วิธีติดตั้งผ้าม่านแบบมืออาชีพ
วิธีติดผ้าม่าน แม้ว่า ผ้าม่าน ลายสวยๆจะช่วยเพิ่มความสวยงามให้ห้องของเรา แต่ก็อย่าลืมว่าหน้าที่หลักของผ้าม่านคือการป้องกันไม่ให้แสงแดดภายนอกส่องเข้ามารบกวนผู้อยู่อาศัย ปัจจุบันในท้องตลาดมีผ้าม่านสำเร็จรูปให้เลือกหลากหลายแบบ สามารถติดตั้งเองได้สะดวกและรวดเร็ว ทว่าผลลัพธ์ของการใช้งานคงไม่เท่ากับการติดตั้งผ้าม่านแบบวัดพื้นที่จริง
ครั้งนี้จะพาคุณไปดู วิธีติดผ้าม่าน โดยมืออาชีพทางด้านนี้โดยตรง เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เปรียบเทียบการใช้งาน ก่อนตัดสินใจเลือกติดตั้งผ้าม่านกันนะคะ
สำหรับกระบวนการติดตั้งผ้าม่านจะเริ่มต้นจากผู้แนะนำสินค้าเข้ามาวัดพื้นที่หน้างานก่อน จากนั้นเจ้าของบ้านจึงเลือกรูปแบบผ้าที่ถูกใจ ซึ่งผู้แนะนำสินค้าจะอธิบายถึงการใช้ผ้าในแบบต่างๆ เช่น ความหนาและความเหมาะสมเรื่องสไตล์ เมื่อเจ้าของบ้านเลือกได้แล้วก็จะมีการประเมินราคา จากนั้นจึงนัดวันเข้าไปติดตั้ง ซึ่งกระบวนการที่กล่าวมานี้ใช้เวลาประมาณสองอาทิตย์ค่ะ
ความหนาของผ้า มี 3 แบบ
- ผ้าทึบปกติ ผ้าประเภทนี้ไม่มีกันแสงใดๆ โดยปกติผ้าพื้นและผ้าลายจะใช้ปริมาณผ้าไม่เท่ากัน อย่างผ้าลายจะใช้ปริมาณผ้ามากกว่า เพราะต้องมีการต่อลายหากติดตั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่
- ผ้าทอติดกันสามชั้น (Dimout) โดยมีผ้าสีดำแทรกอยู่ตรงกลาง เป็นผ้าที่ซับแสงในตัว สามารถกันแสงได้ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสีที่ีเลือกด้วย ผ้าประเภทนี้มีการทิ้งตัวได้ดี
- ผ้าทึบแสง (Blackout) ด้านหลังผ้าจะพ่นเคลือบโฟม จึงสามารถกันแสงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเสียคือ จะเห็นรูตามรอยเย็บของผ้า อีกทั้งมีการทิ้งตัวน้อย แต่ขึ้นเป็นรูปทรงได้ดีกว่าผ้าทึบปกติ
ขั้นตอนการเลือกและติดตั้งผ้าม่าน
ติดตั้งผ้าม่านสามชั้นโดยใช้รางม่านแบบสองชั้น ชั้นแรกเป็นผ้าทึบประกบกับผ้า Lining Blackout ด้วยตีนตุ๊กแก ช่วยสะท้อนแสงแดดและป้องกันรังสียูวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนผ้าม่านโปร่งเป็นชั้นสุดท้าย
1. ช่างเตรียมการติดตั้งโดยปูผ้ารองและนำอุปกรณ์ทั้งหมดมาวางเรียง เพื่อให้หยิบใช้เฉพาะชิ้น ป้องกันคราบสกปรกหรือฝุ่นผงมาโดนผ้า
2. ช่างกำลังวัดขนาดของราง โดยวัดให้ห่างจากวงกบด้านข้างและด้านบน ด้านละ 10 เซนติเมตร ป้องกันแสงที่ลอดจากด้านข้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่หน้างานด้วย เช่น หากมีพื้นที่เหลือจากขอบ15 เซนติเมตร ก็ควรทำม่านเต็มพื้นที่ไปเลยเพื่อความสวยงาม
3. เจาะรูสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ พร้อมกับดูดฝุ่นไปด้วย เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย
4. ในท้องตลาดมีอุปกรณ์รางม่านสองชั้นให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งรางเอ็ม (M) และรางไมโคร แบบที่ติดตั้งนี้เป็นชนิดราง ไมโคร ทำจากอะลูมิเนียมชั้นดีชนิดหนา ไม่เกิดสนิม ตัวเกี่ยวรางม่านเลื่อนแบบโค้ง เมื่อปิดม่านผ้าจะเกยกันนิดหน่อย ช่วยป้องกันแสงแดดลอดเข้ามา
5. ติดตะขอเกี่ยวให้พร้อมสำหรับการติดตั้ง ส่วนม่านเป็นการใช้ผ้าทึบกับผ้า Lining Blackout มาประกบติดกันด้วยตีนตุ๊กแก หากต้องการเปลี่ยนผ้าก็ดึงออกได้ง่าย เปลี่ยนใหม่สะดวก ที่สำคัญหัวผ้าม่านจะมีป้ายบอกชื่อเจ้าของ ขนาดของผ้า รุ่นของผ้าที่ใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ หากต้องการเปลี่ยนผ้าเฉพาะชิ้นก็สะดวกไม่ยุ่งยาก
6. เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ช่างจะใช้เครื่องรีดผ้าไอน้ำรีดม่านให้เรียบและจับจีบให้เข้ารูป
Tips
- ตัวสไลซ์หัวรางต้องติดตั้งให้เกยกันข้างละ 10เซนติเมตร เพื่อกันแสงแดดลอดเข้ามา
- ผ้าม่านโปร่ง (Sheer) มีทั้งแบบมีลายและไม่มีลาย ผ้าหน้ากว้าง 3 เมตรไม่มีรอยต่อ โซ่ถ่วงม่านโปร่งจะเป็นชนิดเล็กพิเศษ น้ำหนักเบา ผ้าประเภทนี้จะช่วยกรองแสงในชั้นสุดท้าย
- ราคาของผ้าม่านขึ้นอยู่กับการเลือกประเภทของผ้า เพราะราคาของอุปกรณ์ต่างๆในท้องตลาดไม่ค่อยต่างกันเท่าไร เช่นบานประตูเลื่อน ขนาด 3.60x 20 เซนติเมตร ประเมินราคาคร่าวๆอยู่ที่ 8,000-12,000 บาท ในส่วนของผ้าจะคิดราคาต่อหลา ค่าเย็บและตัวรางคิดเป็นเมตร ส่วนอุปกรณ์ราง เช่น ก้านจูง ตะขอ คิดเป็นชิ้น
- การทำความสะอาดผ้าม่านแนะนำให้ใช้การดูดฝุ่นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากผ้าม่านไม่ได้โดนฝุ่นหรือเหงื่อแบบเสื้อผ้า และการซักจะทำให้ผ้าเสียรูปทรง หากกลัวเรื่องกลิ่นอับ แนะนำให้ดูดฝุ่นเป็นประจำและฉีดสเปรย์น้ำยาทำความสะอาดผ้าแทน
เรื่อง : “อัจฉรา จีนคร้าม”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข