เกษตรทฤษฎีใหม่ พื้นที่ของความสุขรอบบ้าน -บ้านและสวน

เกษตรทฤษฎีใหม่ ในวิถีคนเมือง

หลายๆ คนที่ชอบกล่าวว่า “บ้านในเมืองไม่มีพื้นที่” หรือ “ไม่มีเวลาดูแล” อาจจะเป็นข้ออ้างที่ทำให้ผู้คนที่อยู่บ้านในเมืองใหญ่นั้นเลือกที่จะไม่ทำเกษตรกรรมครัวเรือน เกษตรทฤษฎีใหม่

วันนี้บ้านและสวนอยากจะชวนคุณผู้อ่านมาตีความคำว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สามารถนำไปปฏิบัติได้ผ่านแนวคิดแบบ เกษตรทฤษฎีใหม่ สู่การออกแบบพื้นที่เกษตรกรรมง่ายๆ ในบ้านแบบคนเมือง เพราะเราเชื่อว่าการนำตัวเองเข้าสู่ธรรมชาติในรูปแบบที่หยิบจับได้ เช่น ปลูกผักกินเองจะทำให้เรารู้สึกได้ถึงความสุขกว่าที่เคยมากกว่านั้นอาจจะนำไปแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้ด้วย เป็นการสร้างและเผื่อแผ่ความสุขร่วมในระดับชุมชนต่อไปทีนี้…เราจะมาตามดูขั้นตอนที่ทำได้จริงกัน..

เกษตรทฤษฎีใหม่

รู้จักพื้นที่ของตัวเอง

เริ่มจากดูขนาดพื้นที่ในบ้านของเราแล้วจึงวางแผน บ้านเดี่ยวได้เปรียบตรงที่มีพื้นที่รอบๆ บ้านให้ได้จัดสรรแบ่งส่วนได้หลากหลาย หากเป็นตึกแถวก็จะมีพื้นที่บนดาดฟ้าส่วนทาวน์เฮ้าส์หรือคอนโดก็ยังพอจะจัดแบ่งพื้นที่หน้าบ้านหรือริมระเบียงได้ วิธีที่แนะนำสำหรับวิถีเกษตรคนเมือง คือ การเพาะปลูกแบบไม่ลงดิน เช่น ทำกระบะ ทำสวนกระถาง หรือ จะจัดแบ่งพื้นที่ข้างบ้านทำแปลงปลูกผักโดยปลูกลงกระบะ สิ่งที่ต้องคำนึงและใส่ใจ คือ การเฝ้าสังเกตดูว่าพื้นที่ของบ้านแต่ละส่วนนั้นมีแสงแดดส่องมากน้อยแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งยังต้องมีการดูแลแตกต่างกันไปในพืชแต่ละประเภทด้วย

สำรวจความต้องการ…หาความพอดี

เกษตรทฤษฎีใหม่

ขั้นตอนต่อมาก็คือ การสำรวจความต้องการและความชอบพืชผักที่เราจะปลูก หรือนำมาปรุงเป็นอาหาร ผักหรือพืชพันธุ์ประเภทใดที่จะเผื่อเก็บไปแจก หรือไปขาย โดยจดบันทึกความต้องการ ก่อนจะทบทวนและตัดทอนให้ไม่มากเกินกำลังที่เราจะดูแล การรู้จักความพอดีนั้นสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มแรก ซึ่งควรจะเริ่มทำในพื้นที่ไม่มากนัก เพื่อจะสำรวจกำลังของตัวเองก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับขยายพื้นที่ออกไปตามที่ตั้งใจไว้ เมื่อมีความชำนาญเพียงพอแล้ว

เลือกวิธีที่เหมาะกับพื้นที่และพืชผัก

เกษตรทฤษฎีใหม่

พืชผักแต่ละชนิดนั้นเหมาะกับรูปแบบสวนที่แตกต่างกันไป อีกทั้งพื้นที่ก็เป็นตัวกำหนดด้วยเช่นกัน หากพื้นที่ของเรานั้นเป็นดาดฟ้าที่มีความร้อน เช่น พื้นปูน การทำกระบะปลูกต้นไม้ ควรจะยกขึ้นจากพื้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันความร้อนจากพื้นปูน หรืออาจเปลี่ยนไปใช้กระถางแขวนแทน ซึ่งกระถางที่ใช้นั้นเราสามารถหาของเหลือใช้อย่างกล่องนม หรือขวดนมก็ได้ สำหรับกระบะที่มีความลึกไม่มาก ก็อาจจะปลูกแบบวางบนพื้น หรือทำเป็นคอนโดก็จะประหยัดพื้นที่ได้ และหากต้องการปลูกไม้ยืนต้น ต้องทำกระบะสูง โดยนำยางรถยนต์มาเรียงเป็นชั้นก็จะได้กระถางใบโตที่สามารถปลูกล้วย มะนาว หรือมะละกอได้ด้วย

บริเวณที่รับแดดได้ดีนั้น ควรปลูกพืชกินผลและใบอย่างผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว บวบหอม แตงกวา มะเขือเทศ ยกเว้นพวกผักสลัดที่ต้องนำสแลน หรอื ตาข่ายกรองแสงมาช่วยบังส่วนพื้นที่ร่ม หรือได้รับแสงเป็นบางช่วงเวลานั้นสามารถปลูกผักสลัด ผักชีฝรั่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา และสะระแหน่ได้

นอกจากใช้พื้นที่ปลูกผักไว้กินแล้ว เรายังอาจปลูกต้นไม้บ้าง เช่น หากมีพื้นที่ร่ม อาจทำกระถางไว้ปลูกต้นไทรใบสัก ซึ่งเป็นพืชใบใหญ่สวยงามอยู่ได้ทั้งในที่ร่ม และที่มีแดด หรือหากมีพื้นที่มากพอ การปลูกยางนาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะเป็นไม้ยืนต้นที่โตขึ้นในแนวสูง เมื่อเติบใหญ่ก็จะให้ความร่มรื่นและร่มเงาแก่ตัวบ้านได้เป็นอย่างดี

วางแผนให้ดี…ก็ดูแลง่าย

หากรู้ตัวว่าไม่มีเวลาที่จะดูแลพืชผักต่างๆ มากนัก เราอาจเริ่มต้นปลูกพืชที่ดูแลได้ง่าย เช่น ชะอม ตะไคร้ กะเพรา และกล้วยที่สามารถปลูกทิ้งไว้ได้ โดยไม่ต้องรดน้ำทุกวัน อีกทั้งใบกล้วยและต้นกล้วยที่ล้มแล้ว ก็สามารถนำไปต่อยอดทำเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ได้ หากมีการวางแผนการดูแลระยะยาว อย่างเช่น การทำฟาร์มไส้เดือน ก็จะช่วยให้ดินที่ใช้เพาะปลูกมีคุณภาพ ไม่มีสารเคมี ทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องดินและปุ๋ยได้ไปในตัวอีกด้วย

มาถึงจุดนี้แล้วจะเห็นได้ว่า การสร้างพื้นที่ของความสุขรอบบ้านผ่านวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่แบบคนเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงเริ่มวางแผนและค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย ดังคำกล่าวที่ว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ขอเพียงทำอย่างมีความสุข ทำด้วยกำลังแรงใจ แรงกาย ด้วยสองมือของเราเองไม่ต้องหักโหม และไม่เร่งร้อน เท่านี้เราก็จะได้พื้นที่แห่งความสุขที่ช่วยให้อิ่มท้อง อิ่มกาย และอิ่มใจ ด้วยผักสดๆ ปลอดสารพิษไว้รับประทาน พร้อมความสุขที่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ภูมิใจที่ได้พึ่งพาตนเองในรูปแบบวิถีชีวิตพอเพียงและเพียงพอที่จะแบ่งปันอีกด้วย

หากท่านผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะเริ่มลงมืออยากรู้ให้ละเอียดลึกลงไปกว่านี้ และมากกว่านั้น หากว่าความฝันของท่านคือการได้มีชีวิตเกษตรกรวิถีใหม่แบบคนเมือง ก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ My Little Farm Vol.1 ปลูกผักแบบคนเมือง โดย คุณนคร ลิมปคุปตถาวร

เกษตรทฤษฎีใหม่
สั่งซ์้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยสำนึกกตัญญูและตระหนักรู้ใน “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ว่าความสุขนั้นหาได้ง่าย และไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเราร่วมมือร่วมใจสานต่อเดินตามรอยเท้าองค์พ่อหลวงของเราที่ได้พระราชทานไว้ ด้วยความพอมีพอกิน พอดี พอเพียงตามวิถีของตัวเอง และเพียงพอท่จี ะแบ่งปันให้แก่ผ้อู ่นื เราจะไปสู่วิถีชีวิตที่มั่นคงยั่ง ยืน และมีความสุขที่แท้จริงได้ไม่ยาก ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับสวนผักขนาดพอดีๆ ของตัวเองในวิถีคนเมืองโดยถ้วนหน้า

เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


ขั้นตอนทำแปลงปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ไว้ใช้เอง