เรียนรู้ทำความเข้าใจ ระบบน้ำในบ้าน
ระบบน้ำในบ้านพักอาศัยนั้นมีด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบน้ำดีและระบบน้ำทิ้ง ระบบน้ำดีเป็นการต่อท่อประปาจากมิเตอร์หน้าบ้านเข้ามาใช้ภายในบ้าน
ระบบน้ำในบ้าน โดยทั่วไปน้ำจากการประปามักมีแรงดันต่ำ จึงมักเกิดปัญหาเมื่อต้องใช้งานในบ้านสูงกว่า ถ้าบ้านอยู่ในพื้นที่ที่มีบ้านเรือนหนาแน่นก็จะเกิดการแย่งกันใช้น้ำ อย่างเช่น วันเสาร์-อาทิตย์คนส่วนใหญ่มักอยู่บ้านซักเสื้อผ้า รดน้ำต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน ล้างรถ ทำให้แรงดันน้ำต่ำลง จนบางครั้งน้ำไม่ไหลเลย(ก็มี) ดังนั้นเราจึงนิยมใช้ปั๊มน้ำมาช่วยเพิ่มแรงดันน้ำให้สูงขึ้น สามารถติดตั้งได้หลายรูปแบบ แต่ในที่นี้ขอแนะนำ 2 ระบบที่นิยมใช้งานกันดังนี้
ระบบที่ 1
เป็นระบบที่นิยมกันมาก โดยติดตั้งปั๊มน้ำกับแท็งก์น้ำที่อยู่ชั้นล่าง อาจตั้งไว้หน้าบ้านหรือหลังบ้านก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมในการเดินท่อน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน โดยหลักการเราจะตั้งแท็งก์เพื่อเก็บน้ำที่ผ่านจากมิเตอร์หน้าบ้าน แล้วจึงต่อมายังปั๊มน้ำเพื่อเพิ่มแรงดันน้ำ ให้สามารถจ่ายน้ำขึ้นไปยังชั้นที่อยู่สูงขึ้นไปได้
ระบบนี้ปั๊มจะทำงานเมื่อเปิดใช้น้ำและหยุดทันทีเมื่อปิดน้ำ หากไม่มีผู้ใช้น้ำแต่ปั๊มยังทำงานเองเป็นครั้งคราว นั่นแสดงว่าในระบบท่อน้ำดีมีการรั่วซึม จำเป็นต้องตรวจสอบและแก้ไขกันต่อไป
ระบบที่ 2
เหมาะกับบ้านขนาดใหญ่ที่มีผู้อยู่อาศัยจำนวนมาก มีห้องน้ำหลายห้อง และมักใช้งานพร้อมๆกัน ทำให้ระบบที่ 1 จ่ายน้ำไม่เพียงพอ จุดเริ่มของระบบที่ 2 นี้ จะคล้ายระบบที่ 1 คือ ติดตั้งแท็งก์ตัวที่ 1 ต่อจากมิเตอร์หน้าบ้าน แล้วต่อท่อมายังปั๊มน้ำ จากนั้นต่อท่อขึ้นไปยังแท็งก์ตัวที่ 2 ซึ่งอยู่บนอาคาร (ระดับสูงกว่าห้องน้ำชั้นบนสุดของบ้านประมาณ 6 เมตร) อาจตั้งอยู่บนพื้นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) หรือวางบนขาตั้งเหล็กสูงที่ตั้งบนดาดฟ้าอีกทีหนึ่งก็ได้ และแท็งก์ตัวที่ 2 นี้ จะทำหน้าที่จ่ายน้ำไปยังจุดใช้น้ำต่างๆภายในบ้าน
ระบบนี้ต้องใช้งบประมาณสูงกว่าระบบที่ 1 แต่จะประหยัดค่าไฟ เพราะปั๊มน้ำจะทำงานน้อยกว่า กล่าวคือ ระบบที่ 1 ปั๊มน้ำจะทำงานทุกครั้งที่มีผู้ใช้น้ำ แต่ระบบที่ 2 ปั๊มน้ำจะทำงานเมื่อปริมาณน้ำในแท็งก์ตัวที่ 2 ลดลงประมาณหนึ่งในสาม ปั๊มจะดันน้ำเข้าไปเติมให้เต็มแท็งก์ดังเดิม
TIPS
- ห้ามต่อปั๊มน้ำเข้ากับมิเตอร์หน้าบ้านเพื่อดึงน้ำจากท่อประปาโดยตรง นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว หากน้ำประปาหยุดไหลหรือไหลน้อยจะทำให้ปั๊มน้ำเสียหายหรือไหม้ได้
- ควรเลือกปั๊มน้ำที่มีกำลังมอเตอร์ของปั๊มให้เหมาะกับขนาดของบ้านและพฤติกรรมการใช้น้ำถ้าเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวหรือทาวน์เฮ้าส์ อยู่กันแค่ 2-3 คน ให้เลือกขนาด 150วัตต์ก็พอ แต่หากเป็นครอบครัวใหญ่และชอบใช้น้ำในเวลาใกล้เคียงกันก็ต้องใช้ปั๊มที่มีกำลังวัตต์สูงขึ้นด้วย คิดง่ายๆถ้าเป็นบ้านเดี่ยวหรือตึกแถว 2-3 ชั้นมีห้องน้ำ 2-3 ห้องก็ควรเลือกใช้ขนาด 250-300 วัตต์ขึ้นไป
- การเลือกขนาดของถังเก็บน้ำให้เหมาะกับผู้อยู่อาศัยในบ้านคิดง่ายก็คือ คนเราใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร (ทั้งดื่มและใช้) ถ้าบ้านเรามีสมาชิก 4 คนก็เอา 200 คูณเข้าไปแล้วบวกกับจำนวนวันที่ต้องการสำรองน้ำไว้ใช้ยามคับขัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นตัวเลขของถังเก็บน้ำที่ควรซื้อมาใช้งานนั่นเอง
จะรู้ได้อย่างไรว่าท่อน้ำประปารั่วซึม
ส่วนใหญ่บิลค่าน้ำที่สูงผิดปกติจะเกิดจากการรั่วไหลของน้ำ อาทิ ท่อแตกหรือรั่ว อุปกรณ์ภายในโถสุขภัณฑ์รั่วซึม การตรวจสอบท่อน้ำประปาแตกหรือรั่วซึมนั้นแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ การตรวจสอบท่อรั่วภายในบ้านและท่อรั่วใต้ผิวดิน
วิธีการตรวจสอบท่อรั่วภายในบ้าน
1 ปิดก๊อกน้ำทุกจุดภายในบ้าน
2.สังเกตดูการทำงานของมาตรวัดน้ำว่าตัวเลขมีการเคลื่อนไหวหรือไม่
คำแนะนำ หากมาตรวัดน้ำยังเดินอยู่แสดงว่ามีท่อรั่ว ควรเรียกช่างประปามาซ่อมแซมทันที ในกรณีที่มีการฝังท่อไว้
ในผนังปูน หากมีการรั่วซึมจะมีคราบน้ำหรือรอยเปียกชื้นให้เห็นก็ให้กะเทาะผนังออกแล้วซ่อมแซมให้เรียบร้อย
วิธีการตรวจสอบท่อรั่วใต้ผิวดิน
•ให้สังเกตพื้นดินโดยรอบ ถ้ามีท่อแตกหรือรั่วซึม บริเวณนั้นจะเปียกชื้นและทรุดต่ำกว่าที่อื่น หรือหากมีต้นไม้อยู่ใกล้ๆก็จะเจริญเติบโตมีใบเขียวชอุ่มกว่าบริเวณอื่นๆ
•น้ำจะไหลอ่อนกว่าปกติ
คำแนะนำ ให้ติดตั้งวาล์วประตูน้ำขนาดเล็ก(Stop Valve) เพิ่มเติมในแต่ละโซน อาทิ ห้องน้ำ ห้องครัว ฯลฯ เพราะหากมีท่อแตก รั่ว หรือเปลี่ยนก๊อกน้ำใหม่ให้ปิดวาล์วน้ำบริเวณนั้นเพื่อซ่อมแซม โดยเรายังสามารถใช้น้ำในจุดอื่นๆ ได้ (ไม่ต้องปิดวาล์วที่มาตรวัดน้ำ)
สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับงานซ่อมแซมต่างๆในบ้าน สามารถหาหนังสือ“ช่างประจำบ้าน” เขียนโดย คุณศักดา ประสานไทย ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน มาติดบ้านไว้สักเล่มก็ดีนะครับ