หน้าบานตู้ บานพับถ้วย เป็นอุปกรณ์ประกอบบานตู้ที่ได้รับความนิยมจากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบน็อกดาวน์หรือบิลท์อิน เพราะบานพับชนิดนี้มีสปริงในตัว ทำให้เปิด-ปิดสะดวก สามารถประกอบและถอดหน้าบานได้อย่างรวดเร็ว มีความแข็งแรง เปิด–ปิดได้หลายหมื่นครั้ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละรายด้วยเช่นกัน
เมื่อเราใช้งานไปสักระยะหนึ่ง หากพบว่าหน้าบานตู้เสื้อผ้าหรือหน้าบานตู้ครัวไม่สามารถปิดได้สนิท หรือปิดไม่ค่อยนุ่มนวลเหมือนก่อน เพราะมีเหตุมาจากตัวบานพับถ้วย เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยการขันสกรูว์ที่ตัวบานพับโดยใช้ไขควงเพียงตัวเดียว ซึ่งทำได้ 3 ทิศทางคือ การปรับทางด้านข้าง (ปรับซ้าย-ขวา)การปรับด้านความสูง (ปรับขึ้น-ลง ) และการปรับในด้านความลึก(ปรับลึก-ตื้น ) ไม่ต้องเสียเงินเรียกช่าง หรือรบกวนช่างมืออาชีพให้ยุ่งยาก
เทคนิคการปรับหน้าบาน(ตู้)
การปรับด้านข้าง (การปรับซ้าย-ขวา บวกลบได้ 1-3 มิลลิเมตร)
เป็นการปรับหน้าบานตู้ไปทางด้านข้างในแนวราบ(ซ้ายมือหรือขวามือ) ด้วยการขันสกรูว์ตัวหน้าสุดของบานพับถ้วยโดยสามารถปรับได้ 1-3 มิลลิเมตร เหมาะกับการแก้ปัญหาในกรณีที่หน้าบานตู้เกยทับกันหรือปิดได้ไม่สนิท
การปรับด้านความสูง (การปรับขึ้น-ลงบวกลบได้ 1-2 มิลลิเมตร)
เป็นการปรับหน้าบานตู้ให้สูงหรือต่ำ ด้วยการขันสกรูว์ที่บริเวณขารองหนุนของบานพับถ้วย ทั้งตัวบนและล่าง โดยสามารถปรับได้ไม่เกิน 2 มิลลิเมตร เหมาะกับการแก้ปัญหาบานตู้ตกหรือไม่ได้ระดับ
การปรับด้านความลึก(การปรับลึก-ตื้นบวกลบได้ 1-3 มิลลิเมตร)
เป็นการปรับความลึก-ตื้นของหน้าบานตู้ ด้วยการขันสกรูว์ตัวท้ายสุดที่บริเวณแขนบานพับถ้วย โดยสามารถปรับได้ 1-3 มิลลิเมตรมักใช้แก้ปัญหาการเสียดสีกันระหว่างตัวตู้กับหน้าบาน เนื่องจากมีระยะห่างจากโครงตู้น้อยเกินไป
นอกจากนี้บานพับถ้วยคุณภาพสูงบางรุ่นยังสามารถปรับความแรงของสปริงเพื่อเพิ่มหรือลดความแรงของการปิดหน้าบานได้ ทำให้การปิดประตูทำได้นุ่มนวลยิ่งขึ้น (ไม่เกิดเสียงดัง)