POD ART at YELO House: นิทรรศการภาพวาดบนผืนผ้าใบของ ธนชัย อุชชิน ศิลปินผู้ใช้หัวใจนำทาง

ศิลปะเยียวยาทุกสิ่งได้จริงไหม สำหรับบางคนอาจจะใช่ บางคนอาจจะไม่ แต่สำหรับเจ้าของนิทรรศการภาพวาด ‘POD ART at YELO House‘ ธนชัย อุชชิน หรือ ‘ป๊อด โมเดิร์นด็อก’ ให้คำตอบกับเราไว้ว่า “ศิลปะสามารถนำตัวเขาหลุดออกมาจากเรื่องราว ความคิด โดยไม่ต้องหาเหตุและผลรองรับ” ดังนั้นรอยพู่กันและสีสันที่เราเห็นบนผืนผ้าใบจึงเปรียบได้กับการวาดภาพที่ใช้หัวใจนำทาง สื่อสารพัฒนาการด้านอารมณ์ของเขาออกมา ณ ห้วงเวลานั้น room มีโอกาสคุยกับป๊อดเมื่อสองวันก่อน ก่อนที่งานจัดแสดงผลงานของเขาจะเริ่มต้นขึ้นในเวลาหกโมงเย็นของวันนี้ (24 สิงหาคม) และจะเปิดให้ชมเรื่อยไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 เท่านั้นที่ YELO House

POD ART
ศิลปินขณะรังสรรค์ผลงานภาพวาดนามธรรมบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่

Art: YELO House : ปลุก energy ในพื้นที่สีเหลือง 

ดนตรี กับ ศิลปะ ของศิษย์เก่าครุศิลป์ จุฬาฯ รุ่น 22

ตอนเรียนครุศิลป์สนใจดนตรีมากกว่า จึงหันไปเขียนเพลง ตั้งวงดนตรีตั้งแต่เรียนอยู่ปี 4 แต่ชีวิตในเชิงศิลปะเราสนใจมาตั้งแต่เด็ก เก็บฝังอยู่ในความรู้สึกลึกๆ จนกระทั่งมีบางจังหวะโผล่ออกมาในช่วงที่แต่งเพลงไม่ออก พอมันเคว้งเราก็หันมาทำ Collage (ศิลปะการตัดแปะ) ถ่ายรูปบ้าง ซึ่งช่วยเยียวยาและเปิดมุมมองจากการที่เราโฟกัสอยู่แค่ดนตรีอย่างเดียว เหมือนทำให้เราเจออากาศที่โล่ง หายใจสบาย ศิลปะ กับ ดนตรี จึงเป็นบาลานซ์ซึ่งกันและกัน

“ถ้าหากย้อนกลับที่งานดนตรี เวลาที่จะต้องเขียนเพลงสักเพลงหนึ่งจะต้องมีประเด็น มีคอนเซ็ปต์ที่ผมอยากจะพูดถึง ซึ่งก็มีบางภาวะ บางช่วงที่อยากจะลองไม่ใช้สมอง ใช้แต่หัวใจอย่างเดียว”

ยังคงจับพู่กันอย่างต่อเนื่อง

เราก็เคยสงสัยนะว่า นักร้องเวลาไม่ร้องเพลงเขาทำอะไรกันบ้าง เราก็เป็นคนหนึ่งในวันที่ไม่มีแสดง หรือว่าเขียนเพลงไม่ออก ก็รู้สึกเสียดายวันที่ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะ เราก็อยากจะมีบันทึกของวันนั้นๆ ทำงานศิลปะเข้ากับจริตของเรา อีกอย่างพอทำงานศิลปะทำให้เราหลุดออกจากเรื่องราว โดยเฉพาะแนวที่ผมทำคือ Abstract ทำให้ผมไม่ต้องคิดว่าจะหาเหตุผลให้กับอะไร

ทำไมต้อง Abstract

ถ้าหากย้อนกลับที่งานดนตรี เวลาที่จะต้องเขียนเพลงสักเพลงหนึ่งจะต้องมีประเด็น มีคอนเซ็ปต์ที่ผมอยากจะพูดถึง ซึ่งก็มีบางภาวะ บางช่วงที่อยากจะลองไม่ใช้สมอง ใช้แต่หัวใจอย่างเดียว ฟังหัวใจบอกว่าอะไร เลยเป็นทางออกที่ดีมากที่เราไม่ต้องเข้าไปสู่ประเด็น ประธาน กิริยา กรรม ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร รู้สึกเป็นอิสระ ได้เกิดการถาม-ตอบ สนทนากับตัวเอง

Message ที่ต้องการสื่อสารออกไปในผลงาน  

Message คือการออกจากความคิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันยังมีความคิดอยู่ว่าจะต้องใช้พู่กันเบอร์ไหนอยู่ดี แต่ Message หลักๆ คือการออกจากความคิด งานศิลปะของผมเป็น Visual diary ภาพแต่ละภาพ ชื่อภาพมันคือวัน เดือน ปี ที่เราวาด เช่นถ้าเป็นงานของวันนี้ก็จะเป็น 21/08/17 มันคือการที่ผมเอาไดอารีออกมาแสดง แต่ว่าแทนที่จะเป็นถ้อยคำมันก็เป็นภาพแทน

การจัดแสดงงานเหมือนความฝันของเราอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่กล้าจะฝันอะไรไปไกลมาก แค่คิดว่าได้ทำในสิ่งที่เรารักก็เอ็นจอยแล้ว จนกระทั่งมีโอกาสได้แสดงไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ในช่วงนั้นทาง YELO House เองเห็นผมทำเลยอยากให้มาแสดงที่นี่ด้วย แต่ที่ผ่านมาผมทำงานสะสมมาตลอด 3-4 ปี อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีแสดงหรือไม่มีแสดงก็ตาม ผมทำเพื่อสนองต่อความรู้สึกของตัวเอง เลยกลายมาเป็นการจัดแสดงในครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็จะกลับมาเพ้นท์ต่อ (ป๊อดหัวเราะให้กับภาพที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์)

 “3-4 ปีหลังผมจะทำงานศิลปะแต่จะเก็บเอาไว้ไม่ค่อยได้ออกมาแสดง อาจเป็นที่ Social Media ด้วย พอเรามีไอจี (@modernpod) เราทำงานก็โพสต์และแชร์ออกไปในแต่ละวันว่าเราทำอะไร ทาง Curator คือ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ สนใจก็เลยขอมาดูผลงานของผมที่บ้าน แล้วคิดว่างานมี Potential ที่จะแสดงได้ ก็เลยตกลงจัดแสดงงานเพราะมันก็เหมือนความฝันของเราอย่างหนึ่ง”

มีความรู้สึกอย่างไรกับการได้วาดภาพบนผ้าใบผืนใหญ่ครั้งแรก

ผมให้ร่างกายทำงาน ทุกๆ ครั้งที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของวันนี้หรือทุกๆ วัน เหมือนกับว่า อากาศที่อยู่รอบเรา ไม่ว่าจะเป็นคน อุณหภูมิ หรือเป็นเพลง มันสร้างปฏิกิริยาอะไรกับเรา แล้วเราก็ถ่ายทอดออกไปอย่างนั้น จริงๆ แล้วมันง่ายมากเลยนะ เหมือนการเฝ้าดูตัวเอง งานผมอาจจะไม่ได้เล่าถึงเรื่องราวข้างนอกว่าเป็นอย่างไร แต่ว่ากลับมามองข้างในว่าเรารู้สึกอะไรเท่านั้นเอง มันเหมือนการสร้างบทสนทากับตัวเอง อาจจะเป็นการพักผ่อนทางจิตใจ การบำบัดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะงานเพลงหรืองานแสดง มันคือการสื่อสารกับคนภายนอก แต่เวลาที่ผมได้อยู่กับแคนวาส หรืออยู่กับงานข้างหน้า เหมือนผมได้กลับมาหาตัวเอง

ความแตกต่างของ POD ART ครั้งนี้

ผู้ชมอาจจะรู้สึกหรือตีความได้ว่า มันอาจจะเป็นเรื่องของสีก็ได้ หรือพัฒนาการของอารมณ์ของผมที่ต่างไปในแต่ละช่วง ถ้าไปดู POD ART ครั้งแรกก็จะเป็นงานสะสมจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว งานก็จะเป็นอีกคาแรกเตอร์หนึ่ง

เลือกชิ้นงานมาจัดแสดงให้สอดคล้องไปกับพื้นที่ของ YELO House อย่างไร  

ผมนำงานที่มีอยู่มาจัดแสดง ตอนทำงานก็ทำโดยอิสระ แต่เมื่อมาจัดวางก็เลือกว่าชิ้นไหนที่มันใช่ (กับที่นี่) จริงๆ

ทำไมต้องเฟรมวงกลม

(เขาหัวเราะก่อนตอบว่า) อยากทดลองฟอร์มอื่น อยากลองเฟรมวงกลมดูบ้าง ภาพซ้ายเพิ่งเสร็จเมื่อวานเลยนะ ภาพขวาก็เสร็จเมื่อวานซืน เป็นสองชิ้นที่ชอบมากที่สุด ณ ตอนนี้

 

‘POD ART at YELO House’ เป็นนิทรรศการแสดงจิตรกรรมนามธรรม (Abstract art) ชื่อเดียวกับเดี่ยวการแสดงครั้งแรก ‘POD ART by Thanachai Ujjin’ Curated by ARTIST+RUN ที่ Woof Pack Space เมื่อ 13 พฤษภาคม – 26 มิถุนายน 2560 POD ART ครั้งนี้ศิลปินจึงบอกว่าผู้ชมอาจจะรู้สึกหรือตีความได้ว่า อาจจะเป็นเรื่องของสี หรือพัฒนาการด้านอารมณ์ของเขาที่ต่างไปในแต่ละช่วงเวลา

POD ART at YELO House

จากศิลปินที่เราคุ้นเคยทั้งน้ำเสียง และพลังงานอันเหลือล้นบนเวทีการแสดงสดที่สามารถปลุกใจคนดูเรือนหมื่นให้กระโดดไปพร้อมกับเขาและสมาชิกในวงโมเดิร์นด็อก ทว่ากับงานศิลปะแล้วทุกสิ่งตรงข้าม ภาพวาดเหล่านี้หยุดให้เราดื่มด่ำผลงานที่เจ้าตัวเผยว่า เป็นการสื่อสารพัฒนาการด้านอารมณ์จากตัวเขา ณ ห้วงเวลานั้น ด้วยความสงบโดยไม่ต้องกระโดดโลดเต้น หากแต่ยังคงเพลิดเพลินไม่แพ้พลังดนตรีที่เป็นภาพจำของชายหัวใจศิลป์ที่ชื่อ ธนชัย อุชชิน เลยแม้แต่น้อย

รายละเอียดเพิ่มเติม : POD ART at YELO House : Exhibition Opening
WEB SITE : yelohouse.com , facebook.com/yelohouse

YELO House : ปลุก energy ในพื้นที่สีเหลือง


เรื่อง: Nawapat D.
ภาพ: Tann , Gott