การออกแบบบ้านให้มีพื้นที่ใช้งานที่สอดรับกับความต้องการนับเป็นการสร้างความสุขให้เจ้าของบ้าน ดังเช่นครอบครัวเล็กๆของ คุณบุ๊ค – ณัฐพล บุญอุทิศ และคุณแฟง – แกมกาญจน์ มณีโรจน์ ที่แม้อยู่อาศัยในทาวน์เฮ้าส์สองชั้นขนาดเพียงแค่ 22 ตารางวา แต่ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นสถาปนิกจึงออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับครอบครัวที่มีลูกสาว และลูกชายแสนน่ารักอย่าง น้องปาลีและน้องคีตะ คุณแฟง เล่าให้ฟังว่า
“บ้านนี้เป็นทาวน์เฮ้าส์เก่าที่อยู่มาสิบปีแล้ว ซื้อมาตอนแรกก็ปรับปรุงเลย จากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนมาตลอด พอมีลูกยิ่งปรับชัดเจน เพราะเด็กต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างบ้านเรามีเด็กสองคนก็ต้องแบ่งพื้นที่ให้ดี คอยสังเกตการใช้งานของพวกเขา เช่น คนโตต้องทำการบ้าน แต่คนเล็กก็อยากมาเล่นด้วย”
Become A Real Home
เดิมทีโจทย์แรกของบ้านหลังนี้คือการออกแบบเป็นโฮมออฟฟิศของคุณแฟงและคุณบุ๊ค ซึ่งมีน้องชายมาช่วยงานด้วย (เคยพักอยู่บนชั้นลอยของบ้าน) โดยมีการปรับฝ้าเพดานให้สูงเต็มพื้นที่ เพื่อบรรยากาศที่โปร่งโล่ง เหมาะแก่การทำงาน แต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อหลายปีก่อน น้องชายเจ้าของบ้านขอเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านแทน จึงเกิดการปรับเปลี่ยนการใช้งานของบ้านนี้ใหม่ทั้งหมด โดยต่อเติมห้องทำงานที่บริเวณหน้าบ้าน เพื่อแยกพื้นที่ใช้สอยให้ชัดเจนขึ้น ขณะที่ภายในบ้านก็เพิ่มพื้นที่สำหรับเด็กๆ
ชั้นล่างของบ้านจัดเป็นมุมนั่งเล่น มุมรับประทานอาหารที่จัดวางโต๊ะทำงานตัวเก่าเพื่อให้ใช้งานได้อเนกประสงค์ ใกล้กันเป็นมุมเล่นของเด็กๆ ซึ่งเดิมเคยเป็นมุมทำงานของน้องชายเจ้าของบ้าน ถัดไปเป็นห้องเก็บของ ตรงข้ามกันเป็นห้องน้ำ และครัวอยู่ด้านในสุด ชั้นสองเป็นห้องนอน ส่วนแต่งตัว ห้องน้ำ คั่นด้วยมุมนั่งเล่นเล็กๆที่มีบันไดสูงสำหรับขึ้นไปยังมุมทำงานอดิเรกของคุณบุ๊ค ซึ่งเป็นส่วนต่อเติมใต้หลังคาที่มีลักษณะเหมือนชั้นลอย
คุณแฟงเล่าเพิ่มเติมว่า “การที่เราแยกพื้นที่ใช้งานให้เป็นสัดส่วนไปเลยก็เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ บางทีเขาก็สนุกกับการนำวัสดุตัวอย่างมาเล่น พอแยกการใช้งานให้ชัดเจนก็ไม่ต้องกังวล จริงๆบางอย่างในบ้านนี้อาจไม่ตอบโจทย์คนมีลูกเท่าไหร่ เพราะตอนซื้อก็ยังไม่ได้คิดว่าจะมีลูก ขนาดของบ้านอาจกะทัดรัดไปสักหน่อย หรือบันไดที่ไม่มีราวกันตก ที่จริงก็คิดจะติดราวอยู่เหมือนกันแต่ก็ผลัดมาเรื่อยๆ โชคดีที่ลูกๆไม่ค่อยซน และเราก็จำกัดว่าให้เขาขึ้นได้แค่ไหน โดยหาวิธีแก้ปัญหาในแบบของเราเอง เช่น เอาตุ๊กตาหนูตัวเล็กๆที่เขากลัวมาวางไว้ เขาก็รู้เรื่องและจะไม่ขึ้นไป”
Time and Space
แม้เจ้าของบ้านจะทำงานที่บ้าน แต่ก็มีการแบ่งเรื่องงานกับเรื่องครอบครัวได้ค่อนข้างชัดเจน คุณบุ๊ค บอกว่า “ปกติผมจะให้พี่เลี้ยงอยู่กับเด็กๆในบ้านนี้เลย ผมกับแฟงจะแยกไปทำงานตรงห้องด้านหน้า แยกการใช้งานให้ขาดกันไปเลย แต่ผมก็พยายามบริหารเวลาในการทำงานให้สัมพันธ์กับเวลาของลูก ผมจะเริ่มทำงานเมื่อเขาไปโรงเรียน และตั้งนาฬิกาข้อมือทุกเรือนตอนบ่ายสอง เพื่อเตือนตัวเองว่าจะต้องจบงานให้ได้ก่อนลูกกลับมา จะได้มีเวลาเล่นหรือทำกิจกรรมด้วยกัน
“จริงๆการทำงานด้านการออกแบบจะหาเวลาจบงานจริงๆยากนะ แต่ก่อนเราพกงานไปด้วยทุกที่จนถึงตอนเข้านอน สุขภาพย่ำแย่มาก เลยตกลงกันว่าหลังสี่ทุ่มห้ามคุยเรื่องงานแล้ว เพื่อให้เราทั้งคู่มีจุดพักอย่างเป็นระบบ เราต้องวางแผนล่วงหน้าและค่อยๆปรับให้เข้าที่ งานก็เป็นไปได้ด้วยดี และผมไม่อยากเสียความทรงจำกับลูกในช่วงห้าปีแรก ไม่อยากให้ความรู้สึกใกล้ชิดนั้นหายไป เพราะถ้าเขาโตอาจไม่เป็นแบบนี้แล้ว แต่ก็มีบ้างที่ใช้เวลาหลังลูกหลับแล้วไปชั้นลอยทำงานช่างหรืองานที่ค้างอยู่”
อีกมุมหนึ่งที่ทำให้บ้านทาวน์เฮ้าส์หลังนี้ต่างไปจากบ้านใกล้เรือนเคียงอื่นๆก็คือ สวนด้านหน้าและด้านข้างของบ้านที่คุณบุ๊คลงมือปลูกต้นไม้เอง โดยมีครอบครัวช่วยกันดูแล รวมถึงบ่อปลาที่เด็กๆมักออกมาให้อาหาร ถือเป็นมุมพักผ่อนของครอบครัวที่ทุกคนสามารถมาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและใช้งานได้อย่างสบายใจ
แม้จะไม่มีเครื่องมือวัดความสุขของคนในบ้าน แต่มีสัญญาณบางอย่างที่บอกเราได้ว่าบ้านหลังนี้อบอวลไปด้วยความรัก ไม่ว่าจะเป็นเสียงหัวเราะ เสียงพูดคุย หรือเสียงร้องเพลงจากสมากชิกของบ้าน ซึ่งพลอยทำให้ผู้มาเยือนอย่างเรารู้สึกมีความสุขตามไปด้วย
เจ้าของ: คุณแกมกาญจน์ มณีโรจน์ คุณณัฐพล เด็กหญิงปาลี และเด็กชายคีตะ บุญอุทิศ
ตกแต่ง : คุณแกมกาญจน์ มณีโรจน์ และคุณณัฐพล บุญอุทิศ
เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: นภิษฐา พงษ์ประสิทธิ์