บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา

บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา ในบรรยากาศแสนสบาย

บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา
บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา

บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา ที่ดัดแปลงจากเรือนยุ้งข้าวเก่า แต่ปรับขนาดให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ตกแต่งด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ตัวบ้านเปิดโล่งกลมกลืนไปกับธรรมชาติ สร้างบรรยากาศที่น่าอยู่และเย็นสบาย

บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา
มองจากบ้านหลังใหญ่ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าจะเห็นเรือนรับรองทั้งสองหลังโอบล้อมด้วยทิวทัศน์อันเขียวขจี ให้ความรู้สึกร่มรื่นและน่าพักผ่อน
บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา

บ้านไม้พื้นถิ่นล้านนา ของ พันตำรวจเอก เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ ซึ่งสร้างเป็นเรือนรับรองแยกออกจากบ้านหลังใหญ่และอยู่ในระดับต่ำกว่า โดยปลูกไล่ลงไปตามระดับความชันของภูเขา จึงช่วยแบ่งพื้นที่ได้อย่างเป็นเอกเทศ และยังคงความเป็นธรรมชาติไว้ได้ดี

เรือนรับรองนี้สร้างแยกเป็น 2 หลังอย่างเป็นสัดส่วน ออกแบบหน้าตาและขนาดของเรือนให้ดูใกล้เคียงกัน โดยดัดแปลงจากเรือนยุ้งข้าวเก่าสไตล์ล้านนา โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้สักเก่า จึงมีความคงทนแข็งแรง ผู้ออกแบบปรับขนาดของเรือนยุ้งข้าวให้เหมาะกับการอยู่อาศัยจริง ด้วยที่ตั้งที่มีลักษณะเป็นเนินจึงต้องปรับเป็นพื้นราบก่อน เพื่อให้สะดวกกับการก่อสร้าง พร้อมทำกำแพงเตี้ยๆบอกขอบเขต และยังเป็นส่วนกั้นแนวดินด้วยในตัว

ชั้นล่างของเรือนดูคล้ายใต้ถุนโล่ง แต่ปรับให้เข้ากับการใช้งานใหม่ด้วยการกรุผนังกระจกโดยรอบ ทั้งสองหลังวางพื้นที่ใช้สอยเหมือนกัน โดยชั้นล่างเป็นส่วนนั่งเล่น และด้านหลังต่อเติมออกไปเป็นห้องน้ำ ชั้นบนเป็นห้องนอน (ไม่มีห้องน้ำ) แม้ว่ารายละเอียดของการตกแต่งจะต่างกัน ทว่าทั้งสองหลังก็ดูน่าอยู่และสวยงามไม่ด้อยไปกว่ากัน

เรือนยุ้งข้าว
เรือนหลังนี้ตั้งอยู่กลางเนินที่ปรับพื้นที่ใหม่ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเนินจริง จึงจำเป็นต้องทำกำแพงกั้นแนวดิน โดยออกแบบให้มีรูปลักษณ์เหมือนกำแพงแก้วล้อมโบสถ์ตามแบบอย่างล้านนา ส่วนตัวเรือนดูเบาลอย เพราะชั้นล่างเป็นผนังกระจกใสซึ่งได้ปรับขนาดให้กว้างและสูงขึ้นกว่าของเดิม
ส่วนนั่งเล่น
ชั้นล่างของเรือนรับรองจัดเป็นส่วนนั่งเล่น ออกแบบให้วางเสาไม้บนแท่นปูนซึ่งดูสูงกว่าปกติ เพราะเรือนยุ้งข้าวเดิมไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนใต้ถุนได้ ในส่วนของทางเข้าเปิดช่องโล่งขึ้นไปถึงเพดานชั้นบน และตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมแนวประเพณีล้านนา
พื้นหินอ่อน
ห้องน้ำเป็นส่วนที่ต่อเติมเพิ่มในชั้นล่าง มีขนาดใหญ่พอที่จะใช้งานได้สะดวกสบาย ด้านในยังแยกเป็นห้องอาบน้ำและห้องสุขา
ห้องนอนชั้นบนจัดวางฟูกหนาบนพื้นห้อง ชิดผนังด้านใน เพื่อให้ทางเดินภายในห้องกว้างขึ้น โครงสร้างเรือนยุ้งข้าวมักไม่สูงมาก จึงออกแบบให้เห็นโครงหลังคาที่เรียงกระเบื้องดินเผาอย่างเป็นระเบียบ
ด้านหน้าเรือนหลังที่สองมีชานกว้างกว่าหลังแรก ทำขอบระเบียงเป็นที่นั่งเล่นเหมือนที่บ้านโบราณนิยมทำกัน ในช่วงเช้าตัวเรือนจะบังแสงอาทิตย์ ทำให้บริเวณนี้ร่มรื่น ส่วนช่วงบ่ายได้รับแสงบ้างแต่ไม่นานนัก เพราะมีเหลี่ยมเขาช่วยบังแสงให้
มุมนั่งเล่นริมระเบียง
อีกด้านหนึ่งของเรือนจัดเป็นมุมเรือนน้ำต้นตามแบบฉบับของบ้านล้านนา เป็นมุมที่เย็นสบายตลอดทั้งวัน เพราะมีต้นลำไยและเหล่าไม้ประดับช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ดูร่มเย็น
มุมนั่งเล่น
ชั้นล่างของเรือนหลังที่ 2 จัดเป็นส่วนนั่งเล่นเช่นกัน ผนังห้องกรุกระจกใสทั้งหมด ทำให้พื้นที่ภายในดูโปร่งแม้จะมีเสาไม้สักขนาดใหญ่ตั้งอยู่ก็ตาม เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบโบราณกับเก้าอี้หวายให้ความรู้สึกผ่อนคลายสมกับบรรยากาศของเรือนรับรอง
ห้องน้ำ
ห้องน้ำชั้นล่างที่ต่อเติมออกมา ดูปลอดโปร่งกว่าของเรือนหลังแรก เพราะทำส่วนอาบน้ำฝักบัวแบบเปิดโล่งไว้ด้านนอก เพื่อให้แสงสว่างเข้ามาภายในห้องได้
นอนกับพื้น
ห้องนอนชั้นบนจัดวางที่นอนเดี่ยว 2 ที่ โดยเว้นช่องว่างตรงกลางให้กว้างขึ้น เพราะใช้เป็นประตูออกไปสู่ระเบียงหน้าห้องได้ โดยยังคงวางฟูกหนาบนพื้นห้อง ทำให้โครงหลังคาดูสูงขึ้น

เอกลักษณ์พื้นถิ่นแบบบ้านไทยก็คือ เรือนใต้ถุนสูงที่สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของบ้านเรา เรือนรับรองทั้งสองหลังนี้อิงงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา โดยดัดแปลงมาจากเรือนยุ้งข้าว แต่ปรับขนาดให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย ในส่วนของงานตกแต่งก็ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เพิ่มความสวยงาม ด้วยรายละเอียดของงานไม้ เฟอร์นิเจอร์สไตล์ไทยแบบขาสิงห์และขาคู้ เก้าอี้หวาย หรืองานเซรามิกโทนสีบลูแอนด์ไวท์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน นอกจากนี้ยังใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินอ่อนและหินธรรมชาติ ซึ่งเก็บความเย็นได้ดี เมื่อรวมกับการออกแบบบ้านให้เปิดโล่งกลมกลืนไปกับธรรมชาติก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ทั้งน่าอยู่และเย็นสบายได้ไม่ยาก

แม้บ้านหลังใหญ่จะมีความสมบูรณ์พร้อมต่อการอยู่อาศัยแล้ว แต่คุณเกรียงศักดิ์ก็ให้เหตุผลที่สร้างเพิ่มเติมอีก 2 หลังว่า “เวลาที่ผมมาพักผ่อนเพื่อนฝูงที่สนิทกันมักตามมาสมทบ นัดกันมากินข้าวและก็อยู่จนดึก บางทีก็จัดปาร์ตี้รอบกองไฟ ผมมีเตาย่างบาร์บีคิวเตรียมพร้อมไว้หมด พอสนุกกันก็ไม่อยากกลับบ้านแล้ว จริงๆ ผมมีพื้นที่พอให้เขากางเต็นท์นอนกันได้ แต่คิดไปคิดมาสร้างเรือนรับรองน่าจะดีกว่า 1 หลังก็เหมือน 1 ห้องสวีท มีส่วนนั่งเล่น ห้องน้ำและห้องนอนในตัว ต่างกันที่แยกกันอยู่คนละชั้น เขาได้ความเป็นส่วนตัว ผมก็ได้เช่นกัน จะตื่นตอนไหนก็แล้วแต่ ที่บ้านผมเตรียมอาหารไว้ให้ได้ครับ”

การตกแต่งภายในเป็นสไตล์ไทยผสมผสานทรอปิคัลจากไม้สีธรรมชาติ ลวดลายไทยจากวัสดุกรุและของตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ไม้และหวายตัวสวยก็เพิ่มเสน่ห์ให้บ้านได้ดี ยิ่งได้ธรรมชาติที่สวยงามเป็นฉากหลังด้วยแล้ว เหมือนความสุขมารออยู่ตรงหน้าจริงๆ

เจ้าของ : พันตำรวจเอก เกรียงศักดิ์ กัลยาวัฒนเจริญ

ออกแบบ : คุณผดุง ปาลี


เรื่อง : Atta Otto

ภาพ : สังวาล พระเทพ

รวมแบบบ้านหลองข้าว ที่ปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน

รวมบ้านไม้สไตล์ล้านนา อบอุ่น อยู่สบาย