THE CHAPEL สถาปัตยกรรมรางวัลระดับโลกของเวียดนาม
นี่คือ สถาปัตยกรรมรางวัลระดับโลก จากประเทศเวียดนาม ที่ให้คุณค่าของงานสถาปัตยกรรมนอกเหนือจากความงดงามที่มองเห็นได้จากสายตาแล้ว ยังต้องสามารถสานสัมพันธ์กับความรู้สึกและความเข้าใจของตัวผู้ใช้งานด้วย a21studio ทีมสถาปนิกจากเวียดนาม กับการออกแบบ The Chapel เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวเล่าขานจากอดีตให้เข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ ตรงตามเจตจํานงดั้งเดิมของการใช้พื้นที่สาธารณะในชุมชน หรือที่คนเวียดนามเรียกว่า Dinh ให้ยังคงดำรงอยู่ถึงแม้รูปร่างหน้าตาจะแปรผันไปตามยุคสมัยก็ตาม
“ดินห์” เดิมทีคือสถานที่ที่คนในชุมชนใช้พบปะสังสรรค์หรือประชุมระดมความคิด มักสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านหรือผู้ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในละแวกนั้น คล้ายกับเจดีย์ แต่ต่างกันก็ตรงที่เจดีย์จะอยู่ในศาสนสถาน ส่วนดินห์มักตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาใช้งานได้ ดังนั้นดินห์จึงมีส่วนบ่มเพาะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ท้ังดิน น้ำ และต้นไม้ แต่ท้ายที่สุดดินห์ก็หายไปทั้งจากชุมชนเมืองและตามเขตชนบท เนื่องจากชีวิตผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป คนเวียดนามรุ่นใหม่หันไปพบปะเจอะเจอกันตามร้านกาแฟหรือสถานที่อื่นๆ มากขึ้น
ดังนั้น เจ้าของโครงการจึงอยากริเริ่มโปรเจ็กต์สำหรับพื้นที่สาธารณะเพื่อชุมชนในนครโฮจิมินห์ โดยมีจุดมุ่งหมายต้องการให้ผู้คนในชุมชนได้พบปะกันบนโลกจริงแทนการพูดคุยในสังคมสมาร์ทโฟน ดินห์จึงถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นอีกคร้ังในนาม The Chapel ซึ่งเป็นการดึงองค์ประกอบของดินห์แบบด้ังเดิมมาแปลความหมายผ่านรูปแบบใหม่แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นจากอ้อมกอดของชุมชนเช่นเดิม
ด้วยระยะเวลาออกแบบเพียง 6 เดือน ดินห์โฉมใหม่ก็แล้วเสร็จเป็นอาคารชั้นเดียวกึ่งเอ๊าต์ดอร์ เปิดด้านหน้าและด้านหลังออกสู่สวนป่าโปร่ง ผนังด้านข้างเป็นโครงสร้างเหล็กกรุเมทัลชีททําสีขาว เติมสีสันด้วยผืนผ้าม่านหลากสีโบกสะบัดทักทายผู้มาเยือน ช่วยสร้างบรรยากาศนุ่มนวลท่ามกลางวัสดุเหล็กและพื้นไม้เก่า แปลนภายในมีความยืดหยุ่น สามารถทํากิจกรรมได้หลายรูปแบบ โดยในเวลาปกติที่นี่ใช้เป็นคาเฟ่ แต่หากต้องการจัดงานแต่งงาน งานสังสรรค์ หรือการประชุมก็สามารถรองรับได้
“จุดเด่นอยู่ที่เสาภายในที่ออกแบบให้เหมือนกิ่งก้านต้นไม้ ช่วยค้ำยันหลังคาที่ปกคลุมพื้นที่ขนาด 10 x 20 เมตร เพื่อให้ผู้คนจดจำและหวนกลับไปคิดถึงเวลาเดินเล่นใต้ร่มไม้ เสานี้ทำมาจากเหล็กน้ำหนักเบาที่รียูสมาจากโครงการเดิมของเจ้าของ มีข้อดีคือช่วยลดน้ำหนักของวัสดุ และก่อสร้างเสร็จเร็ว ลำพังเสาต้นเดียวคงแข็งแรงไม่พอ เราจึงออกแบบเหล็กให้เหมือนกิ่งก้านต้นไม้แผ่ออกไป เพื่อให้อาคารคงรูป ไม่แกว่ง สาเหตุที่เลือกใช้โครงสร้างแผ่กิ่งแบบต้นไม้ เพราะใช้เสาภายในอาคารเพียงต้นเดียว ในขณะที่หากก่อสร้างเหมือนอาคารทั่วไปอาจต้องมีเสากีดขวางมากมาย”
“เราพยายามสร้างสิ่งที่ดูธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันก็มอบจิตวิญญาณแห่งดินห์ให้กับผู้คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสีสัน พื้นที่ รูปลักษณ์ใหม่เหมือนกับความเชื่อของ a21studio ที่ว่า ถึงแม้หน้าตาอาคารจะแตกต่างกัน แต่ภายในยังคง Spirit of Architecture คือมีความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมและบริบทแวดล้อมโดยรอบท้ังธรรมชาติและผู้อยู่อาศัย เพื่อการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข”
และในปี 2014 ที่ผ่านมา World Architecture Festival หรือ WAF ได้มอบรางวัลอาคารแห่งปีประเภทอาคารสาธารณะให้กับ The Chapel จากเหตุผลเรื่องความเรียบง่ายของสถาปัตยกรรม แต่สามารถเล่าเรื่องราวของพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ ครอบคลุมตั้งแต่ประวัติศาสตร์มาบรรจบเข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่อย่างลงตัว รวมถึงการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลที่นํามาคิดใหม่ แม้จะใช้วัสดุน้อย แต่กลับเกิดผลกับสังคมได้มากและกว้างขวาง ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากผลตอบรับด้านการใช้งาน ผู้คนในย่านน้ันเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมอย่างคุ้นเคยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและวิถีชีวิตไปโดยปริยาย