ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย คำนวณให้เหมาะสมกับบ้าน

ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย เลือกถังใหญ่ไปก็เปลือง ถังเล็กไปก็ไม่ดี มาทำความรู้จักกับระบบถังบำบัดน้ำเสียว่าทำงานอย่างไร รวมถึงวิธีบำบัดน้ำเสียแบบอื่นๆ ด้วย

รูปตัดแสดงกระบวนการทำงานภายในถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป ซึ่งรวมส่วนเกรอะและส่วนซึมเข้ามาอยู่ในตัวเดียวกัน

ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป จะรวมระบบบ่อเกรอะและบ่อซึมไว้ในถังเดียวกัน จึงสะดวกและใช้งานได้ง่ายกว่า น้ำที่ผ่านกระบวนการในถังบำบัดน้ำเสียจะมีความสะอาดเพียงพอที่จะปล่อยลงสู่รางระบายน้ำสาธารณะได้ แทนการซึมลงสู่ดิน ซึ่งมักก่อปัญหาขึ้นอยู่บ่อยๆ ถังบำบัดน้ำเสียมีให้เลือกใช้งานทั้งแบบไม่เติมอากาศ และแบบเติมอากาศ (Aerobic Bacteria) ซึ่งจะใช้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงแบคทีเรียเพื่อช่วยเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมี ทำให้กระกวนการย่อยสลายสารอินทรีย์มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ระบบบ่อเกรอะบ่อซึมยังสามารถใช้งานได้ หากเป็นพื้นที่ตามชนบทที่มีสภาพดินตามธรรมชาติ ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย

จากน้ำทิ้งสู่ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป ผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีสภาพดินเป็นดินเหนียว น้ำซึมลงดินได้ยาก ทั้งนี้เราสามารถเลือกใช้ได้ตามลักษณะบริบทของที่อยู่อาศัย และงบประมาณที่มีอยู่ส่วนการบำรุงรักษาถังบำบัดน้ำเสียนั้น  เป็นเรื่องที่ยากพอควร  เนื่องจากตัวถังจะฝังอยู่ใต้ดิน  แต่วัสดุที่นำมาใช้ผลิตถังอย่างพอลิเอทีลีน ( Polyethylene ) ก็มีความแข็งแรง และมีอายุการใช้งานนานกว่า 10 ปีขึ้นไป  อย่างไรก็ดีเราก็ควรช่วยยืดอายุของถังให้ยาวนานมากขึ้นด้วย โดยต้องสูบสิ่งปฏิกูลต่างๆที่เหลือจากการบำบัดของจุลินทรีย์ ซึ่งจมอยู่ก้นถังทิ้งออกไปบ้าง  เพื่อไม่ให้ตะกอนตกค้างมากเกินไปจนก่อให้เกิดคราบฝังแน่นภายในถัง ทั้งนี้ควรทำการสูบกากของเสียและตะกอนทิ้งเพื่อทำความสะอาด ประมาณ 3-5 ปี หรือสังเกตได้จากกรณีที่เราใช้ห้องน้ำแล้วกดชักโครกหรือราดน้ำไม่ลง ส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์  ก็แสดงว่าคงถึงเวลาเรียกใช้บริการสูบส้วมแล้วล่ะครับ

วิธีคำนวณ ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย

โดยทั่วไปแล้วผู้ผลิตถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปจะระบุขนาดที่เหมาะสมไว้ที่ตัวผลิตภัณฑ์ หรือต้องการคำนวณขนาดถังบำบัดเองก็สามารถทำได้ โดยใช้สูตรง่ายๆดังนี้

ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย (ลิตร) = จำนวนผู้อยู่อาศัย X ปริมาณน้ำเสีย (ร้อยละ 80 ของปริมาณน้ำใช้ต่อวัน) X เวลาที่ใช้บำบัด (เฉลี่ย 2 วัน)

ตัวอย่าง : โดยทั่วไปคนเราใช้น้ำเฉลี่ย 200 ลิตรต่อคนต่อวัน ถ้าในบ้านมีคนอาศัยอยู่ 3 คน ควรเลือกถังบำบัดน้ำเสียขนาด 1,000 ลิตร (3X0.8X200X2= 960 )

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบอื่นๆ

สมัยก่อน ถังบำบัดน้ำเสีย ที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไปก็คือ ระบบบ่อเกรอะบ่อซึม  ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อคอนกรีต 2 ถัง ขึ้นรูปจากปลอกวงแหวนซีเมนต์มาเรียงซ้อนกัน  บ่อแรกเราจะเรียกว่า บ่อเกรอะ จะเป็นด่านแรกที่รับสิ่งปฏิกูลจากภายในบ้านโดยตรง มีหน้าที่กักเก็บสิ่งปฏิกูลต่างๆเพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายและตกตะกอนตามธรรมชาติ กากปฏิกูลจะตกตะกอนไปอยู่ที่ก้นบ่อ ส่วนน้ำที่อยู่ตอนบนของบ่อจะไหลลงสู่ บ่อซึม ซึ่งเป็นบ่อที่อยู่ถัดมา โดยน้ำที่ผ่านจากบ่อเกรอะมาแล้วจะค่อยๆ ซึมลงไปในดินและชั้นหินด้านล่างอย่างช้าๆ การทำงานของทั้งสองบ่อนี้จะต่อเนื่องกันไปเพื่อย่อยสลายของโสโครกจากน้ำทิ้งภายในบ้าน

ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย
ระบบบ่อเกรอะบ่อซึมทั่วไป

ปัจจุบันปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึมก็คือ สิ่งปฏิกูลในบ่อเกรอะมักย่อยสลายไม่หมด เกิดปัญหาส้วมเต็ม กดชักโครกไม่ลงหรือน้ำล้นขึ้น  ต้องคอยหมั่นดูแลโดยสูบกากปฏิกูลต่างๆออกเป็นระยะ ทั้งนี้น้ำในบ่อซึมไม่สามารถซึมผ่านเนื้อดินลงไปได้  อาจเกิดจากดินในพื้นที่ก่อสร้างเป็นดินเหนียว หรือระดับน้ำใต้ดินซึม ทำให้บ่อซึมเต็มเร็วไม่เป็นไปตามหลักการธรรมชาติที่เราคาดไว้ ด้วยเหตุจึงมีการพัฒนาระบบบำบัดสิ่งปฏิกูลแบบถังสำเร็จรูปมาทดแทน

การก่อสร้างบ่อเกรอะบ่อซึมแบบสมัยก่อน ที่มีชื่อว่า “ถังชีวอนามัย” หรือ “ถังแซทส์” (SATS) ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันจนติดปากนั้น มาจากชื่อรุ่นของถังบำบัดน้ำเสียที่มีจำหน่ายในระยะแรกๆนั่นเอง


เรื่อง – สุพจน์

เรียบเรียง – Wuthikorn Sut

ภาพประกอบ – จิรภัทร เอี่ยมเจริญลาภ


เลือกปั๊มน้ำให้เหมาะสมกับบ้าน

ติดปั้มน้ำจำเป็นต้อง ติดตั้งแท็งก์น้ำ ด้วยไหม

ป้องกันท่อน้ำทิ้งอุดตัน ถังดักไขมันช่วยได้

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag