LESS IS MORE (HAPPINESS) เมื่อความสุขแปรผกผันกับพื้นที่
ใครจะรู้ว่าเมืองเล็ก ๆ ที่เป็นปลายทางของสายรถไฟอย่างสถานีมินากูชิ โจนัน เมืองโกกะ จังหวัดชิกะ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของนครเกียวโตไปราว 50 กิโลเมตร จะซุกซ่อน บ้านหลังเล็กสไตล์มินิมัล แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดการออกแบบที่บ่งบอกความเป็นญี่ปุ่นอยู่ทุกอณูเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน
หากดูจากภายนอก เราจะเห็นที่นี่เป็นเพียง บ้านหลังเล็กสไตล์มินิมัล สีขาวสูงสองชั้นเรียบ ๆ แต่ความจริงแล้วชั้นล่างของที่นี่เป็นร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นที่ตกแต่งภายในไว้อย่างเรียบง่าย ใช้ชื่อว่า “Japan Dining Emu” มีคุณมาโกโตะ นากามูระ เป็นเจ้าของและควบตำแหน่งเชฟเพียงคนเดียวของร้าน โดยตั้งใจให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนตนเองมารับประทานอาหารที่บ้านเพื่อนท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง มีอาหารญี่ปุ่นให้เลือกลิ้มลองหลากหลายเมนูตั้งแต่ซูชิและชาบู ไปจนถึงขนมหวานรสชาติละมุนลิ้น
ความพิเศษของบ้านขนาด 100 ตารางเมตรหลังนี้ นอกจากส่วนของร้านอาหารดีไซน์น่ารักด้านล่างแล้ว ชั้นสองยังมีห้องพักขนาดดูเพล็กซ์หนึ่งห้องนอนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยได้สถาปนิกฝีมือดีอย่าง คุณซุมิโออุ มิซูโมโตะ และ คุณโยชิทากะ คูกะ จากบริษัท ALTS Design Office มาช่วยทำให้ความฝันและวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านและภรรยาลงตัว
/ อาจดูน้อยเมื่อเห็นด้วยตาเปล่า แต่มากรายละเอียดเมื่อสัมผัสด้วยใจ /
ผู้ออกแบบทั้งสองได้ช่วยกันเล่ารายละเอียดของการออกแบบครั้งนี้ให้ฟังว่า เริ่มแรกนั้นต้องดึงคาแร็คเตอร์ของเจ้าของบ้านออกมาให้ได้มากที่สุด และต้องสอดคล้องกับฟังก์ชันการใช้งาน อย่างชั้นล่างที่ทำเป็นร้านอาหารเพราะเจ้าของบ้านทั้งคู่ชื่นชอบ แต่พอมาเป็นส่วนของห้องพักต้องออกแบบให้ตรงกับคาแร็คเตอร์ของภรรยาคุณมาโกโตะที่มีอาชีพเป็นดีไซเนอร์และเปิดร้านเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง เมื่อบวกกับพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก จึงจำเป็นต้องตัดส่วนของตู้เสื้อผ้าออกไป และใช้ราวเหล็กทำสีขาวมาใช้แขวนเสื้อผ้าแทน โดยให้เหตุผลว่านอกจากจะแสดงถึงคาแร็คเตอร์ของภรรยาเจ้าของบ้านแล้ว การใช้ราวเหล็กแขวนผ้ายังช่วยให้ห้องดูโปร่งกว่าการใช้ตู้เสื้อผ้า
เมื่อพื้นที่มีขนาดเล็ก งานดีไซน์จึงไม่สามารถตอบโจทย์ความสวยงามได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมฟังก์ชันการใช้งานเอาไว้ด้วย อย่างบันไดยกสเต็ป สถาปนิกได้ออกแบบลูกตั้งสูง 30 เซนติเมตร และลูกนอนยาว 60 เซนติเมตร นอกจากใช้เป็นบันไดแล้วยังเป็นที่นั่งสำหรับทำงานได้ด้วย ส่วนวัสดุที่เลือกใช้จะเน้นให้น้อยชิ้นแต่ลงตัวที่สุด ในส่วนที่เป็นวัสดุปิดผิวส่วนใหญ่เป็นไม้โอ๊กชนิดเดียวกันทั้งหมด แต่จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงเฉดสีและแพตเทิร์นเท่านั้น ส่วนราวเหล็กสำหรับแขวนผ้า อะลูมิเนียมสีขาวในส่วนของวงกบและวอลล์เปเปอร์สีขาว ทั้งหมดคือองค์ประกอบที่ช่วยให้ห้องดูกว้างขึ้น
นอกจากเรื่องดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งานแล้ว ผู้ออกแบบยังใส่ใจถึงการใช้ชีวิตของผู้อาศัย โดยการออกแบบให้ภายในห้องมีแสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาตลอดทั้งวัน การใช้ราวแขวนผ้าเป็นพาร์ทิชันกำหนดทางเดินภายในห้องโดยไม่กั้นผนัง ช่วยให้ห้องไม่รู้สึกแน่นเกินไป รวมถึงการกำหนดให้ความสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดานของห้องนอนมีขนาดเพียง 1.60 เมตร เพราะเจ้าของบ้านและภรรยาชอบทำกิจกรรมต่าง ๆ บริเวณอื่นเสียส่วนใหญ่ ห้องนอนมีไว้เพื่อการนอนพักผ่อนเพียงอย่างเดียว จึงไม่จำเป็นต้องมีดีเทลมากนัก อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ตั้งใจสร้างบ้านหลังนี้ให้กลมกลืนกับชุมชนโดยรอบ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดความสูงของอาคารเอาไว้ เพื่อให้ดูเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนบ้าน
ถึงแม้จะอยู่กันแค่สองคนในบ้านหลังเล็ก ๆ กลางชนบท แต่ดูเหมือนว่าขนาดพื้นที่จะไม่มีผลต่อปริมาณความสุขของผู้อยู่อาศัยเลย เรามักได้ยินเสียงหัวเราะ รวมถึงบทสนทนาที่สร้างรอยยิ้มและมิตรภาพตลอดเวลาที่เราไปเยี่ยมเยียน เหมือนอย่างคำพูดที่ว่า “บ้านที่ดีจะสร้างความสุขให้ผู้อยู่อาศัย”
และถ้าหากคำพูดดังกล่าวไม่เกินจริง เราว่าคุณมาโกโตะ นากามูระ ก็คงจะเป็นอีกคนที่มีความสุขไม่น้อยไปกว่าใครแน่นอน
TIP : เมืองโกกะ จังหวัดชิกะ ในเกียวโตเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อคุณแวะมาเยี่ยมเยียนที่นี่ คุณจะได้พบกับภาพนาข้าวสีทองไกลสุดลูกหูลูกตาบรรยากาศเงียบสงบเหมาะสำหรับมาสัมผัสธรรมชาติแบบชนบทญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และถึงจะเป็นเมืองที่ไกลชนิดที่ว่าเป็นสถานีปลายทางของรถไฟ แต่เมืองโกกะแห่งนี้ก็เดินทางสะดวกสบายเพราะมีรถแท็กซี่บริการตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถโทร.เรียกมารับ – ส่งได้โดยสะดวก
หากคุณสนใจจะมาสัมผัสบรรยากาศที่เมืองโกกะแห่งนี้ คุณสามารถขึ้นรถไฟที่สถานีเกียวโตด้วยรถ JR Tokaido-Sanyo Line ต่อด้วย JR Kusatsu Line และ Omi-tetsudo ลงปลายทางที่สถานี Minakuchi Jonan โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
เจ้าของ : คุณมาโกโตะ นากามูระ
ออกแบบ : ALTS Design Office
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : จิระศักดิ์, นันทิยา
คอลัมน์ : room to room
Room Magazine : December 2015 No. 154