หากเอ่ยถึงเมืองลพบุรี นอกจากลิงแสนซนแล้ว “ ดินสอพอง ” ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดนี้
โดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านหินสองก้อน ในตำบลทะเลชุบศร ซึ่งเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ทุกคนที่สนใจได้เข้ามาทำความรู้จัก “ ดินสอพอง ” กันด้วย
“พี่น้อย” หรือ คุณกมลรส ซ้อนใย คือผู้นำเราไปดูการผลิตดินสอพอง เธอเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนดินที่นำมาทำดินสอพองจะเรียกว่า “ดินกลาง” (เป็นคำชาวบ้าน) ซึ่งก็คือดินมาร์ล หรือปูนมาร์ลนั่นเอง ชาวบ้านจะขุดดินในพื้นที่ของกรมชลประทาน ปัจจุบันดินที่ว่านี้ต้องซื้อมาจากแหล่งใกล้เคียง ซึ่งก็อยู่ในเขตลพบุรีและสระบุรี โดยที่ลพบุรีจะเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทุกภาคจะต้องมาซื้อที่นี่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตตำบลทะเลชุบศรนั้นถือเป็นแหล่งดินที่เหมาะกับการทำดินสอพองมากที่สุด
ตามตำนานมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “เมื่อครั้งที่พระราม ได้ปราบทศกัณฐ์ได้สำเร็จนั้น พระองค์จึงอยากจะปูนบำเหน็จให้กับหนุมาน ซึ่งเป็นทหารเอก ด้วยการแผลงศรออกไปเมื่อศรตกลงไปที่ใด ที่นั้นก็จะเป็นของหนุมาน แต่ศรของพระรามเป็นศรศักดิ์สิทธิ์ ตกลงไปที่ใดก็จะลุกเป็นไฟ ทีนี้ศรได้มาตกตรงที่ทุ่งพรหมมาสตร์ (จังหวัดลพบุรี) จึงเกิดไฟลุก หนุมานเห็นดังนั้นจึงใช้หางตัวเองกวาดเปลวไฟให้ดับ บริเวณที่ถูกไฟก็จะสุกกลายเป็นสีขาว ส่วนที่โดนกวาดไปก็กลายเป็นภูเขาล้อมรอบจังหวัดลพบุรีนั่นเอง”
ระหว่างที่ฟังพี่น้อยเล่าเรื่องราวของดินสอพองอย่างเพลิดเพลิน สังเกตจากแววตาของเธอแล้วมันบ่งบอกถึงความภูมิใจในสิ่งที่ทำและสิ่งที่มีอยู่ แต่เธอก็ยังแอบกังวลไม่ได้ว่าในอนาคตอาจไม่มีใครคิดจะสานต่ออาชีพนี้แล้ว เพราะคนหนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่ค่อยสนใจกัน เราเองก็ได้แต่หวังว่าอย่าให้เวลานั้นมาถึงเลย อย่างไรเสียดินสอพองก็ควรเป็นของดีที่อยู่คู่กับเมืองลพบุรีตลอดไป ก่อนลากลับ เรายังแวะอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชนนี้ ที่อยากแนะนำก็คือไข่เค็มพอกดินสอพอง ไม่ควรพลาดครับ
ขั้นตอนการผลิตดินสอพอง
- แยกสิ่งสกปรกออกจากเนื้อดิน โดยการฉีดน้ำไปที่กองดินจนดินละลายรวมกัน ดูว่าดินนั้นข้นได้ที่แล้ว จึงสูบดินผ่านตะแกรงลงในบ่อกรอง เพื่อแยกเอากรวด หิน และเศษใบไม้ออก
2.ทิ้งไว้ในบ่อกรองหนึ่งคืน ให้ดินตกตะกอนจนเห็นเป็นน้ำใสๆ ผู้ผลิตก็จะดูดน้ำใสๆนั้นออกจนเหลือแต่แป้งดินขาว
3. ตักโคลนดินสอพองหยอดในแม่พิมพ์หยอดดินดอก ก็จะได้ดินสอพองที่มีรูปทรงคล้ายขนมอาลัวอย่างที่เราคุ้นตา จากนั้นนำไปตากแดดอย่างน้อย 2 – 3 วัน เมื่อแห้งสนิทดีแล้วจึงเก็บส่งจำหน่ายต่อไป
ประโยชน์ของดินสอพอง
ใช้เป็นส่วนผสมของผงธูป แป้งสมุนไพร ใช้ขัดเครื่องเงิน อุดรอยรั่วของไม้ พอกไข่เค็ม ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์ม ผสมน้ำอบไทยเพื่อทำแป้งกระแจะ ใช้ลงพื้นไม้เพื่อปิดร่องให้เรียบ ใช้เป็นสีรองพื้น ฯลฯ
สนใจเข้าชมการผลิตดินสอพองของชุมชนบ้านหินสองก้อน เชิญติดต่อ คุณน้อย โทรศัพท์ 08-6013-6428
เรื่อง : “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ : สมศักดิ์ แสงพลบ, ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
l ll l ll l l l l l l ll l l ll l ll l l l l l l ll l l ll l ll l l l l l l ll l l ll l ll l l l l l l ll l l ll l ll l l l l l l ll l l ll l ll l l l l l l ll l
เรื่องที่น่าสนใจ