เพราะไม้ไผ่ถือเป็นวัตถุดิบสารพัดประโยชน์ เจ้าของบ้านจึงนำมาเป็นวัสดุหลักของ บ้านไม้ไผ่ หลังเล็ก โดยนำรูปเเบบการวางผังเเละหน้าตาของเรือนเครื่องผูกของชาวเขามาปรับใช้ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชนบทแบบดั้งเดิมจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นชายคาที่ยื่นยาว หลังคายกสูงทำให้พื้นที่ภายในโปร่ง อากาศถ่ายเท บ้านจึงไม่ร้อน พร้อมๆไปกับการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง
เจ้าของ – ออกแบบ : คุณชัชชัย นนทะเปารยะ
บ้านไม้ไผ่หลังเล็ก
รถสองแถวคันใหญ่แล่นมาจอดข้างดงไม้ เสียงเบรกดังตามด้วยฝุ่นแดงๆ คลุ้ง ป้ายไม้ข้างทางบอกว่าถึง“สถานีบางไผ่” ผมกระโดดลงจากรถ เเบกของพะรุงพะรังข้ามฝั่งถนนมานั่งพักอยู่ที่เพิงสังกะสีหน้าร้านขายของชำเเละอุปกรณ์การเกษตร เหลือบมองนาฬิกาตอนนี้บ่ายสองโมงสามสิบห้า ไม่เป็นไร…ผมเลยเวลานัดมานิดเดียว (เนื่องจากการซ่อมถนนแถวแก่งคอยทำเอารถติดยาวเหยียดร่วมชั่วโมง) บ้านไม้ไผ่ หลังเล็ก
ได้ยินเสียงรถเครื่องมาจอดเทียบข้างๆ ร้านพอดี คุณอ๊อด – ชัชชัย นนทะเปารยะ บุรุษหนวดงามร่างสันทัดวัยห้าสิบกว่าๆ ยิ้มทักทาย แล้วชวนผมซ้อนมอเตอร์ไซค์คู่ใจขับไต่เนินทางลูกรังและทุ่งมันสำปะหลังเข้าไปเยี่ยม “บ้าน” ของเขาที่เชิงเขา ระหว่างทางยังถามอย่างห่วงใยว่า “โน้ตบุ๊กชาร์จแบตแป๊บเดียวจะใช้พอเหรอ ที่บ้านผมไม่ใช้ไฟฟ้านะเต้”
ผมเดินสำรวจรอบๆ บ้านบนเนินดินลาดกว้าง มีพื้นหลังเป็นภูเขาหัวตัดลูกโตเขียวชอุ่มกับท้องฟ้าใส ทั้งตัวบ้านทั้งของใช้ในบ้าน เเทบจะทำจากวัสดุชนิดเดียว คือ “ไม้ไผ่” เป็น บ้านไม้ไผ่หลังเล็ก ที่ดูเรียบง่ายและพอเพียง
“การออกเเบบเเละการใช้งานต่างๆ ในบ้านหลังนี้ส่วนใหญ่มีที่มาจากคุณสมบัติของไม้ไผ่ทั้งนั้น เป็นวัตถุดิบสารพัดประโยชน์จริงๆ เดิมทีตั้งใจว่าจะสร้างเป็นโรงเรือนที่มีที่นอนพักได้ ก็เลยจะมีทั้งพื้นที่เปิดสำหรับทำงานต่อเนื่องกับพื้นที่กลางเเจ้งภายนอก มีห้องเก็บเครื่องมือเเละอุปกรณ์การเกษตรต่างๆส่วนรูปทรงของบ้าน ผมเอารูปเเบบการวางผังเเละหน้าตาของเรือนเครื่องผูกของชาวเขามาปรับใช้ จะเห็นว่าชายคาจะยื่นยาว หลังคายกสูง ทำให้พื้นที่ภายในโปร่ง อากาศถ่ายเท เเละไม่ร้อน” คุณอ๊อดเริ่มจัดแจงตั้งเตาย่างที่นอกชายคา
“คนเดี๋ยวนี้ชอบเอาเงินเป็นตัวตั้ง เชื่อกันว่าต้องหาเงินมาเยอะๆ แล้วจะได้มีความสุข” คุณอ๊อดพูดพลางย่างบาร์บีคิวกลิ่นหอมฉุย “จริงๆ แล้วเราสร้างปัจจัยสี่เองได้ แค่มีดิน อยากกินอะไรก็ปลูกสิ ไม่ต้องปลูกเป็นไร่ๆ ก็ได้ เอาแค่อย่างละสองต้นก็เหลือกินแล้ว อย่างผักก็ปลูกเองข้างๆ บ้าน เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นพันธุ์พื้นเมือง เลยสามารถเอาเมล็ดมาเพาะต่อได้เรื่อยๆ พอเราไปหาปัจจัยสี่ด้วยเงินกันหมด
สังคมก็กลายเป็นสังคมบริโภคนิยม ที่มีความเชื่อว่า ยิ่งมีมาก ยิ่งสุขมาก…จริงเหรอ ผมเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงคือสุขจากการครอบครองเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่สุขจากการครอบครองไว้มากๆ ก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ที่เงินไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการใช้ชีวิต มาเรียนรู้วิถีชีวิตชนบทแบบดั้งเดิมจริงๆ”
ห้องนอนฝาไม้ไผ่ตีตั้งยกพื้นสูงขึ้นจากระดับฐานบ้านด้วยพื้นไม้กระดานและปูทับด้วยเเผ่นกระเบื้องยางลายไม้ ผนังรอบๆ กรุผ้าดิบสีขาวยึดกับโครงไม้ไผ่ง่ายๆ ด้วยแม็กยิง ทำหน้าที่กรองแสงและกันแมลงที่จะเข้ามาตามร่องไม้ไผ่ แต่ก็ยังปล่อยให้ลมผ่านได้เล็กน้อยเพื่อระบายอากาศ มุ้งใหญ่ขนาดสามคนนอนผูกรวบไว้ในเวลากลางวัน พร้อมให้คลี่ออกใช้ในเวลานอน (ซี่งก็คือเวลาประมาณสองทุ่มของทุกวันเพราะฟ้ามืดแล้ว)
“ผมถือว่าพื้นที่ทั้งหมดนี้คือบ้านนะ ไม่ใช่แค่กระท่อมหลังนี้เพราะเราอยู่กับดินกับหญ้ากับต้นไม้ ในพื้นที่สามสิบไร่นี้ ผมต้องเรียนรู้และสร้าง ‘บ้าน’ ขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมเดิม ดูซิว่าธรรมชาติให้อะไรเรามาบ้าง ให้หิน ให้น้ำ ให้ลม ให้เนิน บ้านนี้ทำเลดีมาก เพราะอยู่สูงจากระดับถนนทางเข้าเยอะใครไปใครมาก็เห็นแต่ไกล เเล้วยังมียามสองตัวนี้อีกเลยสบายมากวิวจากบนนี้จะเหมือนมองจากระเบียงคอนโดสูงๆ แต่ไม่มีตึกหรือกรอบมาเกะกะสายตาเลย”
คุณอ๊อดจิบกาเเฟเเล้วเสริมอีกว่าช่างที่มาปรับพื้นที่เเปลงนี้มีส่วนมากในการทำให้ที่ดินเปล่ารกๆเกิดการใช้งานเป็นสัดเป็นส่วน ทั้งบ่อเก็บน้ำ 3 บ่อ (พร้อมประตูระบายน้ำเปิด – ปิดได้) นาขั้นบันได ไปจนถึงเเปลงปลูกป่าข้างๆ บ้าน ต้องอาศัยการมองให้ขาด เพื่อใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างที่เป็นอยู่นี้
ฟ้ามืดเเล้ว ตะเกียงถูกจุดขึ้นในบางส่วนที่จำเป็นของบ้าน เเหงนหน้ามองฟ้าจากตรงนี้เห็นดาวเต็มไปหมด อาจเพราะไม่มีเเสงไฟสังเคราะห์เเละหมอกควันของเมืองมากลบเหมือนเคย บาร์บีคิวหมดเกลี้ยงไปพักใหญ่แล้ว ผมขออนุญาตคุณอ๊อดค้างคืนที่บ้านน้อยหลังนี้ ก่อนกลับไปใช้ชีวิตรีบเร่งเหมือนเดิม สำหรับผม…บ้านหลังนี้นอกจากจะเป็นที่ซุกหัวนอนเเล้ว ยังเป็นโรงเรียนที่สอนให้ผมได้เห็นว่า “นอกบ้าน” ยังมีที่ให้ค้นหา เรียนรู้ เเละเลือกใช้ชีวิตได้อีกไม่รู้จบสิ้น
เรื่องและภาพประกอบ : ฮ่องเต้
ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู
ผู้ช่วยช่างภาพ : เทวัญ ตั้งแสงประทีป