อีกหนึ่งอุปกรณ์ประจำบ้านคือ ปลั๊กไฟ รวมไปถึงปลั๊กพ่วง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ไปดู วิธีเลือกปลั๊กไฟ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานกัน
ปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วง เป็นอุปกรณ์สำหรับต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าไปใช้งานทั้งภายในและภายนอกบ้าน ที่อย่างน้อยก็ต้องมีติดบ้านกันไว้บ้าง 1-2 อันส่วนหนึ่งเป็นเพราะเต้ารับภายในบ้านมักไม่ค่อยเพียงพอกับการใช้งานจริง หรือตำแหน่งเต้ารับไม่สอดคล้องกับจุดที่ต้องการใช้ เช่น ต่อกับทีวี ไมโครเวฟ โน้ตบุ๊กตัวเก่ง รวมถึงเราเตอร์ (Router) อุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายที่ผู้คนในยุคสังคมก้มหน้าจะขาดไม่ได้เสียแล้ว วิธีเลือกปลั๊กไฟ
การใช้ปลั๊กพ่วงจึงช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก ทั้งยังหาซื้อได้ง่ายมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบตามความชอบส่วนตัว และวัตถุประสงค์ในการใช้งานแต่รู้หรือไม่ว่าสาเหตุหนึ่งที่เกิดเพลิงไหม้บ้านก็มาจากปลั๊กพ่วงนี่แหละ ครั้งนี้จึงขออาสาพาไปรู้จักปลั๊กพ่วงให้ดียิ่งขึ้นเวลาเลือกซื้อมาใช้งานจะได้ไม่ต้องมานั่งบ่นกับตัวเองว่า หมดเงินไปกับปลั๊กพ่วงไม่รู้เท่าไหร่แล้ว แต่ใช้ไม่ได้เรื่องเลยสักอัน!
เคล็ดไม่ลับ วิธีเลือกปลั๊กไฟ ปลั๊กพ่วง
1. สายไฟ
เลือกสายไฟที่มีเครื่องหมายมอก. หรือมาตรฐานของ IEC มีสายไฟภายใน 3 เส้น และมีฉนวนหุ้มทั้งสองชั้น เพื่อป้องกันการหักงอหรือถูกของมีคมทำให้สายไฟชำรุด มีความยาวที่เหมาะสมกับการใช้งานอาทิ 3 เมตร หรือ 5 เมตร และควรมีขนาดสายไฟไม่ต่ำกว่า 0.824 ตารางมิลลิเมตรหรือสายเบอร์ 18 (AWG) เพื่อรองรับโหลดกระแสไฟได้สูงหน่อย หากต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (สายไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถรองรับกระแสไฟได้ดีกว่า)
2. เต้าเสียบ/หัวปลั๊ก
ควรเลือกเต้าเสียบหรือหัวปลั๊กขากลมแทนขาแบน เพราะเป็นมาตรฐานมอก. ของประเทศไทย และมีฉนวนหุ้มที่โคนขาปลั๊กทั้งสองขา เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วสัมผัสขาปลั๊กที่มีไฟ
3. เต้ารับ
ขาเต้ารับซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผงวงจรภายในควรทำจากทองเหลืองหรือทองแดง เพราะนำไฟฟ้าได้ดีกว่าเหล็กชุบสีหรือโลหะอื่นๆ ซึ่งใช้ไปไม่นาน ขาเสียบมักจะหลวม อาจเกิดการอาร์คขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ปลั๊กพ่วงไหม้ได้ ส่วนบ้านที่มีเด็กเล็กควรใช้เต้ารับแบบมีม่านนิรภัย (Safety Shutter) เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วมือแหย่รูปลั๊กพ่วงขณะใช้งาน
4. รางปลั๊กพ่วง
ควรทำจากวัสดุคุณภาพสูง มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก ABS , AVC หรือ PC ซึ่งทนความร้อนและแรงกระแทกได้ดีกว่าพลาสติก PVC ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้กรณีเกิดความร้อนสูง
5. ระบบไฟฟ้า
ปลั๊กพ่วงที่ดีต้องบอกพิกัดไฟสูงสุดที่สามารถรองรับได้ เช่น 220V 2500W 10A หมายความว่า แรงดันไฟฟ้าของประเทศไทยกำหนดให้ใช้งานระหว่าง 220 – 250โวล์ต ใช้กำลังไฟสูงสุดไม่เกิน2500 วัตต์ และทนกระแสไฟได้สูงสุด 10 แอมแปร์ที่สำคัญต้องมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ตัดกระแสไฟฟ้าเกิน
นอกจากนี้ปลั๊กพ่วงควรมีสวิตช์เปิด-ปิด เพื่อป้องกันไฟกระชากจากการถอดปลั๊กเต้าเสียบ มีไฟแสดงสถานะการทำงานและปลั๊กพ่วงรุ่นใหม่ๆอาจมีช่องเสียบUSB เพิ่มมา สำหรับใช้ชาร์จพวกอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ หรือถ้าใช้กับพวกชุดเครื่องเสียงที่มีราคาแพงก็จะมีปลั๊กพ่วงเฉพาะทาง อาทิ มีระบบกรองสัญญาณที่มีคุณภาพสูง ให้เลือกใช้งานอีกด้วย
จากที่กล่าวมานี้ แม้ปลั๊กพ่วงของเราจะเทพขนาดไหนก็ไร้ผล ถ้าที่บ้านไม่มีระบบสายดินที่ดี แต่เหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมไปจ่ายค่าไฟด้วยนะครับ เพราะต่อให้ปลั๊กพ่วงดีแค่ไหน ถ้าโดนตัดไฟก็ไร้ประโยชน์นะจะบอกให้
รู้ไว้ใช่ว่า
- ปลั๊กพ่วงที่มีจำหน่ายในบ้านเรา แทบทุกแบรนด์จะบอกกว่ามีมอก. กันทั้งนั้น ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ เพราะมาตรฐานมอก.11-2531 ที่เห็นบนปลั๊กพ่วงส่วนใหญ่นั้นเป็น มอก.ของสายไฟฟ้า (ไม่ใช่ มอก.ของปลั๊กพ่วง) ซึ่งเครื่องหมายมอก.2432-2555ต่างหากที่จะเป็นตัวบอกได้ว่าชุดสายพ่วงนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว เป็นมาตรฐานของชุดสายพ่วงทั้งชิ้น ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยและงานทั่วไปปัจจุบันมีเพียง 1-2 ราย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานนี้ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานผู้ผลิตปลั๊กพ่วงคงต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั่นเอง
- หลายท่านที่ซื้อปลั๊กพ่วงมาใช้งานมักจะคลั่งไคล้เต้ารับนานาชาติ (Universal Receptacle) ถ้าเป็นผู้ที่เดินทางไปทำงาน หรือท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วติดหัวแปลงปลั๊กไฟอเนกประสงค์ไปด้วยก็น่าจะตอบโจทย์ได้ดี แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเราส่วนใหญ่ หัวปลั๊กจะเป็นแบบหัวกลมและแบน ดังนั้นเต้ารับนานาชาติจึงอาจไม่จำเป็นเท่าใดนัก แค่เลือกใช้เต้ารับที่ได้มาตรฐานมอก.เสียบปลั๊กได้แน่น ไม่หลวมหรือโยกคลอนก็เพียงพอแล้ว แถมยังประหยัดเงินอีกด้วยนะ
ข้อควรระวัง
ถ้าปลั๊กพ่วงชำรุด เช่น สายไฟขาด มีรอยไหม้ เสียบเต้ารับแล้วสปาร์ค ไม่ควรซ่อม แต่ควรซื้อใหม่ และไม่ควรเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันมากเกินไป และไม่เสียบพ่วงกันหลายต่อ เพราะจะทำให้เกิดความร้อนสะสมและเกิดไฟไหม้ได้