เราออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางโป่งแยง ซึ่งเป็นเส้นทางคดเคี้ยวที่เลาะไปตามแนวภูเขา ใช้เวลาไม่นานนักก็มาถึงบ้านหลังนี้ที่แรกเห็นเราต้องแหงนหน้าดูตัวบ้าน เพราะความสูงชะลูดของที่ตั้งนั่นเอง เจ้าของบ้านคือ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ เล่าว่า เดิมที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้มาก่อน
“เป็นบ้านที่ซี้อต่อมาอีกที เราใช้เป็นที่รวมญาติในช่วงปีใหม่ของทุกปี ด้วยความที่เป็นบ้านเก่าก็อยู่ไปซ่อมไปนานถึง 15 ปี กระทั่งในที่สุดก็
ตัดสินใจสร้างบ้านใหม่ จึงเรียกสถาปนิก 3 รายมาคุย ให้เวลาเขาสองสัปดาห์ไปทำแบบสเก็ตช์ดีไซน์มาให้ผมเลือก และผมถูกใจแบบของ คุณนคร พุ่มเจริญ มากที่สุด เพราะเป็นสไตล์ไทยๆ ผมมีเพื่อนชาวต่างประเทศเยอะมากและมักแวะเวียนมาหาเสมอ จึงอยากได้บ้านไทยที่ดูทันสมัยหน่อย“
สถาปนิกมีเวลาเขียนแบบเพียง 2 เดือน จากนั้นก็เริ่มก่อสร้างใช้เวลาอีกเกือบปี แม้ว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถรวม
ญาติพี่น้องก่อนวันปีใหม่ได้ หลังจากนั้นจึงค่อยๆเก็บงานจนเสร็จเรียบร้อยเมื่อต้นปี
“เวลาส่วนใหญ่ของผมจะอยู่ต่างประเทศ แต่ก็จะหาโอกาสมาดูงานก่อสร้างเดือนละครั้ง และถึงอย่างไรก็เหมือนได้คุมงานทุกวันอยู่ดี เพราะผมให้ผู้ออกแบบถ่ายรูปส่งให้ผมดูความก้าวหน้าทุกวัน แล้วโทรศัพท์พูดคุยกันทุกวันเช่นกัน“
การออกแบบบ้านหลังนี้ใช้ประโยชน์จากพื้นเอียงของภูเขาให้มากที่สุด โดยชั้นบนสุดจะเท่ากับระดับของที่จอดรถ ชั้นสองอยู่ระดับเดียวกับทางเข้าห้องนอนทั้งหมด และส่วนที่มีระดับต่ำสุดออกแบบเป็นห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ใช้เป็นห้องนอนแขก ห้องทำงาน หรือห้องออกกำลังกายก็ได้ อยู่ในขั้นตอนหาเฟอร์นิเจอร์เข้ามาตกแต่ง
ตัวบ้านมีความโดดเด่นที่สะท้อนรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยผสมล้านนา แต่มีลักษณะต่างจากบ้านไทยทั่วไปคือ พื้นที่ชั้นบนทั้งหมดใช้เป็นส่วนนันทนาการ ได้แก่ ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว โดยจัดวางแบบเรือนหมู่ คือพื้นที่ใช้สอยแต่ละส่วนจะอยู่ในเรือนแต่ละหลัง เชื่อมต่อกันด้วยชาน และวัสดุหลักก็ใช้การก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาว ชานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูแผ่นกระเบื้องเซรามิก ซึ่งทำในเชียงใหม่ เช่นเดียวกับกระเบื้องขอมุงหลังคา
ขณะที่ส่วนพักผ่อนซึ่งได้แก่ห้องนอนทุกห้องออกแบบให้อยู่ชั้นสอง เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ของดร.ธัญญวัฒน์ค่อนข้างมีอายุ ยกเว้นห้องนอนใหญ่ซึ่งมีระดับต่ำกว่าห้องอื่นเพียง 2-3 ขั้นบันได
สิ่งที่น่าประทับใจอีกอย่างของบ้านหลังนี้ก็คือสวนซึ่งดูสวยสมบูรณ์ เหมือนผ่านเวลามาพอสมควร โดยเฉพาะไทรต้นใหญ่ที่ยืนต้นอย่างโดดเด่น
“สวนนี้จัดตั้งแต่บ้านหลังเดิมยังไม่ได้รื้อทิ้ง ผมกับภรรยา (คุณแสงอาภา เกษมสุวรรณ) หวงต้นไม้มาก ตอนสร้างบ้านต้องให้ช่างเอาซาแลนมาขึงคลุมไว้ ห้ามแตะต้องสวนเด็ดขาด แต่ก็มีต้นไม้ส่วนหนึ่งตายไปบ้าง”
ดร.ธัญญวัฒน์ชี้ให้เราชมไทรต้นใหญ่ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบ้าน และเป็นที่มาของชื่อบ้านหลังนี้ที่ตั้งว่า “บ้านร่มไทร” นอก
จากความสง่างามของทรงต้นแล้ว ต้นไทรนี้ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านหลังนี้เย็นสบายตลอดทั้งวันด้วย
Otto
สังวาล พระเทพ, ฤทธิรงค์ จันทองสุข