สุดฝีมือเพื่อพ่อ ๒ : ชมเบื้องหลังการสรรค์สร้าง “พระเมรุมาศ”
ความโศกเศร้าที่เกาะกุมหัวใจคนไทยนับตั้งแต่ ๑๓ ตุลาคมปีที่ผ่านมา นำไปสู่การเฝ้าติดตามข่าวสารแห่งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ กันอย่างใกล้ชิด
นอกเหนือไปจากการแสดงความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างสุดซึ้ง ในอีกด้านหนึ่ง การดำเนินไปของการจัดสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ศาสตร์แห่งงานศิลปสถาปัตยกรรมไทย ได้ถูกบอกเล่าจากช่างสู่ช่าง จากสำนักช่างฝีมือสู่ประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมา ท่ามกลางกระแสโมเดิร์นที่เกือบกลบกลืนแก่น “ความเป็นไทย”
หลังจากที่ room มีโอกาสไปเยือน “สำนักช่างสิบหมู่” เพื่อเยี่ยมชมเบื้องหลังของส่วน “งานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์” ในโอกาสนี้ room ขอพาคุณไปติดตามความคืบหน้าในการจัดสร้าง พระเมรุมาศ พร้อมเรื่องราวของคณะทำงานในแวดวงงานศิลปสถาปัตยกรรมไทยในยุคสมัยปัจจุบัน ผ่านการพูดคุยกับ คุณชาริณี อรรถจินดา สถาปนิก ชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ดูแลเพจ “จด และ หมายเหตุ : เล่าเรื่องสถาปัตยกรรมไทย” พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังแบบลงลึกตลอดกระบวนการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระราชพิธี
- พระเมรุมาศ : ความหมายเหนือสถาปัตยกรรม
พระเมรุมาศถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงพระเกียรติยศของทั้งพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ และพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน การออกแบบพระเมรุมาศในทุกยุคสมัยจึงเป็นการสร้างสรรค์อย่างสุดฝีมือของช่างทุกสำนัก ทุกแขนง โดยใช้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ไว้ภายใต้ขนบของศิลปะไทยดั้งเดิม
“ตามคติความเชื่อตั้งแต่อดีตมา พระเมรุนั้นเปรียบได้กับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่สถิตของทวยเทพ หนึ่งในความเชื่อที่มีมานั้น เราเปรียบกษัตริย์เป็นดั่งพระนารายณ์ที่อวตารลงมา พอพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ก็เสด็จกลับไปยังเขาพระสุเมรุ หรือบางยุคก็เชื่อว่าพระองค์ท่านจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า เมื่อสวรรคตก็เสด็จกลับไปยังสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วเสด็จกลับมาเป็นศาสดาอีกครั้ง จึงเห็นได้ว่าช่างฝีมือแต่ละท่านก็จะหยิบยกสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุมาประกอบไว้ในงานออกแบบ”
- พระเมรุมาศถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนศิลปะไทยในแต่ละยุคสมัยหรือไม่?
“ศิลปะไทยคงไม่ได้เปลี่ยนไปตามรัชกาลแบบชัดเจน เพราะตั้งแต่อดีต ช่างฝีมือจะสังกัดตามวัง เช่น ช่างของวังหลวง ช่างของวังหน้า รูปแบบหรือสไตล์ของงานก็สืบทอดต่อกันมาในสกุลช่าง โดยมีเจ้านายอุปถัมภ์ อย่างงานพระเมรุมาศในอดีตก็จะเป็นการร่วมกันทำงานของช่างจากหลายๆ สำนัก จึงเกิดการสืบทอดวิชาจากบรมครูสู่ศิษย์ผู้เป็นช่างในสังกัดรุ่นต่อๆมา”
- ศิลปะไทยควรคงไว้ตามแบบต้นฉบับ หรือปรับประยุกต์ไปตามยุคสมัย?
“ท่านอาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้กล่าวไว้ว่า สถาปัตยกรรมเหมือนดังการประพันธ์เพลง หากทำแล้วซ้ำเดิม จะทำไปเพื่ออะไร ดังนั้นแม่ท่าลวดลายไทยต่างๆ ก็สามารถแตกลาย สร้างสรรค์ต่อยอดไปเรื่อยๆ เหมือนกับเรามีโน้ตเพลง เราก็สามารถแต่งเพลงไปได้หลากหลาย”
“จริงๆ แล้ว ความงามมักถูกบอกว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่สำหรับสถาปัตยกรรมไทยจะมีกรอบของความงามอยู่ ซึ่งมีการถ่ายทอดรูปแบบตามสถาบัน ถึงช่างแต่ละสำนักก็จะมีลายเส้นที่ไม่เหมือนกัน แต่การมองความงามกลับเหมือนกัน ซึ่งพอเรารู้ว่าขนบความสวยนี้คืออะไร เราก็สามารถออกแบบไปได้หลากหลายเหมือนอย่างการประพันธ์นั่นเอง“
- เทคโนโลยีสมัยใหม่คือส่วนหนึ่งของการพัฒนา?
พระเมรุมาศถือเป็นสถาปัตยกรรมลำลองหรือสถาปัตยกรรมชั่วคราว ดังนั้นระบบการก่อสร้างรวมถึงวัสดุประดับตกแต่งต่างๆ จึงแตกต่างจากสถาปัตยกรรมถาวร เพื่อให้เหมาะสมกับปรัชญาความชั่วคราว รวมถึงกระบวนการสร้างและรื้อถอนหลังพระราชพิธี
“โครงสร้างหลักของพระเมรุมาศประกอบด้วย ส่วนยอด ตัวเรือน และฐานราก นับตั้งแต่อดีตพระเมรุมาศในแต่ละยุคสมัยล้วนปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบของความสร้างสรรค์ของช่าง และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่พัฒนาไป จากโครงสร้างไม้ทั้งต้นในพระเมรุมาศสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงในรัชกาลที่ ๔ มีการปรับเปลี่ยนเรื่อยมา จนในสมัยพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เริ่มมีการใช้การเสริมเหล็ก ส่วนที่เห็นใช้โครงสร้างเหล็กชัดเจนน่าจะเป็นในสมัยของสมเด็จย่า เป็นโครงเหล็กประกอบไม้”
“โดยปกติการก่อสร้างสถาปัตยกรรมลำลองอย่างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงจะไม่ใช้เสาเข็ม เนื่องจากชั้นดินอัดแน่นสามารถรับและกระจายแรงได้ดี โดยในอดีตจะใช้ระบบฐานรากแบบแผ่ที่เรียกว่า “แระ” ส่วนในการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งก่อน ใช้ฐานรากแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดรูกลวง (Hollow-Core Slab) ส่วนในครั้งนี้ เนื่องจากพระเมรุมาศมีขนาดใหญ่ จึงออกแบบฐานรากเป็นแบบคอนกรีตหล่อกับที่ รับแรงแยกกันทุกยอด ส่วนบริเวณอื่นใช้คอนกรีตหล่อสำเร็จ โครงสร้างตัวเรื่องและยอด ทั้งหมดจะใช้โครงสร้างเหล็กประกอบ โดยออกแบบเป็นโครงสร้างซูเปอร์ทรัส (Super truss) คือเป็นแนวทรัสคู่ขนานที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ทำสำเร็จจากโรงงาน จึงมีการเชื่อมเหล็กหน้างานน้อยมาก”
- โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว หลังจากงานพระราชพิธี โครงสร้างพระเมรุมาศจะถูกรื้อถอนไปไหน?
“โดยแนวคิดของสถาปัตยกรรมลำลองนั้น เรารู้อยู่แล้วว่าต้องรื้อถอนหลังพระราชพิธี จึงพยายามออกแบบโครงสร้างและองค์ประกอบที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ อย่างพระเมรุมาศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสร้างด้วยไม้ เป็นพระเมรุมาศที่ใหญ่มาก มีอาคารประกอบหลายหลัง เมื่อเสร็จพระราชพิธีก็โปรดเกล้าฯ ให้รื้อโครงสร้างไม้เพื่อไปสร้างเป็นโรงพยาบาลศิริราช”
“แต่จริงๆ แล้ว พระเมรุเป็นสัญลักษณ์แห่งความโศกเศร้า บางทีการยกพระเมรุให้กลายเป็นอนุสรณ์ไว้ที่อื่น จะเหมือนเป็นการยืดเยื้อความโศกเศร้าที่ไม่สิ้นสุด อีกอย่างคือ องค์ประกอบศิลปะและสถาปัตยกรรม ต่างล้วนทำตามปรัชญาแห่งความชั่วคราว ถ้าใช้งานหรือปล่อยไว้นานไปก็คงดูโทรม ไม่สมพระเกียรติ”