ปรับบ้านให้พร้อม… เมื่อพ่อเข้าสู่วัยชรา ด้วยไม้ฝาสเปลนดิด จาก เฌอร่า
เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ และคงไม่ดีแน่หากจะเกิดขึ้นกับพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยายที่คุณรัก ซึ่งนอกจากการดูแลสุขภาพใจให้ท่านรู้สึกได้รับความรักความห่วงใยอยู่เสมอแล้ว การดูแลสุขภาพกาย ด้วยการเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิตก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะการออกแบบที่อยู่อาศัยภายในบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตยิ่งต้องพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ ซึ่งนอกจากความสะดวกสบายแล้ว เรื่องของความปลอดภัยก็นับเป็นปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญ
เนื่องจากผู้สูงอายุ มักเดินเหินไม่สะดวก จึงต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยหรือการใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการ ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาความไม่ปลอดภัย และที่สำคัญก็คือเพื่อความสะดวกสบายของผู้สูงอายุด้วย เพราะเมื่อท่านใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและปลอดภัย ลูกหลานเราเองก็พลอยมีความสุขและอุ่นใจ ผู้ใหญ่ที่เรารักจะได้อยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน
และเพื่อเป็นแนวทางในการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมลงตัวกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุที่เรารัก วันนี้เรามีไอเดียการตกแต่งบ้านที่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยทางกาย และความอบอุ่นทางใจสำหรับผู้สูงอายุมาฝากกัน โดยครั้งนี้เป็นบ้านของคุณเพ็ชรี ห้วยหงษ์ทอง ที่อยากจะปรับปรุงบ้านเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคุณพ่อ คุณแม่ ซึ่งมีอายุมากแล้ว โดยบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่สร้างมาจากน้ำพักน้ำแรงของคุณพ่อเมื่อครั้งที่ท่านยังคงแข็งแรง แต่มาถึงวันหนึ่งเมื่อท่านไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของท่าน เธอจึงอยากปรับปรุง เพื่อให้บ้านที่คุณพ่อรักเป็นบ้านที่ท่านอยู่แล้วสะดวกสบายมากที่สุด
บ้านหลังนี้เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ 50 ตารางวา อายุ 35 ปี มีสมาชิกอยู่ 4 คนด้วยกัน คือ คุณพ่อ คุณแม่ ตัวคุณเพ็ชรี และหลานสาว เมื่อคุณพ่อซึ่งมีอายุ 87 ปี ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนั่งบนรถเข็นวิลแชร์ตลอดเวลา โดยมีคุณแม่ที่มีอายุ 73 ปี คอยดูแลในช่วงกลางวันที่คุณเพ็ชรีออกไปทำงาน เธอจึงเกิดความเป็นห่วง และกังวลใจในความปลอดภัยของท่านทั้งสอง และหากบ้านได้รับการปรับปรุงที่เหมาะสม ก็จะได้ผ่อนแรงของคุณแม่ที่ต้องคอยดูแลคุณพ่อให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น
จากการสำรวจบ้านแล้วพบว่า บ้านหลังนี้มีพื้นที่บริเวณชั้นล่างที่ดูไม่เป็นสัดส่วน พื้นบ้านก็ต่างระดับ ไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็น ส่วนที่ต้องปรับปรุงคือ พื้นที่ห้องรับแขก, ห้องรับประทานอาหาร-ห้องครัว, ห้องเก็บของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ห้องน้ำ และที่สำคัญคือห้องนอนคุณพ่อ ดูแล้วทุกส่วนของบ้านล้วนเป็นอุปสรรคต่ออยู่อาศัยและการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น โดยเฉพาะพื้นบ้านที่มีความต่างระดับนั้น เวลาจะพาคุณพ่อไปเข้าห้องน้ำกว่าจะถึงต้องเข็นรถผ่านจากห้องครัว เมื่อถึงห้องน้ำต้องใช้วิธีกระดกเพื่อยกรถเข็นข้ามไป ซึ่งอันตรายและลำบากมากๆ
สำหรับห้องที่ต้องเร่งทำการปรับปรุงคือ ห้องนอนของคุณพ่อที่อยู่บริเวณชั้นล่างของบ้าน ห้องนี้คุณพ่อจะนอนอยู่คนเดียว ส่วนคุณแม่นอนบนชั้น 2 (ห้องตรงกันกับห้องคุณพ่อ) เวลาคุณพ่อต้องการความช่วยเหลือก็จะใช้วิธีเคาะตรงหน้าต่างเหล็กดัด ให้มีเสียงดังเพื่อให้คุณแม่ลงมาช่วยเหลือทำธุระส่วนตัวให้ ติดกับห้องคุณพ่อเป็นห้องเก็บของที่ควรปรับปรุงและวางเลย์เอ้าท์ใหม่และทำให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด
จุดสังเกตอีกอย่างที่เห็นชัดเลยคือ ตรงประตูห้องของคุณพ่อที่มีขนาดแคบพอดีกับรถเข็นเกินไป ทำให้ลำบากในการเข้าออก และราวจับในการพยุงร่างกายในบ้านไม่ค่อยมี ต้องอาศัยแรงคนในการพยุงร่างคุณพ่อให้ลุกนั่งบนรถเข็น จึงต้องเร่งแก้ไขให้บานประตูมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร และติดเป็นประตูบานเลื่อนเพื่อการเปิด-ปิดที่สะดวกและปลอดภัยกว่า
ต่อมาคือส่วนของห้องน้ำที่มีอยู่เพียงห้องเดียว ทุกคนก็จะมาใช้รวมกันที่ห้องนี้ ปัญหาก็เป็นเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้รองรับการใช้งานของคุณพ่อมีไม่เพียงพอ เช่น ราวที่ใช้จับพยุงตัว หรือพื้นที่มีการแบ่งระดับชั้น ทำให้ยากต่อการใช้งาน
ที่สำคัญอีกอย่างที่ควรเร่งแก้ไขคือการปรับระดับพื้นบ้าน จะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้รถเข็นวิลแชร์ของคุณพ่อ ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอ้าท์ การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ดูระเกะระกะเป็นอุปสรรคในการไปไหนมาไหนได้ไม่สะดวก รวมถึงมีห้องเก็บของที่ติดกับห้องนอนของคุณพ่อที่ต้องปรับปรุงให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อให้คุณพ่ออยู่ในห้องนอนของท่านอย่างมีความสุข
โดยสรุปแล้ว บ้านหลังนี้ของคุณเพ็ชรีก็คือขาดฟังก์ชั่นในการดูแลคุณพ่อที่สูงอายุ ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อีกทั้งระดับพื้น และห้องน้ำไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่นั่งรถเข็น รวมถึงมีพื้นที่ห้องเก็บของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
และก็มาถึงเวลาที่จะตามไปดูไอเดียในการปรับเปลี่ยนบ้านหลังนี้พร้อมๆ กัน ว่าจะออกมาตอบโจทย์และรองรับการใช้งานสำหรับผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง
เข้าสู่การก่อสร้างในสัปดาห์ที่ 1
ก่อนทำการปรับปรุงบ้านทุกครั้ง ต้องเริ่มจากการตรวจเช็คภายในบ้านเพื่อความสะดวกก่อนการรื้อถอน ซึ่งปัญหาหลักๆ ก็คือการวางตำแหน่งปลั๊กไฟ และสวิตซ์เปิด-ปิด ที่ไม่สะดวกต่อการใช้ของคุณพ่อ โดยจะมีการวางตำแหน่งระบบไฟใหม่ทั้งหมด สวิตช์ไฟต้องใหญ่ชัดเจน ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน มีสีขาวและเรืองแสงได้ในที่มืด ตำแหน่งอยู่สูงจากพื้นในระยะที่ผู้ที่คุณพ่อที่นั่งบนรถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวก ตามมาด้วยขั้นตอนการรื้อถอนได้ทุบกำแพงที่กั้นระหว่างห้องเก็บของและห้องคุณพ่อออก เพื่อทำให้ทั้งสองห้องนี้เชื่อมต่อกัน ในส่วนของงานรื้อถอน เจาะผนังต่างๆ นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น 7 วัน จากนั้นก็มาถึงในส่วนของการขึ้นโครงไม้เพื่อทำพื้นที่กั้นในส่วนของห้องต่างๆ
ในสัปดาห์ที่ 2
เป็นการกั้นและจัดพื้นที่ใต้บันไดให้กลายเป็นห้องเก็บของอเนกประสงค์ ต่อด้วยการกั้นผนังหัวเตียงในห้องคุณพ่อ แต่ยังคงเปิดพื้นที่ระหว่างสองห้องนี้ไว้ เพื่อความสะดวกในการเข้าออกของรถวิลแชร์นั่นเอง หลังจากขึ้นโครงสร้างหลักเรียบร้อยแล้วก็มาถึงในส่วนของการตกแต่ง โดยได้เลือกใช้วัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ เฌอร่า มารับหน้าที่ในส่วนของผนังหลายๆ ส่วน และก็ถึงเวลาที่จะปรับพื้นที่ของบ้านในส่วนต่อไป
การก่อสร้างในสัปดาห์ที่ 3
มาถึงขั้นตอนสำคัญของบ้าน นั่นก็คือการปรับระดับพื้นให้เท่ากัน จะเห็นแล้วว่าในสัปดาห์นี้ขั้นตอนโครงสร้างหลักๆ ทั้งทุบผนังและก่อใหม่เสร็จหมดแล้ว เหลือแค่เก็บรายละเอียดบางอย่างเท่านั้น ส่วนเรื่องการปรับระดับพื้นได้ทำการปรับระดับพื้นครัวให้เท่ากับระดับพื้นบ้าน และปรับระดับพื้นห้องน้ำที่สูงกว่าพื้นบ้านให้ลงมาเสมอเท่ากัน เพราะห้องน้ำมีขนาดพื้นที่แคบกว่าพื้นบ้าน ดังนั้น การปรับแบบนี้จึงง่ายกว่า ช่วยประหยัดเวลา และงบประมาณได้มากขึ้น ใครที่คิดจะปรับปรุงบ้านใหม่ก็ลองเอาแนวคิดนี้ไปใช้ดูได้
ห้องที่เป็นปัจจัยหลักๆ เลยคือ ห้องน้ำ จะเห็นว่าเลย์เอ้าท์เดิม เวลาจะพาคุณพ่อมาเข้าห้องน้ำต้องเข็นออกมาแล้วค่อยกลับเข้าไปใหม่เพราะความแคบ เราเลยออกแบบโดยการเจาะผนังเพื่อให้เข้าออกห้องน้ำได้สะดวกขึ้น ปรับระดับพื้นที่ให้เท่ากับตัวบ้าน เพิ่มประตูทางเข้าห้องน้ำจากห้องของคุณพ่อโดยตรงอีก 1 แห่ง รวมถึงเลือกใช้สุขภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานที่อยู่บนรถวิลแชร์ ติดตั้งราวจับในระดับ 80 – 90 เซนติเมตร ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึงโถส้วมหรือจุดอาบน้ำ เพื่อให้ยึดจับแทนการไปจับหรือเหนี่ยวอุปกรณ์สุขภัณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือตนเองให้กับคุณพ่อด้วย
เข้าสู่การก่อสร้างในสัปดาห์ที่ 4
ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้าย ตอนนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ในการเก็บรายละเอียดงานทุกส่วน และการปรับปรุงบ้านก็เสร็จสิ้นลง จากเดิมบ้านหลังนี้มีปัญหาในการอยู่อาศัย ได้มีการถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้โล่งตั้งแต่หน้าบ้านไปจนถึงหลังบ้าน มีการปรับระดับพื้นที่ให้เท่ากัน และได้ทำการเปิดเชื่อมกันระหว่างห้องรับแขกกับห้องนอนของคุณพ่อ เพื่อการถ่ายเทของอากาศนั่นเอง จัดมุมโซนห้องรับแขกให้เป็นสัดส่วน มีส่วนวางทีวีที่จะได้นั่งดูกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นมุมที่ทำออกมาแล้วดูอบอุ่นมาก
นอกจากนี้ยังมีการจัดหาเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับผู้ป่วยที่นั่งวิลแชร์ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ เพราะการออกแบบบ้านที่มีผู้สูงอายุที่ดีที่สุด คือ การออกแบบที่คำนึงถึงทุกช่วงวัยของชีวิต แม้แต่คำนึงถึงโอกาสเสี่ยงหรือความเป็นไปของชีวิตในอนาคตเป็นความสำคัญที่สุด เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบบ้านทุกหลัง ตามจุดต่างๆ ของบ้าน จะติดอุปกรณ์ราวจับเพื่อความสะดวกในการเกาะเดินของคุณพ่อ และตกแต่งภาพถ่ายในความทรงจำเอาไว้ตามผนังของบ้าน เพื่อความสวยงาม และสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับผู้อยู่อาศัย
ในส่วนของพื้นที่รับประทานอาหาร ได้เก็บโต๊ะกินข้าวตัวเก่าที่เป็นของรักของหวงของคุณพ่อเอาไว้ ปรับเปลี่ยนเก้าอี้ใหม่ให้สวยงามลงตัว เพิ่มบรรยากาศในการรับประทานอาหารให้ดียิ่งขึ้น จากเดิมที่คุณแม่ต้องออกไปทำอาหารหลังบ้าน ก็มีการปรับครัวเข้ามาไว้ในบ้าน และแปลงโฉมให้เป็นห้องครัวที่มีฟังก์ชั่นครบ และได้ทำการเจาะผนังห้องครัวและห้องรับประทานอาหารเพื่อความสะดวกสบายในการรับส่งอาหาร และทำให้คุณแม่มองเห็นคุณพ่อได้ตลอดเวลาขณะที่ทำอาหารอีกด้วย
หลังจากบ้านได้รับการปรับปรุงเสร็จแล้ว ความรู้สึกของคุณเพ็ชรีคือ มีความสุขมากขึ้น ดีใจที่คุณพ่อคุณแม่จะได้ใช้ชีวิตช่วงกลางวันที่อยู่กันตามลำพังได้อย่างสะดวกและปลอดภัยขึ้น ทำให้เกิดความอุ่นใจ และสบายใจหมดกังวลขึ้นมาก
เหตุผลสำคัญของการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุครั้งนี้ จะเน้นเรื่องของการทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่กันเองได้โดยลำพัง มีความสะดวกปลอดภัย และที่สำคัญที่สุดคือต้องช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด บวกกับอยู่อย่างสบายอบอุ่นใจ โดยเน้นการเปิดพื้นที่โล่ง ให้ทุกห้องเชื่อมต่อถึงกัน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้มีช่องทางสัญจรภายในบ้านที่มีขนาดเหมาะสม ที่สำคัญคือการปรับระดับพื้นบ้านให้อยู่ในระดับเดียวกันเพื่อความสะดวกในการเข็นรถวิลแชร์ ติดตั้งราวจับตามส่วนสำคัญรอบๆ ตัวบ้าน เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมและรองรับน้ำหนักของผู้สูงอายุได้อย่างดี พร้อมเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม อาทิ กระเบื้องยางปูพื้นบ้านทั้งหลัง เพื่อกันการลื่น หรือวัสดุทดแทนไม้อย่างไม้ เฌอร่า เพื่อสร้างความรู้สึกอบอุ่น สบายตาเสมือนบ้านไม้หลังเก่า ที่ดูแลรักษาง่ายขึ้นกว่าเดิม แถมทนทาน ไม่ต้องกังวลเรื่องปลวกหรือความชื้น อีกด้วย
อีกหนึ่งวัสดุที่เข้ามาเติมเต็มให้บ้านหลังนี้สมบูรณ์แบบ ห้องแต่ละห้องสวยงามยิ่งขึ้น คือการใช้ไม้ฝาสเปลนดิด เฌอร่า รุ่น วิจิตรนนทรี ลายชัยพฤกษ์ วัสดุทดแทนไม้ที่ใช้ตกแต่งผนัง สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก ให้สีสันสวยงาม และผิวสัมผัสเสมือนไม้ธรรมชาติ มีความแข็งแรง ทนทาน ทุกสภาพอากาศ ปราศจากปลวก มอด และแมลง การติดตั้งก็ทำได้ง่ายไม่มีรอยหัวสกรู แต่งเติมลูกเล่นให้กับผนังไม้ ทำให้ช่างเก็บงานได้ง่าย เรียบเนียน และยังคงให้บรรยากาศของบ้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น และเพิ่มความโมเดิร์นร่วมสมัยเข้าไปอีกด้วย
เมื่อบ้านหลังนี้ถูกปรับปรุงเสร็จ คุณเพ็ชรีบอกว่า บ้านหลังนี้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีมากๆ ให้กับทุกคนในครอบครัว ทำให้ชีวิตมีความสุข สะดวก สบาย คุณพ่อคุณแม่ก็มีกำลังใจที่ดี ที่จะอยู่กับเธอไปอีกหลายปี เพราะในบั้นปลายของชีวิตที่เข้าสู่ช่วงชราภาพ ชีวิตที่เริ่มไม่มีกำลังวังชาในการเคลื่อนไหวร่างกาย เดินเหินไม่สะดวก คนเป็นลูกหรือคนที่ต้องดูแลท่านต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดให้บุคคลที่เรารักที่สุดในชีวิตนั่นเอง หากใครต้องปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุที่บ้านก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ “แล้วคุณล่ะจัดบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่คุณรักแล้วหรือยัง’’