กฎหมายบ้าน เป็นเรื่องชวนปวดหัวมากในการที่เราจะเข้าใจกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับบ้าน บ้านและสวนจึงได้คัดสิ่งที่ควรรู้ไว้เพียงไม่กี่ข้อให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างง่ายๆ ก่อนที่จะทำผิดกฎหมายบ้านกันนะครับ
หลังคาบ้านไม่ควรชิดแนวเขต
ถึงแม้จะไม่ได้สร้างหลังคาบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเพื่อนบ้านก็ตาม แต่เวลาฝนตกน้ำฝนจากหลังคาอาจตกลงในเขตบ้านข้างเคียงจนอาจเกิดความเสียหายได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามหลายอย่าง เช่น ดินเกิดการกัดเซาะ มีน้ำท่วมขังจนระบายไม่ทัน หรือแม้แต่น้ำที่กระเซ็นไปโดนสิ่งของข้างบ้านจนเกิดความเสียหาย กฎหมายถือเป็นการละเมิดสิทธิแบบหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนและฟ้องร้องให้มีการรื้อถอนได้ หรือวิธีที่ดีที่สุดก่อนที่จะมีปัญหากับเพื่อนบ้านการควรทำรางน้ำฝนระบายน้ำบนหลังคาจะดีที่สุดครับ
ความสูงในห้อง
ความสูงจากพื้นถึงฝ้าของบ้านพักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นห้องอะไรก็ตาม ต้องสูงอย่างน้อย 2.60 เมตร มากกว่านี้ก็ได้ แล้วแต่ความชอบและแนวคิดในการออกแบบครับ
บันไดในบ้าน
บันไดในบ้านใช่ว่าเราต้องการสร้างเป็นแบบไหน หรือขนาดเท่าไหร่ก็ได้ แต่ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 23 มีบทบัญญัติ ดังนี้ บันไดสำหรับบ้านพักอาศัยต้องมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร หากมีระยะเกิน 3 เมตรต้องมีชาพัก ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
เว้นพื้นที่ว่างในที่ดิน
การปลูกสร้างบ้านพักอาศัยบนที่ดินนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้เปิดเป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดย 70 เปอร์เซ็นต์ใช้เพื่อการสร้างบ้านพักอาศัย (ที่ว่างหมายถึงพื้นี่อันปราศจากสิ่งปกคลุม ซึ่งอาจจัดให้เป็นบ่อน้ำ สระว่ายน้ำ บ่อพักน้ำเสีย ที่พักขยะมูลฝอย ที่จอดรถ และให้หมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างที่สูงจากระดับดินไม่เกิน 1.20 เมตร และไม่มีหลังคาปกคลุมเหนือระดับนั้น)
สร้างรั้ว
รั้วหรือกำแพงที่สร้างขึ้นติดหรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้วให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตรเหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธาณะ
ระยะห่างจากรั้ว
หากผนังข้างบ้านของท่านมีช่องเปิดต่างๆ เช่น ประตู หน้าต่าง แนวระเบียง ท่านต้องการถอยร่นจากเขตที่ดินเป็นระยะ 2 เมตร (สำหรับบ้านสองชั้น) และถอยร่นเป็นระยะ 3 เมตร (สำหรับบ้านสามชั้น)
การขุดบ่อ ขุดสระ ทำหลุมรับโสโครก
กรณีของการขุดบ่อ หลุมส้วมและบ่อทิ้งน้ำเสีย อาจสร้างปัญหาต่างๆมากมายให้เพื่อนบ้าน เช่น น้ำซึมเข้าไปในที่ดินของบ้านข้างเคียง หรือส่งกลิ่นเหม็นสร้างความรำคาญ ซึ่งทางกฎหมายได้ระบุไว้ว่า การขุดเข้าใกล้เขตแข่งแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องห่างจากเส้นแบ่งแดนไม่น้อยกว่า 2 เมตร และเมื่อขุดแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้ดินพังอีกด้วย
ต้นไม้รุกล้ำเข้าเขต
เป็นเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาต้นไม้ของเพื่อนบ้านรุกล้ำเข้ามาพื้นที่บ้านเรา กฎหมายจึงได้มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงปัญหาเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ไว้ด้วย เช่น กิ่งก้านใบ ดอกผล ราก เป็นต้น การรุกล้ำของต้นไม้ดังกล่าวมีประเด็นเงื่อนแง่ในด้านกฎหมายดังนี้
1. ส่วนของกิ่งก้านใบหรือผลยื่นล่วงล้ำไปในที่ดินของผู้อื่น กฎหมายกําหนดให้ผู้ได้รับความเสียหายต้องแจ้งให้เจ้าของต้นไม้ตัดฟันไม่ให้เกิดการล่วงล้ำเสียก่อน หากไม่ตัดฟันต้นไม้ตามที่แจ้งจึงจะมีอํานาจเข้าตัดฟันต้นไม้และเรียกค่าเสียหายได้ กรณีเข้าไปตัดฟันเองโดยไม่แจ้งให้เจ้าของต้นไม้ทราบก่อนอาจมีความผิดตามกฎหมายอาญาข้อหาทําให้เสียทรัพย์ และข้อหาบุกรุก
2. ส่วนของรากรุกล้ำ เกิดปัญหาเกี่ยวกับการทําลายโครงสร้าง กฎหมายกําหนดให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิเข้าตัดฟันต้นไม้ได้เลย แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคดีอาญาข้อหาทําให้เสียทรัพย์ และข้อหาบุกรุกให้ยุ่งยากในทางปฏิบัติจึงควรบอกกล่าวให้เจ้าของต้นไม้ทราบก่อนด้วย
3. ส่วนของดอกหรือผลต้นไม้ ถือเป็นดอกผลและผลประโยชน์ที่ผู้ปลูกต้องการแต่เนื่องด้วยต้นไม้ปลูกริมแนวเขตทําให้ดอกหรือผลต้นไม้ออกผลยื่นไปในแดนกรรมสิทธิ์ของคนอื่น ดังนั้นจึงมีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่าดอกหรือผลดังกล่าวเป็นของใคร โดยในประเด็นของดอกผลมีสิ่งที่ต้องควรพึงระวัง ดังนี้
- หากดอกหรือผลไม้ในส่วนที่ยื่นรุกล้ำไปในแนวเขตของผู้อื่นนั้นยังไม่หลุดจากขั้วต้นไม้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของต้นไม้ เพราะเป็นดอกผลอันเกิดจากต้นไม้นั้นโดยตรง หากมีการเด็ดไปจากต้นผู้เอาไปมีความผิดอาญาข้อหาลักทรัพย์
- หากดอกหรือผลไม้ในส่วนที่ยื่นรุกล้ำมีการร่วงหล่นไปในที่ดินของผู้อื่นแล้ว การเอาไปไม่ผิดข้อหาลักทรัพย์
หนังสือสร้างและต่อเติมบ้านอย่างรู้กฎหมาย
เรื่อง : Gott