สงบร่มรื่นใน บ้านใต้ถุนสูง สไตล์ไทยอีสาน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Arsom Silp Institude of the Arts
เจ้าของ : คุณแฟรงค์ – ศักดา และคุณจี๊ด – อรพินท์ ศรีสังคม
ครั้งแรกที่เห็น บ้านใต้ถุนสูง สไตล์ไทยอีสาน หลังนี้ทำให้เราแอบนึกไปว่าที่นี่ไม่ใช่กรุงเทพฯ ด้วยบรรยากาศอันร่มรื่นของแมกไม้และสไตล์บ้านที่ดูสงบและสวยงามเป็นอย่างมาก ที่นี่คือบ้านของ คุณแฟรงค์ – ศักดา และคุณจี๊ด – อรพินท์ ศรีสังคม เป็น บ้านไทยอีสาน ประยุกต์ที่ดูร่วมสมัย ผสมกลิ่นอายเรือนไทยและจังหวะสนุกๆของครอบครัวบ้านไทยอีสาน
คุณศักดาเล่าให้เราฟังว่า “ผมชอบเรือนไทยมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ที่เลือกรูปแบบเฮือนอีสานเพราะได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อ (พันเอกสมคิด ศรีสังคม) ซึ่งท่านรักวัฒนธรรมอีสานมากครับ แต่บ้านหลังนี้ก็มีหลายๆสิ่งที่ผสมปนเปกันจากทุกๆคนในครอบครัวด้วย”
“เมื่อก่อนเราเคยอยู่คอนโดแถวสาทรค่ะ แต่เพราะอยากให้ลูกๆได้อยู่ใกล้โรงเรียน (โรงเรียนรุ่งอรุณ) ก็เลยเลือกสร้างบ้านหลังนี้ แล้วก็ชอบความเป็นธรรมชาติของชุมชนแห่งนี้ด้วย พื้นที่ในโถงนี้ก็คล้ายการนำพื้นที่ในรูปแบบที่เราคุ้นชินคือ ห้องนั่งเล่นของคอนโดมาปรับขยายและเชื่อมโยงพื้นที่ออกไปรับความเป็นธรรมชาติที่ด้านนอก” คุณจี๊ดอธิบาย
เนื่องจากครอบครัวศรีสังคมใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดมานานกว่า 20 ปี เมื่อย้ายมาอยู่ใกล้ดิน การเรียนรู้ในการปรับตัวสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ร่วมกันของครอบครัว จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญในกระบวนการออกแบบบ้านหลังนี้ อีกทั้งผนวกกับเรื่องที่ลูกๆได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจากโรงเรียน ก็เป็นแรงผลักดันให้ทั้งครอบครัวมีความตั้งใจว่าจะสร้าง และอยู่อาศัยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
บ้านหลังนี้จึงเป็นการนำลักษณะที่สำคัญของการปลูกเรือนอีสานมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เช่น มีการออกแบบพื้นที่ชั้นล่างให้เป็นเหมือนใต้ถุนโล่ง เพื่อเอื้อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติรอบตัวมากที่สุด โดยมีชานหลังคายื่นออกไปเป็นพื้นที่อเนกประสงค์และรับแขกได้ ซึ่งหากมองจากภายนอกบ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายเรือนสามหลังที่มีชานแดดผูกติดกันไว้ตรงกึ่งกลาง เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวกในทุกพื้นที่ เรือนแต่ละหลังมีชายคายื่นยาวเพื่อป้องกันแดดและฝน ชั้นล่างใช้ผนังดินอัดหรือ Rammed Earth ของ La Terre เพื่อทำหน้าที่เป็นฉนวน หน่วงความร้อนให้บ้านเย็นลงในช่วงกลางวัน ส่วนหลังคาไม้ก็ปรับไปใช้หลังคาไม้ซีดาร์แทนไม้ท้องถิ่น วัสดุส่วนใหญ่เลือกใช้ไม้ เพราะมีความเป็นธรรมชาติ ดูดและคายความร้อนได้รวดเร็ว และเป็นวัสดุที่ปลูกทดแทนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณศักดาเห็นพ้องกับอาศรมสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้ออกแบบ อีกทั้งยังเอื้อให้เด็กๆซึมซับความนุ่มนวลของวัสดุธรรมชาติได้อีกด้วย