บ้านไม้ใต้ถุนสูง

บ้านไม้ใต้ถุนสูง เสน่ห์แบบบ้านไทยสร้างด้วยมือทุกขั้นตอน

บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บ้านไม้ใต้ถุนสูง

บ้านไม้ใต้ถุนสูง หลังนี้สร้างขึ้นจากหลองข้าวเก่าของล้านนาผสมกับบ้านไม้เก่าที่ยกมาจากมหาสารคาม โดยถอดชิ้นส่วนของบ้านไม้ทั้งหมดที่มี แล้วจับมาเรียงประกอบผสมผสานใหม่

ยามสายของวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส อากาศเย็นกำลังสบาย เราได้มายืนอยู่หน้า บ้านไม้ใต้ถุนสูง แบบไทยๆในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบ้านขนาดย่อมสองหลังเชื่อมต่อกัน มีใต้ถุนสูงเปิดโล่งที่ตกแต่งให้เป็นทั้งโต๊ะอาหารขนาดยาวและมุมนั่งเล่นรับแขก คุณเอ๋ – ณัฐวุฒิ เสลาหอม เจ้าของบ้านกำลังเดินกวาดบ้านอย่างสบายอารมณ์ ขณะที่ภรรยา คุณเมย์-สุธิดา เสลาหอม ก็เล่นอยู่กับ น้องคีรี ลูกชายคนโต ในมุมที่ไม่ไกลจากกันนัก

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับบ้านไม้ใต้ถุนสูง


บ้านไม้ใต้ถุนสูง บ้านไทย
บ้านไทย

คุณเอ๋พาเราชมบ้านโดยรอบพร้อมบอกเล่าถึงช่วงเวลาต่างๆ ในการสร้างบ้าน ซึ่งเดิมทีวางแผนว่าจะทำให้เสร็จในเวลา 10 เดือน แต่สุดท้ายก็ใช้เวลาปีกว่า จนกระทั่งคุณเมย์ตั้งครรภ์ลูกชายคนที่สอง ทำให้ฟังก์ชันและความตั้งใจบางอย่างที่คิดไว้แต่แรกต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย เช่น ความคิดที่จะทำสระว่ายน้ำก็เปลี่ยนมาเป็นลานสนามหญ้าให้ลูกได้วิ่งเล่นแทน

แต่ที่แน่ๆ คือบ้านหลังนี้ถ้าไม่ได้คุณเอ๋เป็นสถาปนิกลงมือทำงานก่อสร้างทุกอย่างเอง ก็คงยากที่จะสำเร็จสวยงามได้ขนาดนี้ เพราะตัวบ้านทั้งสองหลังสร้างขึ้นจากหลองข้าวเก่าของล้านนาผสมกับบ้านไม้เก่าที่ยกมาจากมหาสารคาม โดยคุณเอ๋ถอดชิ้นส่วนของบ้านไม้ทั้งหมดที่มี แล้วจับมาเรียงประกอบผสมผสานใหม่เพื่อให้ได้ฟังก์ชันที่ตรงกับความต้องการที่สุด ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องคำนวณขนาดไม้ทุกชิ้นไว้อย่างละเอียดที่สุด

บ้านไทย บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บ้านไทย บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บ้านไทย บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บ้านไทย ครัวไทย บ้านไม้ใต้ถุนสูง

“หลองข้าวเก่ามันสูงไม่พอครับ ตอนแรกผมจะดีดบ้านให้สูงขึ้น แต่ดูแล้วไม่เวิร์คเลยต้องถอดทุกอย่างออกมาเพื่อผสมใหม่หมด และที่ต้องทำเป็นสองหลังก็เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มาอยู่ด้วยกัน แต่ช่วงนี้ท่านยังไม่ได้มาครับ ตลอดเวลาที่สร้างบ้านนี้ผมต้องอยู่หน้างานทุกวัน ฝึกช่างไม้ขึ้นมาเองจากช่างปูนนี่แหละ จากตอนแรกที่ทำโครงสร้างมีกันอยู่ 10 คน จนเหลือแค่งานประกอบตอนสุดท้ายก็เหลือ 4 คน ผมพยายามนำไม้ทุกชิ้นที่มีมาดัดแปลงใช้งานทั้งหมดโดยไม่มีทิ้ง  แม้กระทั่งไม้ไผ่ที่ทำนั่งร้านผมยังถอดออกมาทำเป็นรั้วบ้านเลย” คุณเอ๋เล่าอย่างละเอียด

(อ่านเพิ่มเติม : รวม 7 บ้านโมเดิร์นใต้ถุนสูง)

เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกสร้างบ้านไม้ คุณเอ๋บอกกับเราว่าเพราะเขาเป็นคนพิจิตร เกิดและเติบโตอยู่กับบ้านไม้มาตั้งแต่เด็ก “อยู่บ้านไม้สบายที่สุดครับ เพราะไม้จะมีช่องให้ลมผ่านได้ และไม้ก็เป็นวัสดุที่สร้างบ้านได้ดีที่สุดในโลก ช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี ร้อนและเย็นตามช่วงเวลา แค่เรารู้จักจัดนำมาใช้ให้เหมาะสม อย่างกลางวันเราอยู่ใต้ถุนโล่งที่ลมพัดผ่าน กลางคืนขึ้นห้องนอนผนังไม้ก็คายความร้อนและให้ความเย็นสบายแล้ว ไม่สิ้นเปลืองพลังงานดีด้วย”

บ้านไทย ระเบียงไม้
บ้านไทย บ้านไม้
บ้านไทย ห้องนอน บ้านไม้ บ้านไม้ใต้ถุนสูง
บ้านไทย บ้านไม้ มุมทำงาน บ้านไม้ใต้ถุนสูง

โครงสร้างหลักของบ้านหลังที่คุณเอ๋กับภรรยาอยู่นั้นสร้างขึ้นจากหลองข้าวเก่า ซึ่งมีลักษณะของเสาไม้โครงสร้างใหญ่ 8 ต้นหลักกับ 4 ต้นย่อยที่เอียงสอบเข้าด้านใน ที่เป็นแบบนี้เพราะเมื่อก่อนต้องรับน้ำหนักของข้าวให้ได้ดี คล้ายกับคนที่ยืนกางขาแบกของหนักไว้ มีเสาหลักยาวทะลุถึงอเส แล้วตั้งเสาอีกต้นเพื่อรับอกไก่ที่ยาวขึ้นไปถึงหลังคา ส่วนฐานล่างหล่อปูนขึ้นมาต่อกับเสาไม้เพื่อป้องกันปัญหาความชื้นและปลวกที่ขึ้นมาจากพื้นดิน

“ผมยังโยกเอาเสาของบ้านเก่าที่ซื้อมาใช้เป็นคานของบ้านหลองข้าว แล้วเอาคานบ้านหลองข้าวมารับเป็นแป เพราะความหนาของไม้ที่เหมาะกว่า ส่วนพื้นผมเลือกใช้ไม้แดงกับไม้ประดู่ซึ่งแข็งแรงดี ขณะที่ฝาไม้เป็นไม้สักที่มีความยืดหยุ่นรับกับน้ำฝนและแดดได้ดีกว่า ผนังทำจากไม้สองชั้น ด้านนอกตีซ้อนเกล็ดเพื่อให้ระบายน้ำฝนได้ดี ส่วนข้างในเข้าลิ้นบังใบทำให้ผนังเรียบและเก็บความเย็นได้ดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วผมก็ตัดสินใจติดแอร์ที่ห้องนอนชั้นบนเผื่อในอนาคตที่อาจจะร้อนขึ้น แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เราใช้ชีวิตกันอยู่ที่ใต้ถุนบ้านซึ่งรับลมธรรมชาติได้สบายตลอดทั้งวัน”

เมื่อประกอบร่างไม้ที่มีขึ้นใหม่ทั้งหมดจึงได้มาเป็นบ้านสองหลังที่มีระเบียงไม้ชั้นสองซึ่งสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้ และยังมีไม้ที่เหลือกลายเป็นโครงสร้างของโรงรถหน้าบ้าน โดยมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเก่าที่มีอยู่ และใช้ราวระเบียงเก่ามากั้นเป็นผนังโปร่งๆ ปลูกต้นไม้ล้อมไว้ให้เป็นรั้วธรรมชาติที่สูงในระดับสายตา

 

บ้านไทย บ้านไม้ ระเบียง
บ้านไทย บ้านไม้
บ้านไม้ บ้านไทย ห้องนอน
บ้านไม้ บ้านไทย เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า
บ้านไทย มุมนั่งเล่น บ้านไม้ใต้ถุนสูง

ในอดีตบ้านไม้แบบไทยมักจะแยกห้องน้ำไว้อยู่นอกบ้านเลยหรือไม่ก็ก่อผนังปูนเพิ่มฟังก์ชันของห้องน้ำขึ้นมาใหม่ แต่สำหรับที่นี่ คุณเอ๋อยากทำให้เป็นงานไม้ต่อเนื่องกัน เลยใช้วิธีปูสเตนเลสทับพื้นไม้แล้วเจาะรูท่อน้ำต่างๆ จากนั้นเทปูนทับโดยใช้โครงเหล็กดัดที่เหลือของบ้านเป็นตัวเชื่อมและเพิ่มความแข็งแรงให้ปูน แล้วค่อยปูกระเบื้องบริเวณพื้น ส่วนผนังที่ต้องเปียกก็ใช้เป็นสมาร์ทบอร์ดยิงเข้ากับโครงคร่าวไม้ แล้วใช้กาว PU ซีลแนวรอยต่อจากนั้นทาเคลือบผิวด้วย Flex Shield ก่อนทาสีทับหน้าลงไป

“จริงๆ ส่วนที่ยากที่สุดคือระเบียงบ้านครับ เพราะหลองข้าวเดิมไม่มีหลังคาคุมระเบียง ถ้าจะทำหลังคายื่นมาถึงระเบียงเลยก็จะดูเตี้ยไป แต่ผมอยากให้มีระเบียงไม้กว้างๆ ไว้นั่งเล่นด้วย เลยต้องลดระดับพื้นระเบียงให้ต่ำกว่าพื้นบ้านชั้นสอง มันก็จะเหลือช่องว่างระหว่างระนาบของพื้นบ้านกับระเบียงอยู่ 60 เซนติเมตร ผมเลยทำบันไดเล็กๆ ไว้สามขั้นให้เดินสบาย ข้างล่างก็ไม่ดูอึดอัด โดยใช้หัวเตียงไม้เก่าที่ซื้อยกมัดมากั้นรอบๆ ทั้งส่วนของช่องว่างและราวระเบียงกันตก เพราะเป็นโครงไม้โปร่งๆ ที่รับลมได้ดี หน้าหนาวนี่ลากฟูกออกมานอนตรงระเบียงได้สบายทั้งวันเลย”

คุณเอ๋บอกว่าตั้งแต่เรียนจบสถาปัตย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มา เขาแทบไม่ได้ออกแบบบ้านให้ใครเลย ที่นี่จึงเป็นบ้านหลังแรกที่น่าจะเป็นหลังสุดท้ายที่เขาลงมือลงแรงและให้ใจมากที่สุด เพราะไม้แต่ละชิ้นมีความแตกต่างทั้งขนาดและการใช้งาน นี่จึงน่าจะเป็นบ้านทำมือที่ละเอียดชนิดถ้าเกิดปัญหาขึ้นตรงไหน เขาก็สามารถมองย้อนกลับไปที่ต้นเหตุและแก้ไขได้ทันที

“เพราะว่าผมเน้นออกแบบบ้านให้อยู่ง่าย อยู่สบาย และแก้ไขง่าย ตั้งแต่อยู่บ้านหลังนี้แล้วผมก็ไม่อยากกลับไปอยู่บ้านปูนอีกเลยครับ”

ไม่ใช่แค่คุณเอ๋แน่ๆ ที่คิดแบบนี้ ขนาดเราแค่มานั่งรับลมอยู่เพียงครึ่งวัน ก็สัมผัสความรู้สึกนั้นได้เช่นกัน


DESIGNER DIRECTORY : เจ้าของ-ตกแต่ง : คุณณัฐวุฒิ – คุณสุธิดา เสลาหอม

เรื่อง: “ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์”

ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

เป็นเพื่อนกับเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x