แม้บ้านหลังนี้จะมีลักษณะเป็นเฮือนอีสานประยุกต์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นบ้านพื้นถิ่นในภาพความทรงจำเดิมๆเพียงอย่างเดียว เพราะด้วยอารมณ์สนุกของคุณศักดา ประกอบกับมีลูกชายถึง 3 คน คือ น้องคริส น้องแก๊ฟ และน้องกาย จึงทำให้เฮือนอีสานหลังนี้มีมุมสนุกๆกระจายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นห้องใต้หลังคา หรือไม้ลื่นที่โถงบันได แต่ที่เป็นมุมโปรดของคุณศักดาก็คงจะเป็นพื้นที่บนดาดฟ้าที่เดินถึงกันได้ทั่วทั้งเรือน
“ผมเคยไปเรียนที่แคนาดา ในวันที่แดดจ้าอากาศดีนักเรียนจะชอบขึ้นไปนั่งเล่นชมวิวกันบนหลังคาหอพัก หยิบกีตาร์ขนมเครื่องดื่มไปนั่งเล่นกัน พอทำบ้านของตัวเองก็อยากให้มีพื้นที่แบบนั้นบ้าง จึงเสริมโครงสร้างหลังคาให้เยอะขึ้น ประกอบกับเป็นหลังคาชิงเกิลไม้ซีดาร์ ทำให้ออกมาเดินเล่นได้แบบที่เห็น ลูกๆยังเคยขนเครื่องดนตรีขึ้นมาถ่ายวิดีโอลงยูทูปเล่นกันบนนี้เลยครับ”
บริเวณที่ถือเป็นหัวใจของบ้านก็คือโถงนั่งเล่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เคาน์เตอร์บาร์ที่เป็นครัวฝรั่ง ส่วนรับประทานอาหาร และโซฟานั่งเล่นสำหรับดูภาพยนตร์ร่วมกัน สถาปนิกได้ออกแบบพื้นที่นี้ให้มีลักษณะเป็นเหมือนใต้ถุนบ้านที่พิเศษขึ้นไปอีก โดยทำโถงขนาด 7×11 เมตร ซึ่งไม่มีเสากลางรองรับ จึงเป็นพื้นที่ที่ทุกคนชอบมารวมตัวทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันเป็นประจำ
บ้านหลังนี้ออกแบบให้ยกฐานอาคารให้เป็นเหมือนชานรอบบ้าน ซึ่งมีประโยชน์ในแง่ป้องกันสัตว์เลื้อยคลานจากสวนเข้าสู่ตัวบ้าน สร้างการระบายอากาศใต้บ้านที่ดี แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่พอจะนั่งหย่อนขาเล่นหรือเดินลงไปยังสวนได้สะดวก โดยพื้นที่สวนก็เลือกปลูกทุ่งปอเทืองที่ดูเป็นธรรมชาติ เพื่อช่วยบำรุงดิน
“แต่ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ ผีเสื้อหลากพันธุ์เป็นร้อยๆตัว ผึ้งเล็กผึ้งใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นกขนาดต่างๆ แล้วยังมีนกกวักที่ทำรังในไร่ปอเทืองซึ่งพาหมู่ลูกเจี๊ยบสีดำขลับเดินแถวไปบ่อน้ำหลังบ้าน น่ารักมากครับ
“เราชอบที่จะมองออกไปได้โล่งๆแบบนี้นะครับ ดีที่ว่าชุมชนแห่งนี้เรารักธรรมชาติรักต้นไม้กัน ก็เลยมีต้นไม้ใหญ่ๆสวยๆแบบนี้อยู่ทั่วไป ถ้าไม่ใช่ที่นี่ วิวที่มองจากบนหลังคาก็คงจะไม่สวยแบบนี้เป็นแน่”
คุณจี๊ดเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า “เด็กๆที่โรงเรียน เป็นเพื่อนลูกบ้าง หรือรู้จักกับลูกบ้าง ชอบมานั่งเล่นที่บ้าน เขาคงรู้สึกว่าปลอดภัยด้วย ก็เลยคิดกันเล่นๆว่าพอเกษียณอายุจากงานแล้วจะเปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษไปด้วยเสียเลย ไหนๆก็มีเด็กๆแวะมาเป็นประจำกันอยู่แล้ว”
คุณศักดากล่าวเสริมในตอนท้ายว่า “ลูกๆเริ่มไปเรียนเมืองนอกกันสองคนแล้ว มีแต่น้องกาย ลูกคนสุดท้อง อายุ 11 ขวบที่ยังอยู่กับเรา ตั้งใจเตรียมบ้านหลังนี้เอาไว้ให้พวกเขาสามคน เป็นบ้านไทยๆที่มีการใช้งานแบบสมัยใหม่เหมาะกับพวกเขา มีพื้นที่พอให้ทุกคนมีความเป็นส่วนตัวได้ ที่สำคัญคืออยู่ทุ่งปอเทืองตอนนี้พอปิดเทอมลูกๆก็กลับมาอยู่ที่บ้านกันอย่างสนุกสนาน เท่านี้ก็เป็นความสุขของคนเป็นพ่อเป็นแม่แล้ว”
ระหว่างนั่งเล่นพลางจิบชาที่เกยข้างโถงนั่งเล่นริมทุ่งปอเทือง ก็ทำให้เราเข้าใจความเป็นบ้านหลังนี้มากขึ้น บ้านที่ก่อร่างขึ้นมาจากความผูกพันที่มีต่อเฮือนอีสานของคุณศักดา และความกล้าทิ้งชีวิตคอนโดมาอยู่บ้านลงมือทำสวนด้วยตัวเองของคุณจี๊ด ซึ่งวันหนึ่งก็คงจะส่งต่อไปยังลูกๆทั้งสามคนในที่สุด
เจ้าของ: คุณอรพินท์ – คุณศักดา ศรีสังคม
ออกแบบ: สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์สถาปนิกที่ปรึกษา คุณธีรพล นิยม
สถาปนิกโครงการ: คุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์ และคุณอรพิมพ์ ตันติพัฒน์
ตกแต่งภายใน: คุณศักดิ์ชาย โกมลโรจน์เรื่อง: “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: วนัสนันท์ ธีรวิฑูร