วิธีซ่อมแซมผนังหลุดล่อนจากเชื้อรา

สาเหตุผลักๆ ของ ผนังขึ้นรา เกิดจากสภาพอากาศหรือจากปัญหาน้ำขังหรือรั่วซึม มาดูกันว่าทั้งสองกรณีนี้มีวิธีแก้ไขอย่างไร

ผนังขึ้นรา ไม่ว่าจะเป็นผนังภายในและภายนอก เป็นสัญญาณว่าบริเวณนั้นอาจมีปัญหาเรื่องความชื้น จึงทำให้เชื้อราเติบโตได้ดี เชื้อราบนผนังอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี โดยมีวิธีแก้ไขที่แตกต่างกัน ดังนี้

ผนังขึ้นรา

ผนังขึ้นรา

กรณีที่ 1 | เกิดจากสภาวะอากาศทั่วไป

พื้นที่ดังกล่าวอาจประสบปัญหาเรื่องความชื้นโดยตรง มีสภาวะแวดล้อมและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเติบโตของเชื้อรา อาทิ ผนังบ้านภายนอกบริเวณชั้นล่างเกิดคราบเชื้อรา และผนังแตกล่อนมักเป็นผนังที่อยู่ติดกับสนามหญ้าและสวน จึงเป็นไปได้ว่าเกิดจากความชื้นของบริเวณดังกล่าวซึมผ่านผนัง

ผนังขึ้นรา

วิธีแก้ไขปัญหา

1. สำหรับ “ผนังภายนอก” ให้เริ่มลอกสีผนังออก โดยใช้เกรียงขูดผนังให้เรียบร้อย ส่วน “ผนังภายใน” ให้ขัดล้าง ขูดสี และกำจัดเชื้อราออก ควรทิ้งให้ผนังคายความชื้นประมาณ 1 วัน

ผนังขึ้นรา

2. สำหรับ “ผนังภายนอก” ให้ทาน้ำยากันซึมบนผิวผนังให้ชุ่ม ปล่อยให้แห้งสนิทก่อนทาสี ส่วน “ผนังภายใน” ทาน้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำ (ประเภทไมโครคิล) ปล่อยให้แห้งนาน 2-3 ชั่วโมง ก่อนทาสีทับ

3. ทาสีทับหน้าใหม่

กรณีที่ 2 | เกิดจากปัญหารั่วซึม มีน้ำขัง

ผนังที่ขึ้นราอาจมาจากการดูดซับความชื้นจากที่อื่น นั่นหมายถึงมีจุดรั่วซึม อาทิ ท่อน้ำในผนังรั่ว ดาดฟ้ามีน้ำขัง หรือมีรอยแตกร้าว ฯลฯ ดังนั้นควรหาสาเหตุหลักให้พบก่อนว่าที่มาของความชื้นดังกล่าวเกิดจากอะไร บริเวณไหน และดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเริ่มซ่อมแซมผนังต่อไป

วิธีแก้ปัญหา

1. หลังซ่อมแซมจุดรั่วซึมหรือน้ำขัง อันเป็นที่มาของผนังขึ้นรา ให้เริ่มสกัดหน้าผิวปูนออก เพื่อระบายความชื้นที่สะสมในผนัง และรอจนผนังแห้งสนิท

2. ใช้น้ำยาอะคริลิคร้อยเปอร์เซ็นต์ผสมกับปูนฉาบ เพื่อช่วยป้องกันการรั่วซึม โดยนำมาฉาบผนัง เก็บงานให้เรียบร้อย แล้วปล่อยให้แห้งสนิท

3. ทาสีรองพื้นกันเชื้อรา ก่อนทาสีจริงทับหน้า

Tips

ความแตกต่างของอุณหภูมิภายในกับภายนอกจัดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อราบนผนังได้ง่าย เช่น ผนังบ้านฝั่งทิศใต้และตะวันตกที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และเปิดใช้งานเป็นประจำ ผนังดังกล่าวมักเกิดเชื้อรา เพราะความเย็นจากภายในห้องที่พอเหมาะกับอากาศของภายนอกที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน มักก่อให้เกิดการกลั่นตัวของหยดน้ำตามผนังด้านใน หรือที่เราเรียกกันว่า “เหงื่อ” บนผิวของผนังนั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดความชื้น กลายเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเชื้อรา

วิธีแก้ไขง่ายๆคือ หมั่นเปิดหน้าต่างระบายอากาศ ก็ช่วยยังยั้งการเติบโตของเชื้อราได้ หรือจะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราที่มีส่วนผสมของคลอรีนเช็ดทำความสะอาดผนังบ่อยๆ แต่ถ้ายังเจอปัญหาดังกล่าว แนะนำให้ทำระแนงกันสาดหรือแผงกันแดด เพื่อช่วยลดอุณหภูมิให้ผนังภายนอกครับ


  • เรื่อง – บ.
  • ภาพประกอบ – Choops

การทำผนังปูนเปลือย ปูนลอฟต์ ซีเมนต์ขัดมัน

เทคนิคการเจาะผนังปูน ผนังคอนกรีต ไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag