น : มีลักษณะเป็นของเหลวสีใส มีกลิ่นมะพร้าวจางๆ อาจมีกลิ่นหืน เหมาะสำหรับงานที่ต้องการคุณภาพกับงานไม้ที่ไม่ใหญ่มากนัก เพราะราคาแพง แต่ก็ใช้งานง่าย
น้ำมันตังอิ้ว : มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองที่ข้นหนืด เป็นน้ำมันที่นิยมใช้ในวัดเวลาเติมน้ำมันตะเกียง ราคาถูก มีหลายเกรด ก่อนนำไปใช้ให้อุ่นน้ำมันตังอิ้วให้มีความเหลวก่อน ข้อดีคือมีความหนืด ติดทนดี แต่ข้อเสียคือมีกลิ่นติดไม้ค่อนข้างนาน และถ้าใช้ทาไม้สีอ่อนจะเห็นว่าไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจางๆ
ขี้ผึ้ง : มีลักษณะเป็นของแข็งก้อนเล็กๆ สามารถซื้อมาเป็นถุงแล้วนำไปละลายผสมกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 4 :1 แล้วเทในตลับทิ้งไว้ให้เย็นจะมีลักษณะเป็นครีม ทำให้ใช้งานสะดวกมากขึ้น หาซื้อขี้ผึ้งได้ตามร้านขายวัตถุดิบเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีต่างๆ หรือร้านฮงฮวด ซึ่งมีหลายสาขา หรือสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ยังสามารถใส่กลิ่นเพิ่มเติมได้
น้ำยารักษาเนื้อไม้สำเร็จรูป : เป็นของเหลวสีใสที่มีลักษณะและกลิ่นคล้ายน้ำมันมะพร้าว ใช้งานง่าย สามารถใช้ทาไม้ที่เกี่ยวกับอาหารได้ เช่น เขียง ช้อนไม้ หาซื้อได้ที่ IKEA
จากการทดลองจะเห็นได้ว่า น้ำมันแต่ละชนิดทำให้สีของไม้เข้มขึ้นแตกต่างกันนิดหน่อย รวมไปถึงผิวสัมผัส และความเงาด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อลองทิ้งไว้ 3 วัน จนน้ำมันซึมลงในเนื้อไม้แล้ว กลับพบว่ามีสีใกล้เคียงกันจนแทบจะแยกไม่ออก ยกเว้นไม้ที่ทาน้ำมันตังอิ้วจะมีกลิ่นติดไม้อยู่มาก ดังนั้นการเลือกว่าจะใช้วัสดุชนิดไหนอาจขึ้นอยู่กับความสะดวกในการหาซื้อและราคา เช่น หากใช้กับงานไม้ในครัวเรือน แนะนำน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำยารักษาเนื้อไม้สำเร็จรูป เพราะใช้งานง่าย สะดวก และหาซื้อได้ไม่ยาก แต่หากต้องการลูกเล่นเพิ่ม เช่น การเติมกลิ่น อาจใช้ขี้ผึ้งที่เราสามารถปรับสูตรเองได้ ส่วนน้ำมันตังอิ้วอาจเหมาะกับงานไม้ชิ้นใหญ่เพราะต้องใช้ในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามหากต้องการคุณสมบัติกันน้ำหรือเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อไม้ คงต้องลองพิจารณาน้ำมันสังเคราะห์ ซึ่งก็มีให้เลือกมากมายเช่นกัน อยู่ที่ว่าต้องการให้เฟอร์นิเจอร์ออกมาเป็นแบบไหนด้วย
เรื่อง : “ณัฐภูมิ พงษ์เย็น”
ภาพ : สังวาล พระเทพ