สุดฝีมือเพื่อพ่อ : งานจิตรกรรมประกอบพระเมรุมาศ

งานจิตรกรรมประกอบพระเมรุมาศ นับเป็นอีกงานที่มีความประณีตสูง การวาดภาพเขียนสีตกแต่งในส่วนต่างๆ ของพระเมรุมาศและอาคารประกอบในพระราชพิธี ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนสีประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศซึ่งได้กล่าวไปก่อนแล้วนั้น งานจิตรกรรม ฉากบังเพลิงและงานจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรมก็เป็นอีกส่วนที่ต้องอาศัยช่างเขียนผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก นอกเหนือไปจากช่างชำนาญการจากสำนักช่างสิบหมู่แล้ว ยังมีจิตอาสาจากหลายสถาบันการศึกษามาร่วมกันเพื่องานครั้งนี้ด้วย โดยงานจิตรกรรมทั้งหมดอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ คุณมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร นำเสนอผลงานในรูปแบบเฉพาะของศิลปะในรัชกาลที่ 9 โดยยังคงยึดถือแบบแผนสำคัญของงานจิตรกรรมไทย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรมมีขนาดใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องใช้นั่งร้านเพื่อช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น

ผนังที่ 1 ในตำแหน่งกลางพระที่นั่งทรงธรรม แสดงเรื่องราวในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และโครงการพระราชดำริในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 19 โครงการ
ผนังที่ 2 ในตำแหน่งมุขด้านขวา แสดงเรื่องราวโครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือรวม 13 โครงการ
ผนังที่ 3 ในมุขด้านซ้ายแสดงเรื่องราวโครงการพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ รวม 14 โครงการ

 

จิตรกรรมฉากบังเพลิง

“ฉากบังเพลิง”เป็นเครื่องกั้นในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพื่อมิให้เห็นการถวายพระเพลิงและใช้สำหรับบังลม มีลักษณะเป็นฉากพับได้ติดไว้กับเสาพระเมรุมาศทั้ง 4 ด้าน ภาพเขียนบนฉากมักเป็นภาพเทพยดา โดยในพระราชพิธีครั้งนี้ฉากบังเพลิงแต่ละด้าน ประกอบด้วยฉากพับ 4 บาน แต่ละบานแบ่งเป็น 2 ช่องบนและล่าง ช่องด้านบนของฉากบังเพลิงจะผนึกชิ้นงานภาพเขียนเรื่องราวของพระนารายณ์อวตารฉบับพระราชนิพนธ์ประจำรัชกาลที่6 จำนวน 8 ปาง ตามความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์คือสมมุติเทพที่อวตารลงมาปกครองโลกมนุษย์ ส่วนด้านล่างเป็นโครงการในพระราชดำริ แบ่งเป็น 4 หมวดคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วนด้านหลังฉากบังเพลิงทั้ง 4 ทิศเขียนดอกไม้ทิพย์และดอกไม้มงคลพร้อมอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับด้วยอักษรดาวเรืองสีเหลืองและลวดลายเฟื่องอุบะดอกมณฑาทิพย์

ขั้นตอนการทำงานเริ่มต้นจากการร่างภาพและทำภาพสีต้นแบบก่อนจะขยายแบบเท่าจริงเพื่อตรวจสอบรายละเอียดและสัดส่วนต่างๆ  ก่อนนำแบบขยายดังกล่าวไปเป็นแบบวาดและลงสีจริงลงบนผืนผ้าใบแคนวาสด้วยสีอะคริลิกซึ่งทนความชื้นและแสงแดดได้ดีกว่าสีฝุ่นที่ใช้ในอดีต แบ่งการทำงานโดยให้ผู้ที่ลงสีบรรยากาศพื้นหลังเป็นผู้ลงสีพื้นหลั งในทุกๆ ชิ้นงานส่วนผู้ที่ถนัดวาดภาพเทวดาก็จะวาดแต่รายละเอียดของภาพเทวดาเท่านั้นเพื่อให้เกิดความกลมกลืนของภาพรวมทั้งหมด และเมื่อลงมือเขียนชิ้นงานทั้งหมดเสร็จสิ้น จึงค่อยนำผืนผ้าใบไปผนึกเข้ากับโครงไม้แต่ละบานของฉากบังเพลิง

ขั้นตอนการเขียนภาพตามแบบร่างภาพจิตรกรรมด้านหน้าของฉากบังเพลิง
ภาพจิตรกรรมด้านหลังฉากบังเพลิง
ภาพนารายณ์อวตารปางต่าง ๆ บนด้านหน้าของฉากบังเพลิง

 

จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงธรรม

“พระที่นั่งทรงธรรม” เป็นอาคารประกอบพระเมรุมาศ ใช้สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมทั้งต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ผนังภายในทั้ง 3 ด้านประดับด้วยภาพเขียนฝาผนังขนาดใหญ่ โดยผนังแรกมีขนาด 14.60 เมตรและสูง 8 เมตร ผนังที่ 2 และ 3 ขนาด 11.60 เมตร และสูง 7 เมตร ชิ้นงานนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของช่างฝีมือและจิตอาสากว่า 200 คน เพื่อเขียนภาพโครงการในพระราชดำริรวม 46 โครงการ โดยใช้สีอะคริลิกบน ผ้าใบแคนวาส

รูปแบบภาพจิตรกรรมที่ดูเหมือนมองลงมาจากด้านบนตามแบบจิตรกรรมไทยโบราณ แต่ละองค์ประกอบล้วนมีมิติดูเหมือนจริง
แบบร่างผนังด้านหนึ่งของงานจิตรกรรมพระที่นั่งทรงธรรม

ภาพทั้งหมดให้มุมมองที่ดูเหมือนมองลงมาจากด้านบนตามแบบจิตรกรรมไทยโบราณ แต่ละองค์ประกอบล้วนมีมิติและมีรายละเอียดเหมือนจริง เช่น ใบหน้าคน ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 9 มีขั้นตอนการทำงานไม่ต่างจากการทำงานจิตรกรรมฉากบังเพลิง โดยเป็นฝีมือของจิตอาสาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง และวิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ทั้งอาจารย์ นักศึกษาและศิษย์เก่าหมุนเวียนมาช่วยกันสร้างสรรค์ให้ลุล่วงในเวลาจำกัด

 

ติดตามเรื่องราว #สุดฝีมือเพื่อพ่อ ทั้งหมดได้ในนิตยสาร room ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ที่ room ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านทุกกระบวนการสร้างสรรค์พระเมรุมาศ รวบรวม เรียงร้อย และสรุปแนวความคิดการออกแบบ ความร่วมมือร่วมใจของงานช่างไทยหลากหลายสาขาที่ทุ่มเทสุดฝีมือเพื่อถ่ายทอดความทรงจําและความรักด้วยการถวายงานแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย

 

อ่านต่อ :โปรเจ็กต์สุดฝีมือเพื่อพ่อ

 

สุดฝีมือเพื่อพ่อ : งานประติมากรรม ในการจัดสร้างพระเมรุมาศ


เรื่อง กรกฎา, monosoda
ภาพปก วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ภาพ ศุภวรรณ, ศุภกร, อภิรักษ์, อนุพงษ์, นันทิยา, สรวิชญ์
ภาพประกอบ patit